Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า) จำปาบ้าน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีปลูก การดูแลและขยายพันธุ์?

ต้นจำปาป่า (จำปาทอง)

จำปา Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre มีจำนวนประชากรที่พบในธรรมชาติ ที่สามารถแยกย่อยได้อีก 2 พันธุ์ (variety) คือพันธุ์จำปาบ้าน และ จำปาป่า ดังต่อไปนี้

  1. จำปาบ้าน Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่ ทิเบต, จีนตอนกลาง-ใต้, อินเดีย, บังคลาเทศ, พม่า และเวียดนาม (ไม่พบในประเทศไทย) นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2–5 ม. ใบรูปไข่ ปลายใบค่อนข้างเรียวแหลมยาว กว่าใบจำปาป่า
  2. จำปาป่า Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. pubinervia (Blume) Figlar & Noot. เป็นพันธุ์จำปาป่าพื้นเมืองของไทย ที่พบในป่าธรรมชาติของประเทศไทย พบทางภาคใต้ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ต้นสูงได้ถึง 50 ม. ใบรูปรี ปลายแหลมสั้น

ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ จำปาทอง (จำปาป่า) พันธุ์พื้นเมืองของไทยเท่านั้น

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า)

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "จำปาป่า" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น จำปา, จำปาทอง, จำปาเขา, จำปากอ ในภาษาบาลีเรียกว่า "ต้นจัมปกะ" เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติม

ถิ่นกำเนิด การกระจายพันธุ์ และถิ่นที่อยู่อาศัย

จำปาทอง (จำปาป่า) มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยพบจำปาทอง (จำปาป่า) ในภาคใต้และภาคตะวันตกขึ้นมาถึงจังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นที่อยู่อาศัย พบตามป่าดงดิบชื้น ใกล้ลำธาร ที่ราบและที่ลาดเชิงเขา หรือตามที่ราบในหุบเขา ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 ม.

ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ

  • จำปาทอง (จำปาป่า) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Magnolia champaca var. pubinervia (Blume) Figlar & Noot.
  • อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae
  • มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Champak, Orange Champaka, Champac, Champakam, Sonchampa
  • ชื่อพ้อง (Synonyms) :
    • Michelia pilifera Bakh.f.
    • Michelia pubinervia Blume
    • Michelia velutina Blume
    • Sampacca velutina Kuntze

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า) มีลักษณะเป็น ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 30-50 ม. ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง สูงใหญ่ เปลือกเรียบสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาว เปลือกหนา เปลือกในสีขาว มีรูระบายอากาศทั่วไป มักมีรอยตาของกิ่งที่หลุดร่วงไปแล้ว ตามกิ่งอ่อน ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และช่อผลมีขนหนานุ่ม กิ่งอ่อนมีรอยวงแหวน หูใบแนบติดก้านใบมากกว่ากึ่งหนึ่ง กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศเล็ก ๆ เนื้อไม้สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือรูปกรวยคว่ำ

ใบ: ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 10–30 ซม. ปลายแหลมสั้น ๆ - ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม-กลม เส้นเขนงใบมีข้างละ 14–23 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขน มีเส้นขอบใน ก้านใบยาว 1.5–4 ซม. มีรอยแผลของหูใบบนก้านยาว 0.3–0.7 เท่าของความยาวจากโคนก้านใบ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ยอดอ่อนและใบอ่อนมีขนสีทองปกคลุมหนาแน่น

ดอก: ดอกจำปาทอง (จำป่าป่า) ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง มีดอกเดี่ยว ก้านดอกสั้น ดอกมีกลิ่นหอมแรง สีเหลืองอ่อน-สีเหลืองอมส้ม มี 10-15 กลีบ เรียงหลายวง ยาวเท่า ๆ กัน กลีบรูปใบหอกกลับ ยาว 2–4 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงเวียนอัดแน่น แกนอับเรณูมีรยางค์สั้น ๆ ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม

ผล: ผลติดเป็นกลุ่มหรือช่อยาว 7–15 ซม. ผลย่อยแยกกัน ผลย่อย10-40 ผล ผลย่อยแต่ละผลค่อนข้างกลม หรือกลมรีเบี้ยว เปลือกผลหนาและแข็งมีสีเขียว ผลยาว 1–2 ซม. ผิวขรุขระ มีช่องอากาศสีขาวกระจายทั่วไม่มีก้านผลย่อย เมื่อแก่จะแตกอ้า 2 ซีก มี 1 เมล็ด/ผลย่อย ผิวย่น

เมล็ด: เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม-สีแดงอมชมพู ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง เมล็ดสีดำเปลือกหุ้ม เมล็ดแข็ง ออกผลในเดือนมกราคม-มีนาคม

ประโยชน์ จำปาทอง (จำปาป่า)

การใช้ประโยชน์ ไม้จำปาทอง (ไม้จำปาป่า) จัดอยู่ในไม้อเนกประสงค์ คือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศ เนื่องจากไม้จำปาทอง (จำปาป่า)เป็นไม้ที่โตเร็ว สูงใหญ่ ลำต้นตรง เนื้อไม้คุณภาพดี เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียดสม่ำเสมอ เสี้ยนตรง น้ำหนักเบามีความแข็งแรงปานกลาง ใสกบ ตกแต่งง่ายจึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายใน บุผนังทำบานประตู หน้าต่าง

ประโยชน์ จำปาทอง (จำปาป่า)

ในภาคใต้เกษตรกรยังนิยมนำไม้จำปาทอง (จำปาป่า)มาแปรรูปเป็นไม้ ก่อสร้างบ้านเรือน ใช้งานในร่ม เช่นใช้ทำโครงหลังคาบ้าน กระดานกั้น กระดานปูพื้น เป็นต้นสามารถปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ และดอกจำปาทอง (จำปาป่า)นั้น สามารถนำมาร้อยมาลัยและใช้ผสมในตำรายาไทยแผนโบราณได้อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม

สมุนไพร ส่วนที่ใช้ทำยา จำปาเป็นดอกแห้ง อาจพบทั้งดอกสมบูรณ์และชิ้นส่วนของดอก กลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ สีเขียว แกมสีน้ำตาลถึงสีดำ หงิกงอ กลิ่นหอมเฉพาะ

สรรพคุณจำปาทอง (จำปาป่า) ของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา ตำราสรรพคุณยาไทยว่า ดอกจำปา มีรสหอมเย็น ใช้ปรุงยาหอม สรรพคุณบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้แก้ไข้ขับปัสสาวะ ทำให้เลือดเย็น กระจายโลหิตอันร้อน ตำราการแพทย์แผนไทย จัดเป็นตัวยา ชนิดหนึ่งในพิกัด เกสรทั้ง 7 และเกสรทั้ง 9

รายงานการวิจัยในปัจจุบัน ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ของดอกจำปามีฤทธิ์ต้านอักเสบ (antiinflammatory) และฤทธิ์ลดไข้ (antipyretic) ในหนูทดลอง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน (antidiabetic) ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยแอลลอซาน (alloxan)

สารสำคัญ จำปามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณร้อยละ 0.2 ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก เป็นสารกลุ่มเอสเทอร์ (esters) ที่สำคัญ ได้แก่ เมทิลเบนโซเอต (methyl benzoate) และเบนซิลแอซิเทต (benzyl acetate)

และยังประกอบด้วยสารกลุ่มเทอร์พีน (terpenes) อีกหลายชนิด เช่น คาริโอฟิลลีน (caryophyllene) บีตา-เทอร์พินีน (β-terpinene) แอลฟา-เทอร์พิโนลีน (terpinolene) และยูคาลิปทอล (eucalyptol) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มเฟลโวนอยด์ (flavonoids) เช่น เคอซีทิน (quercetin) สารกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์ (phenylpropanoids) เช่น ไอโซยูจีนอล (isoeugenol) เมทิลยูจีนอล (methyl eugenol) รวมทั้งสารกลุ่มแอลดีไฮด์ (aldehydes) แอลคาลอยด์ (alkaloids) คีโทน (ketones) และแทนนิน (tannins) เป็นต้น

สรรพคุณ จำปาทอง (จำปาป่า)

  • ตำรับ ยานวดอาการทับเส้น แก้อาการทับเส้น อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ตำรับ ยาบำรุงเลือด/หัวใจ/ร่างกาย บำรุงเลือด ดูมีเลือดฝาด บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกายทั้งชาย-หญิง แก้อาการซูบผอม
  • ตำรับ ยาปรับธาตุ/ปวดเมื่อย/ปวดข้อ-เอ็น ช่วยปรับธาตุ แก้ปวดเมื่อย ปวดเข่า-ข้อ-เอ็น แก้เอ็นพิการ 
  • ตำรับ ยาโรคริดสีดวงทวาร ชนิดเลือดออก รักษาโรคริดสีดวงทวาร ชนิดมีเลือดออก
  • ตำรับ ยาหอมอินทจักร์ แก้คลื่นเหียนอาเจียน หน้ามืดจะเป็นลม ลมจุกเสียดแน่นหน้าอก แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปรับระบบการหมุนเวียนเลือดให้ดี ช่วยบำรุงหัวใจ

การปลูกจำปาทอง และการขยายพันธุ์

พื้นที่เหมาะสมในการปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า) ในประเทศไทย โดยธรรมชาติแล้วต้นจำปาทอง (จำปาป่า)สามารถขึ้นได้ดีในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งของทุกภาค แต่จะพบมากในท้องที่ภาคใต้บริเวณที่ราบและที่ราบสูงไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตั้งแต่ 1,600-2,000 มิลลิเมตรต่อปี และมีช่วงแล้งไม่ยาวนานเกินไป สภาพพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังไม่เหมาะสมในการปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า)

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า) เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีลักษณะเป็นดินร่วน ที่มีหน้าดินลึกและดินร่วนปนทราย ซึ่งจะมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี

จากการสำรวจแปลงปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า)ของเกษตรกรและในสภาพธรรมชาติที่ขึ้นปะปนกับพืชสวนอื่น ๆ เช่น มังคุด เงาะ ลองกอง พบว่าต้นจำปาทอง (จำปาป่า)ที่ปลูกในที่ ราบดินดี จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าที่ปลูกในพื้นที่ลาดชัน

สำหรับในพื้นที่อื่นที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายภาคใต้ก็สามารถปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า)ได้ เช่น พื้นที่ที่ปลูกไม้ยางพาราในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมคล้ายภาคใต้

การคัดเลือกพันธุ์จำปาทอง (จำปาป่า) พันธุ์ต่าง ๆ ที่นิยมปลูกในประเทศไทย) พันธุ์พื้นเมืองของไทย

การขยายพันธุ์จำปาทอง (จำปาป่า) ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง จำปามีผลเป็นพวง พอผลสุกจะมีสีดำ นำผลมาแช่น้ำ 2 – 3 วัน แล้วล้างเนื้อเยื่อของผลออกเหลือแต่เมล็ดนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วนำไปเพาะในถุงเพาะชำที่มีดินผสมอยู่ ถุงละ 1 – 2 เมล็ด ประมาณ 30 – 45 วัน จะงอกเป็นต้นกล้าอายุประมาณ 10 – 12 เดือน จึงเอาลงปลูกได้

การปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า)

วิธีการปลูกต้นจำปาทอง (จำปาป่า) เมื่อต้นกล้าอายุ 10 – 12 เดือน ก็เอาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้กลบดินให้พูนโคนต้น ไม่ให้น้ำขัง ปักไม้ผูกเชือกโดยการคลุมด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า)

ก่อนปลูกจะขุดหลุม ขนาดประมาณ 30x30x30 เซนติเมตร หรือขนาดเหมาะสมกับกล้าไม้ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุก เคล้ากับดินหรืออาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 1 ช้อนโต๊ะ และยาป้องกันแมลง เช่น ฟูราดาน 5-10 กรัม คลุกเคล้ากับดิน และสำหรับกลบหลุมด้วย ก็จะทำให้กล้าไม้ มีอัตราการรอดตายสูง และเจริญเติบโตดี สำหรับระยะปลูกไม่แน่นอน แล้วแต่วัตถุประสงค์ของเกษตรกร เช่นปลูกในเชิงพาณิชย์ เป็นการปลูกไม้ชนิดเดียว ใช้ระยะปลูก 2x4 และ 4x4 เมตร

รายละเอียดเพิ่มเติม

การดูแล ต้นจำปาทอง (จำปาป่า)

  • การใส่ปุ๋ย การปลูกสร้างสวนต้นจำปาทอง (จำปาป่า) เพื่อการค้าเพื่อให้ได้ผลลิตสูงสุด จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพื่อให้เจริญเติบโตดีซึ่งปัจจุบันนิยมใส่ปุ๋ย 15-15-15 โดยใส่ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนประมาณ 100-400 กรัม/ต้น
  • การปลูกซ่อม ควรเริ่มทำตั้งแต่ปลูกครั้งแรกไปได้ 1-2เดือน ในปีที่ 2.3 ควรปลูกซ่อมตั้งแต่ต้นฤดูฝน และปลูกซ่อมอีกครั้งก่อนสิ้นฤดูฝน หลังจากปีที่ 3 ไปแล้วไม่ควรปลูกซ่อมเพราะจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกซ่อมเจริญ เติบโตไม่ทัน ต้นอื่น ๆ
  • การกำจัดวัชพืช ควรกระทำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือช่วงก่อนฤดูฝนและหลังฤดูฝนก่อนถึงฤดูแล้ง โดยเฉพาะหญ้าคาควรไถพรวนหรือถางวัชพืช โดยรอบ บริเวณที่ปลูกอาจกระทำโดยใช้เครื่องจักร แรงงานคน หรือใช้สารเคมี
  • การลิดกิ่ง โดยธรรมชาติแล้วต้นจำปาทอง (จำปาป่า) จะเป็นไม้ที่ลิดกิ่งเองโดย ธรรมชาติ แต่เพื่อเป็นการช่วยให้การลิดถึงสม่ำเสมอควรจะช่วยตัดแต่งกิ่งในช่วง 2-3 ปีแรก โดยเริ่มกระทำในปีที่ 2 เพื่อเพิ่มความตรงและปริมาตรของ เนื้อไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยตัดแต่งกิ่งก่อนฤดูฝนจะมาถึงเพราะในฤดูฝนเป็นฤดูที่ต้นไม้กำลังเจริญเติบโต และตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป ควรตัดแต่งกิ่งจนกระทั้งกิ่งสุดท้ายอยู่เหนือระดับ ไม่น้อยกว่า 5 เมตรจึงปล่อยให้ลิดทิ้งเองตามธรรมชาติ
  • การป้องกันศัตรูแมลงและโรค สำหรับโรคพืชที่เกิดขึ้นกับต้นจำปาทอง (จำปาป่า) จากการสำรวจพบไม้ที่มีอายุ 1-2 ปี จะเกิดโรคเน่าคอดินไม่มากนัก โดยจะพบใน สวนของเกษตรกรที่ขาดการบำรุงรักษาและการจัดการที่ดี นอกจากนี้ยังพบหนอนผีเสื้อเจาะลำต้นจำปาทอง (จำปาป่า) แต่ไม่รุนแรงมากนัก สำหรับต้นกล้าที่อายุยัง น้อยพบว่ามีโรคเน่าคอดิน ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยตากดินแปลงเพาะด้วยแสงแดดอย่างน้อย 10-15 วัน เพื่อทำลายเชื้อโรคในดิน หรือฉีดยาป้องกันและ กำจัดเชื้อรา เป็นครั้งคราว1-2 อาทิตย์/ครั้ง และโรคใบไหม้ ซึ่งจะพบแผลแห้งขนาดใหญ่บริเวณใบหรือขอบใบ ป้องกันและกำจัด โดยใช้ยา benlato,vitavax, saprol หรือ busan ละลายน้ำสะอาดอัตรา 2-4ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อโรค เริ่มเกิดใหม่หรือใช้วิธีป้องกันทุก 1-2 สัปดาห์จนกว่าโรคจะหาย
  • การป้องกันไฟ สำหรับการปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ควรหมั่นกำจัดวัชพืชในช่วงฤดูแล้งและอาจตัดถนนให้เหมาะสมสำหรับการนำยานพาหนะเข้าไป ปฏิบัติงานจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับดับไฟให้พร้อม เช่น พลัว คราดจอบ และ ถังน้ำ สำหรับต้นจำปาทอง (จำปาป่า) ที่ถูกไฟไหม้ให้รีบตัดออกนำไปใช้ประโยชน์เพราะอาจเป็นแหล่งในการเกิดโรคและแมลงต่าง ๆ ได้

รายละเอียดเพิ่มเติม