✓ต้นไม้: 'พีพวนน้อย' (หมากผีผ่วน) ผลไม้ป่าไทย วงศ์กระดังงา?
ข้อมูล ต้นพีพวนน้อย (ผีผ่วน, นมควาย) ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria rufa วงศ์ Annonaceae การใช้ประโยชน์, สรรพคุณ, เป็นผลไม้ป่า,พืชที่กินได้,พืชสมุนไพร ถิ่นอาศัย, การกระจายพันธุ์ ไม้ป่าไทย, ลักษณะดอก,ใบ ไม้เลื้อย
พีพวนน้อย (หมากผีผ่วน)
- ชื่อวิทยาศาสตร์: Uvaria rufa (Dunal) Blume
- วงศ์ (Family): Annonaceae
- สกุล (Genus): Uvaria
- ชื่อท้องถิ่นอื่น : นมแมว (ภาคกลาง), นมแมวป่า (เชียงใหม่), นมวัว (กระบี่, พิษณุโลก), นมแมว นมงัว ลำงัว (นครราชสีมา), ติงตัง ตีนตั่ง ตีนตั่งเครือ (นครราชสีมา, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี), พีพวนน้อย (ชุมพร), พีพ่วน ผีพ่วน หมากผีผ่วน (อีสาน), สีม่วย (ชัยภูมิ), ตรีล (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์), แจมเกรียล (ส่วย อ.ท่าตูม สุรินทร์)
Synonyms
- Guatteria rufa Dunal
- Unona setigera Blanco
- Uva rufa Kuntze
- Uvaria astrosticta Miq.
- Uvaria bancana Scheff.
- Uvaria branderhorstii Burck
- Uvaria fauveliana (Finet & Gagnep.) Pierre ex Ast
- Uvaria ridleyi King
- Uvaria setigera (Blanco) Blanco
- Uvaria solanifolia C.Presl
ข้อมูลทั่วไป ถิ่นอาศัย, แหล่งที่พบ
ต้นหมากผีผ่วน ถิ่นอาศัย ขึ้นตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 1,500 ม.
การกระจายพันธุ์ หมากผีผ่วน พบได้ง่ายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ และทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะอยู่อาศัย : ไม้เลื้อย เนื้อเหนียว ยาว 3-10 ม.
- ลักษณะลำต้น : เถาแก่มีร่องตื้นตามยาวแกมร่างแห ตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนกระจุกรูปดาวสีสนิม-ขาว
- ใบ : ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ยาว 6-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ
- แผ่นใบ : ผิวใบด้านบนมีขนหรือเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นสีสนิมหนาแน่นตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น ปลายเส้นไม่โคงจรดกัน ก้านใบบวม ยาว 5 มม.
- ดอก : ดอกแบบช่อกระจุก มี 1-4 ดอก ออกตรงข้ามใบ ก้านดอกยาว 0.6-1 ซม.
- กลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อน
- กลีบดอก : กลีบดอก 6 กลีบ มีขนาดใกล้เคียงกัน สีแดงเข้มหรือสีแดงอมม่วง รูปขอบขนาน ยาว 8-12 ซม. ปลายมน มีขนสั้น ปลายกลีบม้วนกลับน้อยมาก ดอกบานกว้าง 1.5 ซม. ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน
- ผล : ผลทรงรีหรือขอบขนาน กว้าง 2 ซม. ยาว 2-3 ซม. มีขนสั้น ผิวเรียบไม่มีรอยคอด ก้านผลยาว 1-3 ซม. ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 5-20 ผล ก้านช่อผลยาว 1 ซม. ผลสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง-ส้ม-แดง ตามลำดับ มีเมล็ดสีดำจำนวนมากเรียงเป็น 2 แถว ผลแก่ช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน
การใช้ประโยชน์
- ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร หมากผีผ่วน : ผลสุกสีส้ม-แดงเข้ม เนื้อในสีขาวมีรสหวาน-อมเปรี้ยว กลิ่นหอมคล้ายลิ้นจี่สุก ชาวบ้านและเด็กๆ นิยมกินเล่น โดยกินเฉพาะเนื้อสีขาวและคายเมล็ดสีดำทิ้ง หรือปลอกเปลือกออกแล้วนำมาคลุกกับน้ำปลา น้ำตาลและพริกป่น กินเล่น ส่วนผลอ่อน-ห่าม รสเปรี้ยวอมฝาดใช้ตำส้ม
- ใช้เป็นสมุนไพร หมากผีผ่วน : แก่นต้มน้ำบำรุงน้ำนมแม่ลูกอ่อน, ผลสุกกินมากเป็นยาระบาย, เถา 1 กำมือ แช่หรือต้มน้ำดื่มรักษาอาการปวดเมื่อย, เถาต้มน้ำดื่มรักษาโรคภูมิแพ้, เถา แก่นและเปลือกเข้ายา (ผีพ่วน+ดูกใส+ตาไก้/ตากวาง+เจตพังคี+เปล้าใหญ่) ผสมกันต้มน้ำดื่มรักษาโรคกระเพาะ
- ใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน : เถาเนื้อเหนียว ใช้ทำขอบสวิง ขอบกระด้ง ขอบอู่ (เปล) ขอบกระโซ่วิดน้ำ กงลอบ กงไซ เถาใช้สานฝักมีด
อ้างอิง : ข้อมูลและภาพ : หนังสือเผยแพร่: ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน