ความแตกต่าง ราชพฤกษ์, กาฬพฤกษ์, กัลปพฤกษ์, ชัยพฤกษ์ มีกี่ชนิด ในประเทศไทย?

ถ้าพูดถึงต้นไม้ที่มีดอกสวยงาม และมีนามลงท้ายว่า “พฤกษ์” หลายคนคงนึกถึงชื่อ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ และ กาฬพฤกษ์ ขึ้นมาในหัว แต่คงต้องสงสัยต่อว่า พรรณไม้ "พฤกษ์" แต่ละชนิดแตกต่างกันยังไงกันแน่?

จตุรพฤกษ์ ต้นไม้ที่ชื่อท้ายว่า 'พฤกษ์' มี 4 ชนิด

ต้นไม้มงคล "จตุรพฤกษ์" หรือ พรรณไม้ที่ลงท้ายว่า "พฤกษ์" พรรณไม้ "พฤกษ์" ทั้ง 4 พฤกษ์ คือราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ และ กาฬพฤกษ์ เป็นไม้ต้นในสกุล Cassia เป็นพรรณไม้ดอก ในวงศ์ถั่ว  (Fabaceae หรือ Leguminosae) ซึ่งในประเทศไทยพบทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่

จตุรพฤกษ์ ต้นไม้ที่ชื่อท้ายว่า พฤกษ์ มี 4 ชนิด

  1. ราชพฤกษ์ (Cassia fistula L.)
  2. กาฬพฤกษ์ (Cassia grandis L. f.)
  3. กัลปพฤกษ์ (Cassia bakeriana Craib)
  4. ชัยพฤกษ์ (Cassia javanica L.)

ซึ่งทั้ง 4 ชนิดนี้มีลักษณะที่แตกต่างกันพอจำแนกได้ง่ายๆ ในเบื้องต้นดังนี้

1. ราชพฤกษ์ (Cassia fistula L.)

ราชพฤกษ์ Cassia fistula ดอกคูน ดอกไม้ประจำชาติไทย

ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula L. วงศ์ : Fabaceae

พรรณไม้ "พฤกษ์" ที่มีดอกสีเหลือง มีเพียงชนิดเดียว คือ ราชพฤกษ์ (Cassia fistula L.) หรือที่รู้จักในชื่อของ "คูน" ฝัก (ผล) มีลักษณะรูปทรงกระบอก เรียวยาว ผิวเกลี้ยง ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่มีสีดำ ลำต้นเปลือกนอกแข็ง และมักแตก ส่วนใบจะเป็นใบประกอบขนนกปลายคู่ และมักมีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น

รายละเอียดเพิ่มเติม

คุณลักษณะราชพฤกษ์ เป็นไม้ต้น ใบประกอบมีใบย่อย 3–8 คู่ ปลายใบแหลม ดอกแบบช่อแยกแขนง ห้อยลง ยาว 20–60 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ พับงอกลับ ดอกสีเหลือง กลีบดอก 5 กลีบ สมมาตรด้านข้าง กลีบยาว 2.5–3.5 ซม. มีก้านสั้น ๆ เกสรเพศผู้อันยาว 3 อัน อับเรณูมีรูเปิดที่โคนอันสั้น 4 อัน ลดรูป 3 อัน รังไข่มีขน ฝักรูปทรงกระบอก ห้อยลง ยาว 20–60 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม.

การกระจายพันธุ์ ราชพฤกษ์ อาจมีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย ศรีลังกา และชวา ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน

เกร็ดความรู้: ราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 และภาพดอกยังเป็นภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย (Nation Identity) ตามมติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 เปลือกใช้ย้อมสีให้สีแดง เนื้อในฝักและเมล็ดเป็นยาระบาย

2. กาฬพฤกษ์ (Cassia grandis L. f.)

กาฬพฤกษ์ Cassia grandis

กาฬพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia grandis L. f. วงศ์ : Fabaceae

ชนิดต่อมาคือ กาฬพฤกษ์ (Cassia grandis L. f.) ดอกออกสีชมพู ส้ม ไปจนถึงแดง  แต่ลักษณะที่เด่นและแตกต่างจากชนิดอื่นคือ ฝักมีขนาดใหญ่ และสั้น กว่าชนิดอื่น มีสีดำเด่นชัด แตกต่างอย่างชัดเจน และมีใบเป็นใบประกอบที่มีขนาดใบค่อนข้างเล็ก และมีจำนวนใบย่อยมากกว่าชนิดอื่น

รายละเอียดเพิ่มเติม

คุณลักษณะกาฬพฤกษ์ เป็นไม้ต้น กิ่งอ่อนและแผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น ใบประกอบมีใบย่อย 10–20 คู่ รูปรี ยาว 3–5 ซม. ปลายมนกลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 10–20 ซม.

กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกสีแดงเปลี่ยนเป็นสีชมพู รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน อันยาว 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 ซม. อันสั้น 5 อัน ลดรูป 2 อัน รังไข่มีขนหนานุ่ม ฝักรูปทรงกระบอก สีดำ ยาว 20–40 ซม. มี 20–40 เมล็ด

การกระจายพันธุ์ กาฬพฤกษ์ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน

เกร็ดความรู้: ฝักกาฬพฤกษ์ มีสรรพคุณเป็นยาระบายคล้ายฝักคูน แต่มีฤทธิ์แรงกว่า

3. กัลปพฤกษ์ Cassia bakeriana Craib

กัลปพฤกษ์ Cassia bakeriana

กัลปพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana Craib วงศ์ : Fabaceae

เกร็ดความรู้: ดอกกัลปพฤกษ์ ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Cassia ของไทย การกระจายพันธุ์ กัลปพฤกษ์ พบที่พม่า ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้

รายละเอียดเพิ่มเติม

คุณลักษณะกัลปพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้น มีขนสั้นนุ่มตามส่วนต่าง ๆ ใบประกอบมีใบย่อย 5–8 คู่ ปลายกลมมีติ่งแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 5–12 ซม. ใบประดับสีแดงอมน้ำตาล

กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกสีขาวอมชมพู กลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 3.5–4.5 ซม. เกสรเพศผู้อันยาว 3 อัน ก้านชูอับเรณูป่องกลาง อันสั้น 4 อัน แต่อับเรณูยาวกว่าเกสรเพศผู้อันยาวประมาณ 2 เท่า 3 อันลดรูป ฝักรูปทรงกระบอก ยาว 30–40 ซม. มี 30–40 เมล็ด

4. ชัยพฤกษ์ Cassia javanica L. subsp. renigera (Wall. ex Benth.) K. Larsen

ชัยพฤกษ์ ต้นไม้แห่งชัยชนะ

ชัยพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia javanica L. subsp. renigera (Wall. ex Benth.) K. Larsen วงศ์ Fabaceae

เกร็ดความรู้: ชัยพฤกษ์ ต่างจากชนิดย่อยอื่น ๆ ที่ปลายใบมีติ่งแหลม ใบประดับคล้ายใบติดที่โคนก้านใบ รังไข่เกลี้ยง

รายละเอียดเพิ่มเติม

คุณลักษณะ: ไม้ต้น ใบประกอบมีใบย่อย 10–30 ใบ รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 2.5–5 ซม. ปลายใบมนกลม ด้านล่างมีขน หูใบรูปเคียว ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงหลั่น ดอกสมมาตรด้านข้าง

กลีบเลี้ยงสีแดงอมน้ำตาล มี 5 กลีบ กลีบดอกสีชมพูเปลี่ยนเป็นสีเข้ม มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน อันยาว 3 อัน โค้งงอ ก้านชูอับเรณูป่องกลาง อันสั้น 4 อัน 3 อัน ลดรูป รังไข่เกลี้ยง ฝักรูปคล้ายทรงกระบอก สีดำ เมล็ดแบน กลม

การกระจายพันธุ์: ชัยพฤกษ์ มีถิ่นกำเนิดในพม่า ปลูกเป็นไม้ประดับในไทย

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินโครงการ “จตุรพฤกษ์อุทยาน” เป็นการปลูกต้นไม้ในสกุล Cassia ได้แก่ ราชพฤกษ์,ชัยพฤกษ์,กัลปพฤกษ์ และกาฬพฤกษ์ บริเวณแหล่งท่องเที่ยวผาหัวนาค อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ

โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานมูลนิธิพระรัตนตรัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดโครงการฯ ซึ่งในอนาคต พื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่รวมไม้ต้นที่มีดอกสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญต่อไป

จุดสังเกตความแตกต่าง กัลปพฤกษ์ กับ ชัยพฤกษ์

พรรณไม้ "พฤกษ์" ที่มีดอกโทนสีชมพู มีความคล้ายคลึงกันอยู่สองชนิด คือ กัลปพฤกษ์ (Cassia bakeriana Craib) และ ชัยพฤกษ์ (Cassia javanica L.) ซึ่งการจำแนกสองชนิดนี้ออกจากกันทำได้ค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป 

แต่ก็มีจุดสังเกตความแตกต่าง กัลปพฤกษ์ กับ ชัยพฤกษ์ที่พอใช้ประกอบการพิจารณาจำแนกสองชนิดออกจากกันเบื้องต้น (เป็นลักษณะที่พบค่อนข้างบ่อย แต่อาจไม่เสมอไป) 

  • ดูที่ฝัก ถ้าฝักมีขนนุ่มปกคลุม มักจะเป็น กัลปพฤกษ์  แต่ถ้าฝักผิวเกลี้ยง ไม่มีขนปกคลุมมักจะเป็น ชัยพฤกษ์
  • ดูที่สีของดอก คือ ดอกกัลปพฤกษ์ มักมีสีชมพูอ่อนไปจนถึงขาว ส่วน ดอกชัยพฤกษ์จะมีสีชมพูเข้มกว่า
  • ดูที่ใบ ต้นกัลปพฤกษ์ มักทิ้งใบขณะที่ออกดอก ส่วนชัยพฤกษ์ จะไม่ค่อยพบการทิ้งใบขณะออกดอก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นกันภัยมหิดล ประวัติความเป็นมา ลักษณะ, วิธีปลูก การใช้ประโยชน์ การขยายพันธุ์?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

อโกลนีมา พันธุ์ต่างๆ แก้วกาญจนา ความหมาย ชื่อสายพันธุ์อะไรบ้าง พันธุ์ใหม่ ราคา?

ต้นโมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด) วิธีปลูกต้นโมกเขา ขยายพันธุ์ ราคา?

ผักคะนองม้า(เต่าเกียด) ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน กินได้ เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ?

ราสนิม ลีลาวดี อันตรายไหม? สาเหตุ แพร่ระบาด วิธีแก้ รักษา ป้องกัน กำจัดราสนิม?

ต้น'โมกหลวง (โมกใหญ่) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร ไม้ดอกหอมไทย?

ต้นโมกมีกี่ชนิด โมกพวง, โมกซ้อน, โมกบ้าน (โมกลา) แตกต่างกันยังไงบ้าง ราคาถูก?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?