ต้นแสดสยาม ไม้ดอกหอมไทย สกุลปาหนัน ลักษณะ วิธีปลูก ให้ออกดอกตลอดทั้งปี?
พรรณไม้ที่มีดอกสีส้มอมชมพูแสนน่ารักสมชื่อ "แสดสยาม" นี้เป็นพรรณไม้งามขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งในวงศ์กระดังงา ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้พรรณไม้ชนิดอื่นในเรื่องของดอกสวยงาม แม้ในธรรมชาติแสดสยามจะหาได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่พบขึ้นอยู่เฉพาะบนภูเขาสูงในจังหวัดจันทบุรีและตราด
แสดสยาม
แสดสยาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Goniothalamus repevensis Pierre ex Finet & Gagnep. วงศ์กระดังงา Annonaceae
หากแต่ปัจจุบัน แสดสยามได้รับการขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอดจนมีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้น อันเป็นการช่วยอนุรักษ์ให้แสดสยามคงอยู่คู่กับสยามประเทศสืบต่อไปได้ในอนาคต
ชื่อของแสดสยามเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักเล่นไม้ประดับและไม้ดอกหอมเมื่อปี 2544 เนื่องจากเพิ่งมีการค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้บนเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และตีพิมพ์ลงในหนังสือพรรณไม้วงศ์กระดังงาในปีดังกล่าว ด้วยความที่เป็นไม้ดอกหอมในสกุลปาหนันที่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเป็นมันสีเขียวเข้ม และออกดอกตลอดปี
ภาพ* :
Flmingo Tree
จึงทำให้มีผู้ต้องการปลูกแสดสยามเป็นไม้ประดับค่อนข้างมาก ซึ่งก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะแสดสยามบางต้นเมื่อออกดอกแล้วกลับมีสีขาว บางคนจึงแอบเรียกว่า ขาวสยาม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากแสดสยามชอบขึ้นอยู่บนพื้นที่ระดับสูงที่มีอากาศหนาวเย็น และมีความชื้นสูง
การนำมาปลูกในพื้นราบที่มีอากาศร้อนและมีความชื้นต่ำอย่างในกรุงเทพฯ จึงทำให้แสดสยามออกดอกมาเป็นดอกสีขาว แต่ทั้งนี้ผู้ปลูกเลี้ยงก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุโพแทสเซียมเป็นช่วงๆ และปลูกอยู่ใน
ร่มเงาที่มีความชื้นสูง แสดสยามก็จะออกดอกสีส้มอมชมพูสมใจ โดยช่วงเวลาที่จะได้ชื่นชมดอกแสดสยามจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ส่วนผลของแสดสยามจะแก่หลังจากออกดอกบาน 4-5 เดือน
เมื่อเสียบยอดต้นตอขนาดเล็ก สามารถปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางได้ ซึ่งจะใช้ประดับได้เป็นเวลานาน เนื่องจากแสดสยามเจริญเติบโตช้ามาก แต่หากเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว หรือมีการเสียบยอดต้นตอขนาดใหญ่สามารถนำลงปลูกในแปลงที่มีร่มเงาและความชื้นสูง
การขุดหลุมให้กว้างและใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม ปักหลัก ผูกมัดให้ต้นตั้งตรง รดน้ำให้เพียงพอและคลุมโคนต้นด้วยหญ้าหรือฟางแห้ง จะช่วยให้เจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น มีทรงพุ่มสวยงามและออกดอกได้ดี
ลักษณะพรรณไม้ของแสดสยาม
ต้นแสดสยาม มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงเพียง 1-2 ม. แตกกิ่งน้อย กิ่งอ่อนเรียบ สีเขียวปนน้ำตาล เปลือกลำต้นสีดำ มีช่องอากาศเป็นแนวสีขาวบิดเวียนตามยาว เนื้อไม้เหนียวมาก ทรงพุ่มโปร่งรูปสามเหลี่ยม ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 12-16 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม ใบค่อนข้างหนาและเหนียว เรียบเป็นมันทั้งสองด้าน
ดอกแสดสยาม ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีแสดและมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นนอกรูปไข่ กว้าง 1.5-1.7 ซม. ยาว 2.3-2.6 ซม. กลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยม ยาว 5-8 มม.
ผลแสดสยาม เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 5-10 ผล แต่ละผลรูปรี กว้าง 8 มม. ยาว 2.2-2.6 ซม. ผิวผลเรียบเป็นมัน มี 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อน รูปรี ยาว 1-1.2 ซม.
การขยายพันธุ์แสดสยาม สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ปลูกในที่ร่มรำไร
อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552