ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?
กระถินณรงค์
ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "กระถินณรงค์" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557)
ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ
- กระถินณรงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Acacia auriculiformis A.Cunn. ex Benth.
- อยู่ในวงศ์ Fabaceae
- มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Wattle, Earleaf Acacia, Ear-leaf Acacia
- มีชื่อพ้อง (Synonyms) คือ Racosperma auriculiforme (A.Cunn. ex Benth.) Pedley
ที่มาของชื่อ กระถินณรงค์ เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดย ขุนณรงค์ ชวนกิจ (ชวนนรงค์ ชวนะ)
ต้นกระถินณรงค์ เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียด้านตะวันออก เกาะนิวกีนี ปาปัวนิวกินี Papua New Guinea และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย (Queensland, Northern Territory)
สำหรับในไทย กระถินณรงค์สามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ พบขึ้นตามคันนา ที่รกร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และพบบ้างในพื้นที่ใกล้ชายทะเลของภาคใต้ และพื้นที่ดินปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นกระถินณรงค์ มีลักษณะเป็น ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ไม่ผลัดใบ มีลักษณะคล้ายกระถินเทพามาก แต่มีการแตกกิ่งตํ่า ลำต้นคดงอ เปลือกแตกเป็นร่องตามแนวยาว
ใบกระถินณรงค์ ใบแคบกว่าใบกระถินเทพา ปกติกว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร แผ่นก้านใบรูปขอบขนาน โค้ง ปลายเรียวแหลมทั้ง 2 ด้าน ยาว 8–20 ซม. เส้นใบเรียงขนานกันตามยาว 3–4 เส้น
ดอกกระถินณรงค์ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว 4–10 ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาว 0.5–1 มม. ขอบจัก กลีบดอกโค้งลง ยาว 1.5–2 มม. เกสรเพศผู้สีเหลือง ก้านชูอับเรณูยาว 2.5–4 มม. รังไข่มีขนละเอียด ออกดอกเกือบตลอดปี แต่ออกดอกมากช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว
ผลกระถินณรงค์ ฝักแบน กว้าง 1–1.5 ซม. ยาว 6–7 ซม. บิดม้วนเป็นวง ฝักอ่อนมีนวล มี 5–12 เมล็ด เมล็ดกระถินณรงค์ รูปไข่หรือรูปรี ยาว 4–6 มม.
ประโยชน์ กระถินณรงค์
ต้นกระถินณรงค์ เป็นพืชที่นิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำกระดาษ บำรุงดิน และฟื้นฟูสภาพป่า และใช้ประโยชน์คล้ายต้นกระถินเทพา Acacia mangium Willd. (ซึ่งมีเกสรเพศผู้สีเหลืองครีม เส้นใบมี 4–5 เส้น) แต่สามารถขึ้นในพื้นที่แห้งแล้งกว่าได้ดี ชอบขึ้นในพื้นที่ดินปนทราย หรือดินเหนียวที่เป็นกรด ทนต่อนํ้าท่วมขัง มีการขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติได้ดี ซากพืชที่ร่วงหล่นมีแทนนินสูงมากเช่นกัน
ข้อดี กระถินณรงค์
- เนื่องจากกระถินณรงค์เป็นพืชตระกูลถั่ว จึงมีระบบรากที่สามารถสะสมไนโตรเจนได้
- ต้นกระถินณรงค์ ใช้ปลูกเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ดินที่มีสภาพเสื่อมโทรมภายหลังจากการทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน
- ส่วนเปลือกกระถินณรงค์ ให้น้ำฝาดแทนนิน ใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกหนังสัตว์
- เนื้อไม้กระถินณรงค์ มีคุณสมบัติเหมาะที่จะใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ดีมาก เพราะให้ความร้อนสูง ถ้านำไปเผาถ่านจะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี ถ่านที่ได้จากไม้กระถินณรงค์เมื่อนำไปใช้จะไม่แตก ไม่มีควัน และติดไฟได้ดี กระถินณรงค์จึงเป็นไม้ที่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นป่าฟืนเพื่อใช้สอยในครัวเรือน
- ไม้กระถินณรงค์ เป็นไม้ที่มีแก่น เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ความแข็งแรงปานกลาง นำมาเลื่อยตกแต่งได้ง่าย และมีการยืดหดตัวน้อยมาก เหมาะที่จะนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และพื้นปาร์เก้ ถึงแม้ว่ากระถินณรงค์โดยทั่วๆ ไปจะไม่ค่อยตรง แต่สามารถนำมาใช้ทำพื้นปาร์เก้ได้เพราะการทำไม้ปาร์เก้ใช้ไม้ขนาดสั้น
- ไม้กระถินณรงค์ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษได้ เพราะเยื่อกระดาษที่ได้จากไม้กระถินณรงค์ มีความเหนียวดีพอสมควร
วิธีปลูก กระถินณรงค์ และการขยายพันธุ์
ต้นกระถินณรงค์ ปลูกง่าย ดูแลง่าย โตเร็ว ทนแล้ง และทนน้ำท่วมขังแฉะ จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ให้ความสวยงามตามที่สาธารณะ ถนนหนทาง หรือตามชายหาดทะเล
การขยายพันธุ์ กระถินณรงค์ สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศโดยการเพาะเมล็ดและแบบไม่อาศัยเพศโดยการปักชำ การตอนและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ส่วนใหญ่นิยมขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ