ปรงในประเทศไทย ต้นปรงของไทยมีกี่ชนิด พันธุ์ต่างๆ อะไรบ้าง ลักษณะ จุดแตกต่าง?
ข้อมูลรายชื่อพรรณไม้ ต้น'ปรง' ของไทย มี 12 ชนิด ปรงเขาชะเมา ปรงผา ปรงทะเล ปรงเท้าช้าง ปรงป่า ปรงตากฟ้า ปรงเขา ปรงหิน ปรงปราณบุรี ปรงเหลี่ยม ปรงหนู ..
ต้น'ปรง' ของไทย มีกี่ชนิด
'ปรง' เป็นพืชเมล็ดเปลือย อยู่ในสกุล Cycas วงศ์ Cycadaceae Pers. อยู่ภายใต้อันดับ Cycadales ชื่อสกุล Cycas มาจากภาษากรีก "kykas" หรือ "koikas" หมายถึงพืชที่คล้ายต้นปาล์ม
ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกชนิดปรง คือ ความยาวก้านใบที่เป็นหนาม ใบสร้างอับเมกะสปอร์ หนามที่ปลายแผ่นใบของใบสร้างอับเมกะสปอร์ และเมล็ด
'ปรง' ทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 119 ชนิด มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ เคนยา ไปจนถึง โมซัมบิก และ แปซิฟิคตะวันตก
สำหรับปรงในประเทศไทย มี 12 ชนิดและยังมีปรงต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับคือ ปรงญี่ปุ่น Cycas revoluta Thunb. และอีกหลายชนิดในวงศ์ Zamiaceae เช่น สกุลปรงเม็กซิกัน Zamia เป็นต้น
'ปรง'ในประเทศไทย ปรงมี 12 ชนิด
- Cycas chamaoensis K.D.Hill ; ปรงเขาชะเมา
- Cycas clivicola K.D.Hill ; ปรงผา
- Cycas edentata de Laub. ; ปรงทะเล
- Cycas elephantipes A.Lindstr. & K.D.Hill ; ปรงเท้าช้าง
- Cycas macrocarpa Griff. ; ปรงป่า
- Cycas nongnoochiae K.D.Hill ; ปรงตากฟ้า
- Cycas pectinata Buch.-Ham. ; ปรงเขา
- Cycas petrae A.Lindstr. & K.D.Hill ; ปรงหิน
- Cycas pranburiensis S.L.Yang, W.Tang, K.D.Hill & P.Vatcharakorn ; ปรงปราณบุรี
- Cycas siamensis Miq. ; ปรงเหลี่ยม
- Cycas simplicipinna (Smitinand) K.D.Hill ; ปรงหนู
- Cycas tansachana K.D.Hill & S.L.Yang ; ปรงสระบุรี
ปรงผา Cycas clivicola K.D.Hill
ปรงผา ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Cycas clivicola K.D.Hill มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Cliff cycad พบที่คาบสมุทรมลายูตอนบน ในไทยพบหนาแน่นตามเขาหินปูนทางภาคใต้
เคยแยกเป็น subsp. lutea K.D.Hill ใบสร้างอับไมโครสปอร์ส่วนมากยาวกว่า 2.5 ซม. พบที่กัมพูชา เวียดนาม และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ขึ้นตามเขาหินปูน ลำต้นออกสีเหลืองตามชื่อชนิดย่อย
ปรงผา มีลักษณะลำต้นสูงได้ถึง 8 ม. เปลือกค่อนข้างเรียบ ใบยาว 0.7–1.65 ม. ก้านใบยาว 15–55 ซม. ใบย่อยปลายเป็นหนามแหลม โคนเพศผู้รูปไข่แคบ ยาว 25–60 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 2–3.5 ซม. หนา ปลายเป็นหนาม ยาว 0.5–1.5 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 12–22 ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แผ่นใบรูปกลม ๆ ยาว 7–14 ซม. ขอบจักซี่หวี ยาว 2.5–4 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 2–7.5 ซม. ออวุลมี 2–4 เม็ด เมล็ดยาว 3.5–4 ซม. ผนังด้านในมีชั้นใย
ปรงทะเล Cycas edentata de Laub.
ปรงทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas edentata de Laub. ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ Sea sago และชื่ออื่น เช่น ปรงทะเล (ภาคกลาง); ปากู (มาเลย์-ยะลา); มะพร้าวเต่าทะเล (ภาคใต้)
ปรงทะเล พบที่พม่าและเวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย หายากในธรรมชาติ มักพบปลูกตามบ้านเรือน
เดิมเข้าใจว่าเป็นชนิด C. rumphii Miq. ที่ใบสร้างอับไมโครสปอร์มีหนามหนาและแหลมกว่า พบเฉพาะแถบหมู่เกาะโมลัคคัส ซูลาเวซี นิวกินี โซโลมอน มาร์แชล คาร์โลว์ไลน์ และเกาะคริสมาสต์ทางตอนใต้ของเกาะชวา บางครั้งยังพบใช้ชื่อคลาดเคลื่อนเป็นชนิด C. circinalis L. ซึ่งพบเฉพาะในอินเดีย
ปรงทะเล มีลักษณะลำต้นสูงได้ถึง 10 ม. ใบยาว 1.5–2.5 ม. ก้านใบยาว 50–90 ซม. มีหนามร้อยละ 5–60 ของความยาว ใบย่อยปลายแหลม ไม่แข็งเป็นหนาม ใบช่วงโคนไม่ลดรูปเป็นหนาม
โคนเพศผู้รูปไข่แคบ ยาว 25–60 ซม. ใบสร้างอับไมโครสปอร์รูปรี ยาวได้ถึง 3.8 ซม. ปลายมีหนามยาวประมาณ 2 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 30–50 ซม. มีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบรูปใบหอก ขอบจักตื้น ๆ ปลายมีหนามยาว 2.5–4 ซม. ออวุลมี 2–8 เม็ด เมล็ดรูปไข่กว้าง ยาว 5–6.5 ซม.
ปรงเท้าช้าง Cycas elephantipes A.Lindstr. & K.D.Hill
ปรงเท้าช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas elephantipes A.Lindstr. & K.D.Hill ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Elephant foot sago และมีชื่ออื่น เช่น ปรงชัยภูมิ, ปรงเท้าช้าง (ทั่วไป)
ปรงเท้าช้าง เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกที่ชัยภูมิ ขึ้นตามสันเขาที่เป็นทุ่งหญ้าในป่าเต็งรัง คล้าย C. pachypoda K.D.Hill ใบและโคนเพศผู้ใหญ่กว่า ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาวกว่า
ปรงเท้าช้าง มีลักษณะลำต้นสูงได้ถึง 3 ม. โคนต้นแบนหนา เปลือกแตกเป็นคอร์กและร่องลึก ใบยาว 1–1.6 ม. ก้านใบยาว 20–45 ซม. มีหนามประมาณไม่เกินกึ่งหนึ่งของความยาวก้านใบ ใบย่อยปลายแหลมเป็นหนาม
โคนเพศผู้รูปไข่แคบ ยาว 30–55 ซม. ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 4–5 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 1.5–3 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาวได้ถึง 20 ซม. มีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง 12 ซม. ขอบจักซี่หวี ยาวประมาณ 4.5 ซม. ปลายเป็นหนามแหลม ยาวประมาณ 5.5 ซม. ออวุลมี 2–4 เม็ด เมล็ดยาวประมาณ 3.5 ซม. ผนังด้านในมีชั้นใย
ปรงตากฟ้า Cycas nongnoochiae K.D.Hill
ปรงตากฟ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas nongnoochiae K.D.Hill มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Nong nooch sago พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางที่ตากฟ้า จังหวัดลพบุรี ขึ้นตามที่ลาดชันบนเขาหินแกรนิต ความสูงไม่เกิน 200 เมตร
อาจเป็นลูกผสมระหว่างปรงเหลี่ยม C. siamensis Miq. และปรงผา C. clivicola K.D.Hill เปลือกแตกเป็นร่องลึกคล้ายปรงเหลี่ยม โคนเพศผู้และเพศเมียคล้ายปรงผา
ปรงตากฟ้า มีลักษณะ ลำต้นสูง 2–5 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก ใบยาว 0.8–1.6 ม. แบน ก้านใบยาว 23–35 ซม. ใบย่อยปลายใบแหลม ก้านใบสั้น โคนเพศผู้รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 15–28 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์รูปรี ยาว 22–30 ซม. ปลายแหลมเป็นหนาม ยาว 7–9 มม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 16–19 ซม. มีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบรูปไข่กว้าง ยาว 8.5–10 ซม. ขอบจักลึกคล้ายซี่หวีถี่ ยาว 2–2.4 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 1.5–2.5 ซม. ออวุลมี 2–4 เม็ด เมล็ดยาวประมาณ 3.5 ซม. เยื่อหุ้มสีเหลือง
ปรงเขา Cycas pectinata Buch.-Ham.
ปรงเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas pectinata Buch.-Ham. ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Nepal cycad และยังมีชื่ออื่น เช่น กา, กาเดาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); กูดหลวา (แม่ฮ่องสอน); แข่ดู่, ทอคลิ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บอกะ (มาเลย์-สตูล); ปรงเขา (ชุมพร); มะพร้าวเต่าดอย, มะพร้าวเต่าหลวง (ภาคเหนือ); มุ่งมาง (ละว้า-เชียงใหม่)
ถิ่นกำเนิด ปรงเขา พบที่เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 600–1300 เมตร
ปรงเขา มีลักษณะ ลำต้นสูงได้ถึง 12 ม. บางครั้งแตกกิ่ง ใบยาวได้กว่า 2 ม. ก้านใบยาว 30–80 ซม. ใบโค้งเล็กน้อย ก้านใบย่อยเรียวสอบ โคนเพศผู้รูปไข่ ยาว 30–55 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์เรียวแคบ ยาว 4–6 ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ปลายเป็นหนามยาว 1.7–3.2 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์เรียงเป็นกลุ่ม ยาว 22–30 ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แผ่นใบรูปกลม ๆ ยาว 10–18 ซม. ขอบจักลึกซี่หวีถี่ ยาว 2.5–7.5 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 3.5–7.5 ซม. ออวุลมี 2–4 เม็ด เมล็ดยาว 4.2–4.5 ซม. ผนังด้านในมีชั้นเส้นใย
ปรงหิน Cycas petrae A.Lindstr. & K.D.Hill
ปรงหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas petrae A.Lindstr. & K.D.Hill ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Loei cycad เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นบนเขาหินปูนเตี้ย ๆ
ลักษณะคล้ายกับปรงผา C. clivicola K.D.Hill ที่ลำต้นค่อนข้างเรียบ แต่ใบและโคนเพศผู้ขนาดใหญ่กว่า ใบสร้างอับไมโครสปอร์และหนามที่ปลายยาวกว่า
ปรงหิน มีลักษณะ ลำต้นสูงได้ประมาณ 6 ม. เปลือกค่อนข้างเรียบ ใบยาว 1.4–2.3 ม. ก้านใบยาว 25–40 ซม. ไม่มีหนามหรือมีไม่เกินกึ่งหนึ่งของความยาว ใบย่อยปลายแหลมไม่เป็นหนาม โคนเพศผู้รูปไข่แคบ ยาว 30–40 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 4–5 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 1.2–2 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 18–22 ซม. มีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบรูปไข่หรือเกือบกลม ยาว 10–17 ซม. ขอบจักซี่หวี ยาว 2–4 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 5.5–8.5 ซม. ออวุลมี 2–6 เม็ด เมล็ดผนังชั้นในมีเส้นใย
ปรงปราณบุรี Cycas pranburiensis S.L.Yang, W.Tang, K.D.Hill & P.Vatcharakorn
ปรงปราณบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas pranburiensis S.L.Yang, W.Tang, K.D.Hill & P.Vatcharakorn มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Pranburi cycad
ปรงปราณบุรี เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่สามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูงไม่เกิน 100 เมตร
ปรงปราณบุรี มีลักษณะคล้ายปรง C. circinalis L. ของอินเดีย อยู่ภายใต้กลุ่มปรงเขา C. pectinata Buch.-Ham. เคยเป็นชื่อพ้องของ C. silvestris K.D.Hill ซึ่งพบที่เวียดนาม ชวา ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ปรงปราณบุรี มีลักษณะ ลำต้นสูง 1–3 ม. เปลือกค่อนข้างเรียบ ใบยาว 0.65–1.2 ม. ก้านใบยาว 8–30 ซม. ไร้หนามหรือมีหนามประปราย ใบย่อยปลายแหลม ไม่แข็งเป็นหนาม โคนเพศผู้รูปไข่ ยาว 20–25 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 3–4 ซม. ปลายเป็นหนามแหลม ยาว 0.5–1.5 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 17–24 ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทา แผ่นใบรูปใบหอก ยาว 6–9 ซม. ขอบจักชายครุยตื้น ๆ คล้ายหนาม ยาว 2–4 มม. ปลายเป็นหนามยาว 2.4–4 ซม. ออวุลมี 2–4 เม็ด เมล็ดยาว 3.5–4 ซม. ผนังด้านในมีชั้นใย
ปรงเหลี่ยม Cycas siamensis Miq.
ปรงเหลี่ยม Cycas siamensis Miq. ชื่อสามัญ Thai sago ชื่ออื่น กุ้นผง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); โกโล่โคดึ, ตาซูจือดึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตาลปัตรฤๅษี (ภาคตะวันตกเฉียงใต้); ปรงป่า (ภาคกลาง); ปรงเหลี่ยม (ตราด); ผักกูดบก (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด ปรงเหลี่ยม พบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นหนาแน่นในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่มีไฟไหม้เป็นประจำ
ปรงเหลี่ยม มีลักษณะ ลำต้นสั้น สูง 1.5–2 ม. หัวใต้ดินแบนแผ่ออก ใบยาว 0.6–1.2 ม. ก้านใบยาว 10–30 ซม. ส่วนมากมีหนามเกือบตลอดความยาวก้านใบ ใบย่อยปลายแหลมเป็นหนาม แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบย่อยช่วงล่างลดรูปเป็นหนาม
โคนเพศผู้รูปขอบขนาน ยาว 10–24 ซม. ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 2–3 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 0.7–1.4 ซม. ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 6–11 ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แผ่นใบรูปรีกว้างหรือเกือบกลม ยาว 6–11 ซม. ขอบจักซี่หวี ยาว 0.8–3.5 ซม. ปลายเป็นหนามยาว 2.3–4.5 ซม. ออวุลมี 2 เม็ด เมล็ดยาว 3–3.7 ซม. ผนังด้านในมีชั้นใย
ปรงหนู Cycas simplicipinna (Smitinand) K.D.Hill
ปรงหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cycas simplicipinna (Smitinand) K.D.Hill พบที่พม่า ลาว และเวียดนามตอนบน ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ และที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ขึ้นกระจายห่าง ๆ ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา
ปรงหนู มีลักษณะคล้ายกับปรง C. micholitzii Dyer ที่ลำต้นอยู่ใต้ดิน แต่ใบเป็นแบบขนนก 2 ชั้น พบในจีนตอนใต้และเวียดนาม
ปรงหนู มีลำต้นใต้ดินหรือโผล่เหนือพื้นดินสั้น ๆ มี 2–5 ใบ ใบยาว 0.9–1.5 ม. ก้านใบยาว 3.5–14 ซม. มีหนามเกินกึ่งหนึ่งถึงตลอดก้านใบ ก้านใบย่อยสั้น ปลายใบแหลมยาวไม่เป็นหนาม โคนเพศผู้รูปกระสวยแคบ ยาว 15–20 ซม.
ใบสร้างอับไมโครสปอร์ยาว 1.2–1.4 ซม. ไม่แข็ง ปลายไม่มีหนาม ใบสร้างอับเมกะสปอร์ยาว 7–12 ซม. มีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบรูปไข่ ขอบจักซี่หวี 10–14 ซี่ ยาว 1.5–2.5 ซม. ปลายเป็นหนามยาวเท่า ๆ ซี่หวี ออวุลมี 2 เม็ด เมล็ดยาว 2–2.5 ซม.
ที่มา : มานพ ผู้พัฒน์, นัยนา เทศนา. 2561.พรรณไม้สำคัญในระบบนิเวศเขาหินปูน : กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ