ต้นโมกมีกี่ชนิด โมกพวง, โมกซ้อน, โมกบ้าน (โมกลา) แตกต่างกันยังไงบ้าง ราคาถูก?
ต้นโมก ต้นไม้มงคลที่นิยมปลูกในบ้าน หน้าบ้าน หรือเป็นแนวรั้วบ้าน มานานแล้ว ดอกมีกลิ่นหอมโชยชื่นใจ โมกบ้านมีหลายพันธุ์ เช่น โมกพวง,โมกซ้อน,โมกลา พันธุ์ต่างๆ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ...
โมกพวง โมกซ้อน โมกบ้าน
"โมกบ้าน" เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่คนไทยนิยมปลูกกันมานานแล้ว เป็นดอกโมกที่คนไทยรู้จักมากที่สุด ดอกมีกลิ่นหอมเย็น และนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านกันมากที่สุด
เดิมเรียกกันว่า "โมกลา" เนื่องจากเรียกตามลักษะดอกที่มีกลีบดอกชั้นเดียว (เรียกว่า ดอกลา) ซึ่งเป็นลักษณะดอกดั้งเดิมที่พบในป่าธรรมชาติ แต่ถูกนำมาปลูกเป็นระยะเวลายาวนาน จากพันธุ์ป่าเป็นพันธุ์ปลูก จึงเรียกว่า "โมกบ้าน"
โมกซ้อน โมกพวง ต่างกันอย่างไร
จากการปลูกเลี้ยง "โมกลา" พันธุ์ดั้งเดิมมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนได้ชื่อว่า "โมกบ้าน" หลังจากนั้น พบว่ามีการกลายพันธุ์ออกไปโดยลำดับ
โมกลา หรือ โมกบ้านธรรมดาที่มีดอกลา (กลีบดอกชั้นเดียว) แต่ โมกซ้อน ก็คือโมกลาที่กลายพันธุ์ไปเป็นดอกโมกที่มีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น ที่เรียกว่า "โมกซ้อน"
ดอกโมกซ้อน มักเป็นพันธุ์ที่เป็นหมัน ไม่ติดฝัก ใบคล้ายกันไม่แตกต่างกัน กับ ใบโมกบ้านธรรมดา ดังนั้นถ้าจะแยกความแตกต่าง จึงต้องดูที่ดอกเท่านั้น
โมกพวง
จากโมกบ้านที่มีกลีบดอกชั้นเดียว (ดอกลา) ช่อดอกเล็กธรรมดา ยังกลายพันธุ์ไปเป็น "โมกพวง" ที่มีความแตกต่างกันอยู่ที่ ดอกโมกพวงจะมีดอกเป็นช่อกระจุกใหญ่ ในแต่ละช่อมีจำนวนดอกดกมากถึง 20-30 ดอก ทำให้ดูเป็นดอกพวงใหญ่สวยงามมาก
ปัจจุบัน ต้นโมกพวง หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย ทนทาน ออกดอกได้ตลอดปี ดอกดกมาก เมื่อจำนวนดอกมาก ก็ยิ่งส่งกลิ่นหอมได้มากตามไปด้วย โชยกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทั้งบ้าน คนไทยจึงนิยมปลูกต้นโมกพวง กันมากกว่า ต้นโมกบ้านธรรมดา(พันธุ์ดั้งเดิม)
นอกจากจำนวนดอกในแต่ละช่อ ยังมีจุดสังเกตความแตกต่าง ระหว่างโมกบ้านธรรมดา กับ โมกพวง คือ ดอกโมกพวง เมื่อดอกบานแล้วดอกมักไม่ค่อยร่วง แต่ดอกจะแห้งคาช่อ และไม่ค่อยติดฝัก
ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า "โมกพวง" เป็นพันธุ์โมกที่ได้รับความนิยมปลูกกันมากที่สุด แทบจะเรียกได้ว่า โมกพวงเป็นพรรณไม้ดอกหอมสามัญประจำบ้าน ที่อยากแนะนำให้ทุกบ้านควรมีปลูกไว้
โมกเวียดนาม
นอกจากนี้ โมกบ้าน ยังได้กลายพันธุ์ไปเป็น "โมกเวียดนาม" ซึ่งมีต้น ใบ และดอกขนาดเล็กลง มีทั้งพันธุ์ดอกลา และ ดอกซ้อน ฟอร์มทรงต้นเล็กลง กระชับ กะทัดรัด หรือบางคนเรียกว่า "โมกแคระ"
โมกด่าง
โมกบ้าน ยังกลายพันธุ์เป็น "โมกด่าง" ที่ใบมีลวดลายด่างสวยงาม เช่น โมกบ้านด่าง โมกซ้อนด่าง โมกแคระด่าง โมกเวียดนามด่าง เป็นต้น
ต้นโมกด่าง มักนิยมนำมาเสียบยอดกับต้นตอโมกมัน ตัดแต่งเป็นฟอร์มทรงพุ่มกลม ประดับบ้านและสวน ก็ล้วนแต่เป็นโมกชนิดเดียวกันที่กลายพันธุ์ไปจากโมกบ้าน
ทำไมถึงเรียกว่า "โมกบ้าน"
โมกบ้าน เป็นชื่อที่อ้างอิงตาม "ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย" โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) ซึ่งมีข้อมูลว่ามี ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Wrightia religiosa Benth. ex Kurz ใช้ชื่อไทยที่เป็นชื่อทางการว่า "โมกบ้าน"
โมกบ้าน จัดอยู่ในวงศ์โมก Apocynaceae โดยที่ชื่อสกุล Wrightia ตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819) และ คำระบุชนิด religiosa เป็นภาษาละติน หมายถึง religious ซึ่งแปลว่า เกี่ยวกับศาสนา
โมกบ้าน ยังมีชื่ออื่น (ชื่อท้องถิ่น) อีกหลายชื่อ เช่น โมกลา โมกซ้อน โมกน้ำ (ภาคกลาง), หลักป่า (ระยอง), โมก (อ.เมือง สกลนคร), คุดน้ำ บอมปี้ (อ.พรรณานิคม สกลนคร), มูก (ไทญ้อ-อ.ศรีสงคราม นครพนม), ปิดจงวา (เขมร-สุรินทร์)
ชื่อสามัญ เป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Water jasmine, Wild water plum
การตั้งชื่อเมืองตามสิ่งที่พบเห็นในอดีต ดังเช่นที่ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งก็มีการตั้งชื่ออำเภอตามที่พบดงต้นโมกจำนวนมาก ซึ่งก็หมายถึงต้นโมกบ้าน(โมกลา) ที่สามารถเจริญงอกงามอยู่ในสภาพพื้นที่ราบลุ่ม มีน้ำหลากในช่วงฤดูฝน
แต่ปรากฏว่าเมื่อตามไปดูในปัจจุบัน ก็พบว่าต้นโมกป่าที่พบขึ้นในธรรมชาติจริงๆ สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือเกือบจะสูญพันธุ์อยู่แล้ว หาดูต้นโมกพันธุ์แท้ในป่า หายากมาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโมกบ้าน
ต้นโมกบ้าน มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 2-5 ม. ทุกส่วนเมื่อเกิดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ตามกิ่งอ่อนและช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรี ยาว 2-5 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม ผิวใบบางและเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 4-8 เส้น ก้านใบ ยาว 1.5-4 มม.
ดอกโมกบ้าน ออกดอกเป็นช่อดอกแบบกระจุกแยกแขนง ยาว 2-4 ซม. ออกตามปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1-3 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว รูปไข่ ยาว 2 มม. กลีบดอกสีขาว ช่อดอกห้อยลง ดอกขนาดเล็ก ไม่มีกะบัง
โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2-4 มม. กว้าง 2 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาว 0.5-1 ซม. ปลายกลม มีขนสั้นละเอียด กลีบไม่บิดเวียน
เกสรเพศผู้ 5 เกสรปลายเชื่อมติดกันคล้ายกระโจมแหลม ยาว 6 มม. ดอกมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกเกือบตลอดปี ออกดอกดกช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม
ผลโมกบ้าน ออกเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอกยาว ยาว 10-17 ซม. กว้าง 0.5 ซม. ปลายเรียวแหลม ผิวเรียบเกลี้ยง ห้อยลง ฝักแก่แห้งแตก มีเมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ ยาว 8 มม. ปลายด้านหนึ่งมีพู่ขนสีขาว ยาว 3 ซม. ผลแก่ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-มีนาคม
ถิ่นกำเนิด พบขึ้นอาศัยอยู่ตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าดงดิบ และป่าบุ่งป่าทาม ขึ้นตามริมน้ำ ใกล้ลำธาร หรือพื้นที่แอ่งกระทะที่มีน้ำขังอยู่เป็นประจำ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 ม.
การกระจายพันธุ์ พบทั่วประเทศไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ในธรรมชาติค่อนข้างหายาก ต่างประเทศพบทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซียและฟิลิปปินส์
วิธีปลูกโมกบ้านให้ออกดอกดก
วิธีปลูกต้นโมกบ้าน ปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก ชอบน้ำมาก จนแทบสามารถปลูกแช่น้ำได้เลย สามารถปลูกลงดินหรือปลูกในกระถางก็ออกดอกได้ดี
ต้นโมกบ้าน ชอบแสงแดด สามารถปลูกกลางแจ้งแดดจัดได้ แสงแดดรำไร หรือแสงแดดครึ่งวันเช้าก็ได้ แต่ถ้าต้นโมกบ้านได้รับแสงแดดมากพอก็จะออกดอกได้ดกมากกว่าต้นโมกที่อยู่ในที่ร่มรำไร ถ้าได้รับแสงแดดไม่พอจะมีแต่ใบ ไม่ค่อยออกดอก
การใช้ประโยชน์ โมกบ้าน
การใช้ประโยชน์จากโมกบ้าน ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ไม้ดอกหอมประจำบ้าน เนื่องจากมีดอกดกและดอกมีกลิ่นหอมแรง สร้างบรรยากาศที่สดชื่น ผ่อนคลายสบายใจ และยังนำดอกมาบูชาพระได้อีกด้วย
ต้นโมกบ้านปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ทนแล้งก็ได้ ทนน้ำท่วมได้ดี มีทรงพุ่มแน่นสวยงาม จึงได้รับความนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ จัดสวน ปลูกเป็นแนวรั้วบ้านหรือแนวบังสายตา
สรรพคุณ โมกบ้าน
โมกบ้านยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรอีกด้วย โดยสามารถนำดอกมาต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ
ข้อดีของการปลูกต้นโมกบ้าน
ต้นโมกบ้าน คือ เป็นไม้ดอกหอม ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งดอกโมกบ้านจะออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดกิ่ง ดังนั้น ถ้าต้องการปลูกให้ออกดอกดก จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่ง
ยิ่งตัดยิ่งแตกยอดใหม่เป็นหลายยอด ก็จะยิ่งช่วยทำให้ออกดอกดกได้หลายๆช่อได้มากยิ่งขึ้น ถ้าออกดอกดกๆ ดอกบานพร้อมกันหลายช่อ จะส่งกลิ่นหอมโชยฟุ้งเลย