Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นโมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด) วิธีปลูกต้นโมกเขา ขยายพันธุ์ ราคา?

"โมกเขา" ได้รับการสำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2469 โดยหมอคาร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีรายงานการตั้งชื่อในปี 2480

โมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม)

โมกเขาเป็นพรรณไม้ที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับโมกอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โมกสยาม แต่มีกลีบดอกกว้างกว่าและสีเข้มกว่า รวมทั้งมีลำต้นใหญ่กว่า ส่วนลักษณะของใบและฝักจะคล้ายคลึงกัน

ภาคใต้ของไทยถือเป็นแหล่งนิเวศวิทยาขนาดใหญ่ที่มีทั้งขุนเขาและท้องทะเล อันเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่เป็นพืชพรรณนานาชนิด

และถึงแม้ว่าภูเขาส่วนใหญ่ทางภาคใต้ล้วนแล้วแต่เป็นเขาหินปูนติดชายทะเลอันแห้งแล้ง หากทว่าธรรมชาติก็ยังสร้างสรรค์พืชพรรณที่สวยงาม ซึ่งมีความทนทรหดต่อสภาพลมฟ้าอากาศที่หนักหน่วงอย่าง "โมกเขา" พืชเฉพาะถิ่นของไทย (ในโลกนี้จะพบได้ในประเทศไทยเท่านั้น)

ต้นโมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด)

โมกเขาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยที่มีแหล่งกำเนิดอยู่บนภูเขาหินปูนที่ความสูงระดับ 50 ม. ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รายละเอียดเพิ่มเติม

ด้วยความที่ต้นโมกเขามีถิ่นกำเนิดบนเขาหินปูนชายทะเล โมกเขาจึงมีความทนทานต่อไอเกลือริมทะเลและความแห้งแล้งได้ดี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมพัดพาไอเกลือในทะเลอ่าวไทยเข้าหาฝั่ง เมื่อไอเกลือเข้ามาจับยอดไม้ โดยธรรมชาติแล้ว พรรณไม้ที่ไม่ใช่พืชพื้นเมืองหรือไม่มีความทนทานมากพอ ก็มักจะตายหรือเสียหายเป็นอย่างมาก

โมกเขาจึงถือเป็นพรรณไม้ที่เหมาะต่อการปลูกริมทะเล หรือปลูกประดับตามบ้านพักชายทะเล เพราะทนทานต่อไอเกลือและลมที่พัดรุนแรงได้ดี 

โมกเขาเป็นพรรณไม้ที่มีดอกสวยงาม ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ หรือเป็นดอกเดี่ยวๆ ที่ปลายยอด นับเป็นโมกพื้นเมืองอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาเปลี่ยนฐานะให้เป็นไม้ปลูกประดับที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในภาคใต้

ลักษณะพรรณไม้ของโมกเขา

ต้นโมกเขา ลักษณะวิสัยเป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 ม. ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว ตามกิ่งอ่อนจะมีขนละเอียด แต่เมื่อกิ่งแก่ขนจะหายไปเป็นผิวเกลี้ยง เปลือกลำต้นมีช่องหายใจเป็นขีดนูนสีขาวกระจายทั่วไป

ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบโมกเขา ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-10 ซม. โคนใบรูปมนหรือเว้าเล็กน้อย ด้านบนใบเรียบ ด้านล่างมีขนเล็กน้อยและมีเส้นแขนงใบเป็นสันนูนเด่น

ดอกโมกเขา ช่อออกที่ปลายยอด 2-4 ดอก กลีบดอกรูปขอบขนาน เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน กลิ่นอมเปรี้ยว ออกดอกเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม

โมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด)

photo by Pisal Wongkat .

หากติดผล(ฝัก) มีลักษณะเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ขนาด 8 มม. ยาว 15 ซม. ปลายเชื่อมติดกัน เมล็ด กลมแบน ขนาด 4-5 มม. ตอนปลายมีขนยาวฟู ปลิวลอยตามลมได้

รายละเอียดเพิ่มเติม

การขยายพันธุ์โมกเขา สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด แต่ต้องใช้เวลาปลูกนานมาก กว่าต้นจะโตจนสามารถออกดอกได้

 ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์กลุ่มโมกที่ชอบขึ้นอยู่บนภูเขาหินปูน เช่น โมกเขา, โมกเหลือง, โมกราชินี และโมกสยาม เมื่อตัดชำกิ่งแล้วนำมาปักลงดินโดยตรง จะตายทั้งหมด หรือมีต้นที่เหลืออยู่น้อยมาก และก็จะพบปัญหาว่า ต้นโมกไม่เจริญเติบโตเมื่อปลูกลงดินโดยตรง

ดังนั้นวิธีที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์โมกกลุ่มนี้ จึงต้องใช้วิธีการเสียบยอด เพื่ออาศัยรากของไม้ชนิดอื่น โดยใช้พืชในสกุลเดียวกัน คือโมกบ้านและโมกมันเป็นต้นตอ หรือใช้พืชต่างสกุลคือพุดฝรั่งเป็นต้นตอก็ได้ 

 แล้วนำกิ่งยอดของโมกดังกล่าวแต่ละชนิดมาเสียบยอด ก็สามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกจากการเพาะเมล็ดหรือการปลูกลงดินโดยตรง และยังสามารถออกดอกได้สวยงาม เหมือนกับต้นที่ขึ้นอยู่บนเขาหินปูนตามธรรมชาติ

อ้างอิง* : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

"โมกเขา" โมกพื้นเมืองถิ่นเดียวของไทย

"โมกเขา" เป็นโมกพื้นเมืองของไทยแท้ ๆ ที่น่าสนใจมาก มีลำต้นเป็นโขดใหญ่ ลีลาชดช้อยสไตล์แนวบอนไซ ฟอร์มทรงต้นงดงาม โตช้า ปลูกเลี้ยงง่าย มีความทนทานได้ดีมาก

ดอกโมกเขา โมกราชินีดอกส้ม โมกสามร้อยยอด

ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ที่ปลายกิ่ง ทยอยบานดอกสีส้มสดใส ดอกบานหงายตั้งขึ้น จึงโดดเด่นสะดุดตา และดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงเหมาะสามารถปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางได้ดี

รายละเอียดเพิ่มเติม

โมกเขา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia lanceolata Kerr จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (ชื่อสกุล "Wrightia" ตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819), คำระบุชนิด "lanceolata" หมายถึง ใบรูปใบหอก "Lance-shaped, lanceolate")

ต้นโมกเขาจะพบขึ้นอยู่ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงอาจเป็นที่มาของการเรียกชื่อ "โมกเขา"หรือบางคนก็เรียกว่า "โมกภูเขา" หรือ "โมกเขาสามร้อยยอด" 

และเนื่องจากมีแหล่งที่อยู่อาศัยตามเขาหินปูนคล้ายกับต้นโมกราชินี มีรูปร่างลักษณะลำต้นและใบคล้ายกัน แต่มีดอกสีส้ม บางคนจึงเรียกว่า "โมกราชินีดอกส้ม"

ดอกโมกเขา มีลักษณะเด่นคือดอกจะบานหงายตั้งขึ้น ดอกไม่คว่ำหน้าลงแบบดอกโมกอื่น ดอกสีส้มหรือสีส้มอมชมพู ดอกรูปกงล้อ มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ลักษณะเด่นของดอกโมกเขา ที่แตกต่างจากดอกโมกอื่น คือ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 3-6 มม. เกสรตัวผู้ โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก อย่างชัดเจน และมีกระบัง 1 ชั้น แนบติดกลีบดอก ปลายจักมนหรือแหลม ไม่เป็นระเบียบ

ผล(ฝัก)โมกเขา เป็นฝักคู่แยกกัน ปลายเชื่อมติดกัน ผิวฝักมีขนกระจาย ไม่มีช่องอากาศ เมื่อฝักแก่จะแตกแยกกัน ภายในฝักแตกจะมีเมล็ดซึ่งจะมีกระจุกขนฟูๆ ติดอยู่ที่ปลายเมล็ด เพื่อช่วยให้ลมพัดพาเมล็ดปลิวลอยไปขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นที่อยู่ห่างไกลได้

วิธีปลูกต้นโมกเขา ให้ออกดอกและโตเร็วเจริญงอกงาม

จากข้อมูลที่บอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โมกเขามีถิ่นกำเนิดอยู่บนเขาหินปูน ขึ้นตามซอกหินตามหน้าผา จึงสามารถทนแล้งได้ดี ซึ่งจะได้รับน้ำฝนแบบไหลซึมผ่านไปเร็ว ระบบรากจึงไม่เหมือนกับต้นโมกชนิดอื่นที่ขึ้นบนพื้นดินทั่วไป

ดังนั้นหากต้องการจะปลูกต้นโมกเขาในกระถางให้ออกดอกดกและเจริญเติบโตสมบูรณ์สวยงาม จึงไม่ควรปลูกกับดินโดยตรง แต่ควรใช้วัสดุปลูกที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี สามารถดูดซับน้ำและความชื้นได้เล็กน้อย ถ้าปลูกลงดินล้วนๆ หรือวัสดุปลูกแฉะชื้นอุ้มน้ำมากเกินไป ก็อาจทำให้รากเน่าตายได้

โดยส่วนตัว ผมใช้ดินเพียงเล็กน้อยคลุกผสมกับทรายหยาบ หินภูเขาไฟ กาบมะพร้าวสับ และปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนผสมที่แบบว่าถ้ารดน้ำแล้วน้ำจะต้องซึมผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ปลูกใส่กระถางวางไว้ในบริเวณที่โดนแสงแดดครึ่งวันเช้า เลี้ยงแบบไม่ต้องสนใจมาก รดน้ำเมื่อดินแห้งหรือใบเริ่มเฉา แทบไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลย หรืออาจใส่ปุ๋ยหมักเพิ่มให้นิดหน่อยเดือนละครั้งก็พอ

ข้อดีของต้นโมกเขา คือทนทานมาก และค่อนข้างเติบโตช้า ค่อยๆโตไปเรื่อยๆ แบบไม่รีบ ฟอร์มทรงต้นดูเล็ก กะทัดรัด จึงสามารถปลูกในกระถางได้นาน ออกดอกให้ชื่นชมดมกลิ่นได้ง่าย และดอกมีสีส้มสดใส ดูโดดเด่นสวยงามน่าปลูกมากๆครับ

รายละเอียดเพิ่มเติม