✓ต้นไม้: หมันดง (ตังบี้) ลักษณะ ผลสุก รสหวาน มีเมือกเหนียว

หมันดง (ตังบี้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

หมันดง (ตังบี้) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Cordia dichotoma G.Forst. จัดเป็นพืชในสกุล Cordia อยู่ในวงศ์ (Boraginaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร

ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า หมันดง (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

ต้นไม้: หมันดง (ตังบี้) ลักษณะ ผลสุก รสหวาน มีเมือกเหนียว Cordia dichotoma

ต้นหมันดง มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า - และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า หมัน (ภาคกลาง), หมันดง (นครราชสีมา), ตังบี้ (อ.เมือง มหาสารคาม), มันหมู (ลำปาง), ผักหม่อง (ฉาน-ภาคเหนือ), ส่าบูอิ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

นิเวศวิทยา

ต้นหมันดง (ตังบี้) ในประเทศไทยพบขึ้นในป่าผลัดใบ ป่าดงดิบริมน้ำ ป่าบุ่งป่าทาม หรือทุ่งนา ปกติชอบขึ้นในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของหมันดง (ตังบี้) พบทั่วประเทศไทย แต่ค่อนข้างหายาก ต่างประเทศพบในภูมิภาคเอเชียใต้ จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปออสเตรเลียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

หมันดง (ตังบี้) ออกดอกเดือนไหน

ต้นหมันดง (ตังบี้) ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ผลแก่พฤษภาคม-กรกฎาคม

ต้นไม้: หมันดง (ตังบี้) ลักษณะ ผลสุก รสหวาน มีเมือกเหนียว Cordia dichotoma

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหมันดง (ตังบี้)

  • ลักษณะวิสัย: ไม้ต้น สูงถึง 15 ม.
  • ลำต้น: เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งมีช่องอากาศสีขาวกระจาย กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทองหนาแน่น ต่อมาเกลี้ยง
  • ใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรีกว้าง ยาว 8-12 ซม. ปลายใบแหลม-มน ขอบใบเรียบ-หยักห่างๆ ผิวเกลี้ยง-มีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบยาว 1.5-4 ซม.
  • ดอก: มักออกดอกแยกเพศแยกต้น แบบช่อแยกแขนงห่างๆ ยาว 4-15 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาว 5 มม. ปลายแยก 5 พูสั้นๆ กลีบดอกสีขาว หลอดกลีบยาว 5 มม. ปลายแยก 4-5 แฉก ยาว 3-4 มม. ปลายม้วนกลับ
  • ผล: ผลค่อนข้างกลม กว้าง 1-1.8 ซม. ปลายมีติ่งแหลม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีส้มอมชมพู ผิวมันเงา มีถ้วยกลีบเลี้ยงหุ้มที่โคนประมาณ1/4 ส่วน เนื้อในใสเหนียว มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด/ผล

ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ของหมันดง (ตังบี้) สามารถนำมาเป็นอาหาร ผลสุกตำส้มใส่ตัวมดแดง หรือกินเป็นผลไม้ มีรสหวาน แต่มีเมือกเหนียว สามารถนำเมือกเหนียวจากผลสุกใช้ติดจักจั่น หรือใช้แทนกาวติดว่าวกระดาษ, เปลือกมีเส้นใยเหนียว นำมาทุบจนเป็นเส้นฝอย ใช้ในการตอกหมันยาแนวเรือ และใช้ไม้ทำฟืนหรือเผาถ่าน

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.