Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นจำปีป่า (จุมปี) จำปีพื้นเมืองของไทย ไม้ดอกหอม ลักษณะเด่น การใช้ประโยชน์?

จำปีป่า (จุมปี) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Magnolia baillonii Pierre วงศ์จำปี Magnoliaceae ไม้ไทยดอกหอม ดอกสีขาว กลีบดอกมากกว่าจำปีบ้าน ...

จำปีป่า

จำปีป่า เป็นพรรณไม้วงศ์จำปา Magnoliaceae ที่สามารถพบได้ในป่าดิบแล้งทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยจะขึ้นตามริมลำธารหรือบางครั้งจะพบได้ในป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 600-1,200 ม. ส่วนในต่างประเทศ จะพบกระจายอยู่ในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของประเทศจีน

เดิมทีจำปีป่าเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่สามารถพบได้ทั่วไป ในป่าดิบแล้ง แต่เพราะลักษณะของจำปีป่าที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ เนื้อไม้มีความละเอียดคงทน ทำให้มีการนำลำต้นจำปีป่ามาทำโลงศพ ที่เรียกว่า "โลงจำปา"

จำปีป่า (จุมปี) จำปีพื้นเมืองของไทย ไม้ไทยดอกหอม ดอกสีขาว ดอกมีกลิ่นหอม

photo by สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล.

จากการใช้ประโยชน์ในด้านนี้เองที่ทำให้จำนวนต้นของจำปีป่าลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อว่า หากนำต้นจำปีป่ามาทำเป็นโลงจำปา ผู้ตายจะนอนอยู่ท่ามกลางกลิ่นหอมอ่อนๆ ของเนื้อไม้อย่างมีความสุขไปชั่วกัลปาวสาน ด้วยเหตุนี้ จำปีป่าจึงกลายเป็นพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งชนิดหนึ่งของจีน

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนในประเทศไทย คนบางกลุ่มก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับชาวจีนในประเทศจีน ยังมีการนำจำปีป่ามาทำโลงจำปา ทำให้จำนวนต้นจำปีป่าในประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ในถิ่นกำเนิดได้ง่าย

ดังนั้นจึงควรมีการอนุรักษ์ต้นจำปีป่าขนาดใหญ่เหล่านี้เอาไว้ เพื่อใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับการขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต

สำหรับประโยชน์ด้านอื่นๆ ของพรรณไม้ชนิดนี้ คือ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้ที่ให้ร่มเงาตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงานต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา นับตั้งแต่โรงเรียนวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ควรจะปลูกเอาไว้เป็นไม้ให้ร่มเงาบดบังแสงอาทิตย์ ลดความร้อน

นอกจากจะให้ความร่มรื่น สดชื่นกับนักเรียน นิสิตนักศึกษา และครูอาจารย์ในสถานศึกษาแล้ว ยังให้กลิ่นหอมโชยมา ช่วยเสริมให้บรรยากาศการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพเป็นผลสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยม 

รากของต้นจำปีป่ายังสามารถนำมาต้มเป็นยาระบายหรือยาขับพยาธิได้เป็นอย่างดี ส่วนเมล็ดจากต้นจำปีป่าก็เป็นอาหารอย่างวิเศษของบรรดานกและกระรอกในป่าอีกด้วย

ลักษณะพรรณไม้ของจำปีป่า

จำปีป่า (จุมปี)

photo by Bing Liu.

ต้นจำปีป่า มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 25-35 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งมาก เป็นพุ่มที่ยอด ทรงพุ่มกลมโปร่ง เปลือกแตกสะเก็ดเป็นแผ่นเล็กๆ มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื้อไม้และกิ่งเหนียว

รายละเอียดเพิ่มเติม

ใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปขอบขนาน เนื้อใบบาง แผ่นใบทั้งสองด้านเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีคราบสีขาวฉาบอยู่ ใบอ่อนมีขนปกคลุม เมื่อแก่แล้ว ใบค่อนข้างเกลี้ยง

ดอกจำปีป่า เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวเหมือนดอกจำปีแต่มีกลีบมากกว่า ดอกบานตั้งขึ้น มีกลีบดอก 15-18 กลีบ เริ่มแย้มจะหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานกางเต็มที่ตั้งแต่เช้า บานวันเดียวแล้วโรย กลีบดอกจะหลุดร่วงในวันถัดมา

ผลจำปีป่า มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม มีเปลือก ผลย่อยเชื่อมติดกัน เมื่อแก่เปลือกหลุดออกเหลือแต่แกนผลคล้ายก้างปลา เมล็ดสีแดงเข้มติดอยู่กับแกนกลางผล ช่องละ 3-6 เมล็ด ลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม ขนาด 4-5 มม. เมื่อแก่มีสีแดงสด แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมาก การขยายพันธุ์ต้นจำปีป่า สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและทาบกิ่ง

Synonyms

  • Aromadendron baillonii (Pierre) Craib
  • Aromadendron spongocarpum (King) Craib
  • Magnolia baillonii var. bailingia Sima & H.Jiang
  • Magnolia phellocarpa (King) H.J.Chowdhery & P.Daniel
  • Michelia baillonii (Pierre) Finet & Gagnep.
  • Michelia phellocarpa (King) Finet & Gagnep.
  • Paramichelia baillonii (Pierre) Hu
  • Talauma phellocarpa King
  • Talauma spongocarpa King

อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม