✓ต้นไม้: บานไม่รู้โรยฝรั่ง, บานไม่รู้โรยบราซิล ไม้ประดับ,วัชพืช?

บานไม่รู้โรยบราซิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alternanthera brasiliana (L.) Kuntze 'Rubiginosa' อยู่ในวงศ์ผักโขม Amaranthaceae มีชื่ออื่นว่า บานไม่รู้โรยฝรั่ง, บานไม่รู้โรยสิงคโปร์ และมีชื่อสามัญ คือ Brazilian Joyweed, Purple Joyweed

บานไม่รู้โรยฝรั่ง (บราซิล)

บานไม่รู้โรยฝรั่ง

ข้อมูลทั่วไป ถิ่นอาศัย, แหล่งที่พบ

ถิ่นกำเนิด : มาจากทวีปอเมริกาตอนกลางและอเมริกาใต้ตอนบน ปัจจุบันแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติได้เองและเป็นวัชพืขในรัฐฟอริดา แอฟริกาในเขตร้อน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนบน และบางเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 50-100 ซม. กิ่ง ลำต้น ก้านใบ และใบมีสีม่วงอมน้ำตาล-สีชมพูเข้ม ทุกส่วนมีขนสั้น-ยาว สีขาว ตามข้อบวม ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบเดี่ยวรูปไข่-รูปรี ยาว 2-8 ซม. โคนใบสอบเรียว ไม่มีก้านใบหรือมีแต่สั้นกว่า 5 มม. ช่อดอกสีขาวเป็นช่อทรงกลมคล้ายดอกบานไม่รู้โรย กว้าง 1 ซม. เมล็ดแก่รูปไข่ยาว 1.5 มม. สีดำ

วิธีการปลูกเลี้ยงและการนำมาใช้ประโยชน์

เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อประมาณปี 2540 ได้มีการนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในภาคใต้แล้ว โดยคาดว่าน่าจะนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย/สิงคโปร์ พันธุ์ลูกผสมที่นิยมปลูกคือ ‘Brazilian Red Hots’ ซึ่งใบจะมีลายด่างสีชมพูเข้มสลับสีม่วงเข้ม พันธุ์นี้ไม่ขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ **สามารถใช้ปลูกประดับได้**

บานไม่รู้โรยฝรั่ง

ขณะที่สายพันธุ์ ‘Rubiginosa’ ที่มีใบสีม่วงอมนํ้าตาลเท่านั้น ที่ปรับตัวได้ดีทนทานต่อสภาพอากาศ ทั้งที่ชุ่มชื้นและแห้งแล้งได้ดี สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ กลายเป็นวัชพืชที่สําคัญในขณะนี้ไปทั่วประเทศ แม้แต่ในป่าอนุรักษ์ เพราะผลิตเมล็ดจํานวนมาก มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดทรายสีดํา และสามารถเลื้อยแผ่กอออกไปได้เร็วมีอายุยืน

พันธุ์ ‘Rubiginosa’ ในฤดูหนาว ออกดอกและติดเมล็ดจำนวนมาก กระจายเข้าสู่ป่า ข้างถนน หรือตามไร่รกร้างทั่วไป, หากใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดหวดละก็ กิ่งที่ร่วงสู่พื้นดินที่มีความชื้นยังสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้อีก.

บานไม่รู้โรยฝรั่ง

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์

ชอบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง หรือที่ร่มรำไร ที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,100 มม./ปี แม้แต่ในดินปนทรายหรือผสมกรวดก็ตาม พบตามชายป่าเบญจพรรณ ชายป่าดงดิบ ที่รกร้าง ข้างทาง ริมน้ำ และ พื้นที่เกษตร ในที่ความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล 

ประสิทธิภาพการรุกราน

 เจริญเติบโตได้รวดเร็วในช่วงฤดูฝน โดยมีอายุประมาณ 3-4 เดือนก็สามารถออกดอกและผลได้ ส่วนใหญ่เมล็ดจะแก่ช่วงปลายฤดูฝน-ฤดูหนาว เมล็ดที่มีขนาดเล็กมากคล้ายเมล็ดงาดำจะร่วงหล่นตามพื้นดิน เมื่อมีฝนตกหนักน้ำจะพัดพาไปได้ไกล ด้วยระบบรากที่แข็งแรงทำให้มันสามารถมีชีวิตรอดพ้นจากฤดูร้อนของประเทศไทยตอนบนที่แสนจะร้อนและแห้งแล้งได้ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนต้นเดิมจะแตกกิ่งก้านออกมาเติบโตอีกครั้ง หรือเกิดต้นใหม่งอกออกมาจากเมล็ด มันสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายมากด้วยการปักชำกิ่งหรือมีเพียงกิ่งที่ถูกตัดฟันแล้วตกลงไปสัมผัสดินรากจะงอกออกมาเกิดต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว 

พาหะที่สำคัญต่อการแพร่กระจายพันธุ์คือมนุษย์ โดยการนำเข้าไปปลูกเป็นไม้ประดับก่อน เพราะมีการขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยกิ่งปักชำ และมีใบสีม่วงดูสวยงาม เมื่อพวกมันออกดอกและแตกกอทอดเลื้อยกว้างออกไป ก็จะกระจายอย่างรวดเร็วเข้าสู่พื้นที่ที่ขาดการดูแล เช่น ที่รกร้าง และป่าไม้ การใช้มีดหวดหรือเครื่องตัดหญ้าจะยิ่งเป็นการช่วยกระจายกิ่งที่ถูกตัดให้กระเด็นตกสู่พื้นดินแล้วงอกเป็นต้นใหม่จำนวนมากยิ่งขึ้น มีการศึกษาพบอีกว่าพืชในสกุลนี้ สามารถปล่อยสารเคมีออกมายับยั่งการเจริญเติบโตพืชที่ขึ้นอยู่ข้างเคียงได้อีกด้วย 

การควบคุม

 ใช้วิธีถอน ขุดหรือไถให้ถึงราก แล้วนำมาเผาทำลาย โดยต้นกล้าที่เกิดขึ้นใหม่จากเมล็ดและกิ่งที่ตกค้างในดินให้ใช้วิธีถอนออกซ้ำ หรือร่วมกับการปลูกพันธุ์ไม้ป่าโตเร็วพวกพืชเบิกนำ (pioneer species) เข้าไปยึดครองพื้นที่แทน การกำจัดจะต้องติดตามต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี.

ที่มา: เอกสารเผยแพร่; พืชต่างถิ่นที่ถูกรุกรานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (Invasive Plants in Protected Area)