Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นช่อมาลี, กุมาริกา, สร้อยมาลี ไม้เลื้อยดอกหอม ลักษณะดอก วิธีปลูกดูแล ประโยชน์?

ช่อมาลี, กุมาริกา

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "เครือเขามวก" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557)

นอกจากนี้ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น กุมาริกา, ช่อมาลี, สร้อยมาลี, เครือเขามวกขาว, ตั่งตู้เครือ, ตังติด, มวก, ส้มลม, เถาประหล่ำผี, ช้างงาเดียว, ส้มเย็น, เครือซูด, เครือซูดผู้, เครือหางจิ๊งโก๊ะ, วันจรุก, เถาประหล่ำผี เป็นต้น

  • ช่อมาลี เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Parameria laevigata (Juss.) Moldenke (1940) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปรวมอยู่ในสกุล Urceola เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Urceola laevigata (Juss.) D.J.Middleton & Livsh. (2018)
  • อยู่ในวงศ์ Apocynaceae (ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “para” ใกล้ และ “meris” ส่วน ตามลักษณะดอกที่ออกชิดกัน)

สกุล Urceola Roxb. ทั่วโลกมีประมาณ 21 ชนิด กระจายพันธุ์กว้าง พบในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงหมู่เกาะสุมาตรา ในไทยพบหลายชนิด เช่น Urceola polyneura (Hook.f.) D.J.Middleton & Livsh. พบทางภาคใต้ ตาดอกมีขนสั้นนุ่ม

ต้นช่อมาลี, กุมาริกา, สร้อยมาลี ไม้เลื้อยดอกหอม

ต้นช่อมาลี มีถิ่นกำเนิดพบที่จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ขึ้นตามชายป่าหรือในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตามชายป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 900ม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นช่อมาลี มีลักษณะเป็น ไม้เถาเลื้อยล้มลุก อายุหลายปี ยาว 4-10 ม. ทุกส่วนเมื่อเกิดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ตามกิ่งอ่อน ก้านใบและช่อดอกมีขนสั้นประปราย-เกลี้ยง เถามีข้อนูน

ใบช่อมาลี ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามหรือเรียงรอบข้อ 3 ใบ ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ยาว 3-7 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันเงา เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนหยาบตามซอกเส้นแขนงใบด้านล่างคล้ายตุ่มใบ เป็นกระจุกขนสีสนิมที่ง่ามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ 2-3 คู่ เส้นแขนงใบข้างละ 4-6 เส้น ไม่นูนเด่นที่ผิวใบด้านล่าง ก้านใบยาว 1-4 มม.

ดอกช่อมาลี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ แยกแขนง ยาว 5-16 ซม. ออกตามปลายกิ่ง ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหรือแดง มีเกล็ดที่โคน

ดอกรูปดอกเข็ม ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาวหรือ สีขาวอมชมพู กลีบเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก โคนเป็นหลอดป่องที่โคนและมี 5 สัน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. ปลายแยก 5 แฉก มี 5 กลีบรูปรีหรือรูปไข่กลับ เบี้ยวเล็กน้อย ยาว 2–4 มม. ปลายมน กลีบบิดเวียนซ้าย

ดอกช่อมาลี, กุมาริกา, สร้อยมาลี

เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปเงี่ยงลูกศร ปลายเรียวแนบติดปลายเกสรเพศเมีย จานฐานดอกจัก 5 พู มี 2 คาร์เพล แนบติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผลช่อมาลี ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอกยาว ยาว 12-27 ซม. กว้าง 4-7 มม. ผิวเกลี้ยง มีรอยคอดตามเมล็ด ผลแก่ช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม เมล็ดช่อมาลี ฝักแก่แห้งแตก มีเมล็ดจำนวนมาก รูปรี เรียวยาว 0.6-1.2 ซม. ปลายด้านหนึ่งมีพู่ขนสีขาว ยาว 2-3 ซม.

การใช้ประโยชน์ ช่อมาลี

  • ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร : ยอดอ่อน กินเป็นผักสด แกล้มลาบ ก้อย หรือปลาร้าบอง
  • ใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน : วัสดุ เถาเนื้อเหนียวเช่นเดียวกับเครือซูด ใช้แทนเชือกมัดสิ่งของ เช่น ใช้มัดฟืน ใช้สานลอบ ไซ หรือมัดรั้ว
  • ใช้ประโยชน์อื่นๆ : ปลูกเป็นไม้ประดับ ซุ้มไม้เลื้อยดอกหอม

วิธีปลูกเลี้ยง ดูแล และการขยายพันธุ์

วิธีปลูกต้นช่อมาลี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีอินทรีย์วัตถุสูง สามารถระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ทนทานสภาพแวดล้อมได้ดี การดูแล ต้นช่อมาลี ดูแลง่าย ไม่พบการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช 

ต้นช่อมาลีต้องการแสงแดดจัดตลอดวันในการเจริญเติบโตจึงจะออกดอกได้ดี ให้ดอกเร็วภายใน 6 เดือนหลังปลูก ในช่วงแรกของการปลูกจะเห็นยอดนำที่มีขนาดใหญ่อวบ ชูเด่นให้เห็น ควรทำการผูกยอดนำกับซุ้มหรือที่เกาะทันที และควรหมั่นตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ จะช่วยให้ต้นแตกยอดใหม่และออกดอกจำนวนมาก ปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่างที่มีลวดลายสวยแปลกตา

จากการสังเกต การร่วงของใบพบว่าทยอยร่วงตลอดเวลา ผู้ที่ชอบความสะอาดไม่ควรมองข้ามในข้อนี้นะครับ เพราะว่าเมื่อปลูกจนมีขนาดใหญ่แล้วคุณจะต้องกวาดบริเวณพื้นที่ปลูกทุกวัน และถ้าชอบปลูกพันธุ์ไม้เลื้อยและชอบสะอาด

การขยายพันธุ์ช่อมาลี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง เพาะเมล็ด หรือแยกกอเล็กที่มีรากไปปลูก

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.

รายละเอียดเพิ่มเติม