✓ต้นไม้: 'นมแมวแดง' ( นมแมวใบหนา ) วงศ์กระดังงา ลักษณะ?
ข้อมูล ต้นนมแมวแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria argentea วงศ์ Annonaceae การใช้ประโยชน์, สรรพคุณ, เป็นผลไม้ป่า, พืชที่กินได้, ไม้ประดับ ถิ่นอาศัย, การกระจายพันธุ์ ไม้ป่าไทย, ลักษณะดอก,ใบ
ข้อมูลทั่วไป ถิ่นอาศัย, แหล่งที่พบ
ต้นนมแมวแดง มีถิ่นอาศัยขึ้นตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าบุ่งป่าทาม หรือตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ที่ความสูง จากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 700 ม.
การกระจายพันธุ์นมแมวแดง พบในภาคใต้ ภาคตะวันออก และถือว่าหายากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบเฉพาะในเขตลุ่มน้ำมูล ต่างประเทศพบนมแมวแดงในบังคลาเทศ เมียนมาร์ มาเลเซีย ชวา และบอร์เนียว และน่าจะพบในลาวและกัมพูชาด้วย
นมแมวแดง
- ชื่อวิทยาศาสตร์: Uvaria argentea Blume
- วงศ์ (Family): Annonaceae
- สกุล (Genus): Uvaria
- ชื่อท้องถิ่นอื่น : นมแมวใบหนา (ภาคใต้), หำอีปู่ (อุบลราชธานี), จเรย (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
Synonyms
- Anomianthus argenteus (Blume) Backer
- Cyathostemma argenteum (Blume) J.Sinclair
- Uva argentea (Blume) Kuntze
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะอยู่อาศัย : ไม้พุ่มรอเลื้อย ยาว 2-5 ม.
- ลักษณะลำต้น : กิ่งอ่อน ก้านใบ ช่อดอก และดอกมีขนสั้นสีสนิมหนาแน่น กิ่งมีช่องอากาศเป็นจุดสีขาว
- ใบ : ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 5-15 ซม. ปลายใบกลม มน หรือเว้าบุ๋ม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย เนื้อใบหนา ด้านล่างมีขนสั้นประปราย-เกลี้ยง มีเส้นแขนงใบข้างละ 9-12 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันชัดเจน ก้านใบยาว 3-5 มม.
- ดอก : ดอกออกเป็นช่อกระจุก ออก 1-4 ดอกต่อกระจุก ออกตรงข้ามกับตำแหน่งใบ ก้านดอกยาว 1 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน มี 3 กลีบ แนบชิดกับกลีบดอก กลีบดอก 6 กลีบ สีแดงอมม่วง รูปไข่กว้าง ยาว 5-8 มม. ปลายแหลม ดอกบานกว้าง 1 ซม. ดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วขอบกลีบยังคงซ้อนกันคล้ายบาตร ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
- ผล : ผลรูปทรงกระบอกมีรอยหยักคอดเล็กน้อย กว้าง 2 ซม. ยาว 3-4 ซม. ปลายทั้งสองด้านมน ก้านผลยาว 2-4 ซม. ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 10-18 ผล ผิวมีขนสั้นหนาแน่น เมื่อสุกเป็นสีเหลืองมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมากเรียง 2 แถว ผลแก่ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
การใช้ประโยชน์
- ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร : ผลดิบรสเปรี้ยวจิ้มพริกเกลือ ผลสุกรสหวาน กินเป็นผลไม้ป่า
- ใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน : ผลอ่อนใช้ทำเป็นเหยื่อล่อปลา
- ใช้ประโยชน์อื่นๆ : ปลูกต้นนมแมวแดง เป็นไม้ประดับ สำหรับผู้ชื่นชมสะสมพรรณไม้วงศ์กระดังงา
ที่มาข้อมูลและภาพ : หนังสือเผยแพร่: ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน