✓ข้อมูลประวัติ การค้นพบต้น'โมกราชินี' (โมกสิริกิติ์) ของไทย?
ประวัติการค้นพบ โมกราชินี, โมกสิริกิติ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia sirikitiae) ที่วัดพระพุทธบาท สระบุรี โมกชนิดใหม่ เป็นไม้ถิ่นเดียว มีลักษณะดอกสีขาว สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ...
โมกราชินี (โมกสิริกิติ์)
เมื่อ พ.ศ.2542 ดร. ดี.เจ.มิดเดิลตัน ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ลั่นทม (Apocynaceae) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาทบทวนพรรณไม้วงศ์ลั่นทมของประเทศไทย
ในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย ระบุถึงพรรณไม้สกุลโมกมัน (Wrightia) 9 ชนิด และอีก 1 ชนิด คาดว่าจะเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ (Wrightia sp.1)
โดยศึกษาจากตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ที่สำรวจพบและเก็บรวบรวมโดย ธวัชชัย สันติสุข และเต็ม สมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ ในป่าละเมาะธรรมชาติ บนภูเขาหินปูนที่แห้งแล้งรอบวัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2515 แต่ยังสรุปและยืนยันไม่ได้ว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ เนื่องจากตัวอย่างพรรณไม้ที่ใช้ศึกษาและอ้างอิงมีเพียงตัวอย่างเดียวและไม่สมบูรณ์
ต่อมาผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาและเทียบเคียงตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้กับตัวอย่างพรรณไม้แห้งชนิดต่างๆ ของสกุลโมกมันและสกุลใกล้เคียงที่เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ (herbaria) ในต่างประเทศหลายแห่ง
คือ สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, สวนพฤกษศาสตร์กรุงนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมิทโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา, สวนพฤกษศาสตร์คุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐ ประชาชนจีน, มหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ไม่ปรากฏว่ามีตัวอย่างพรรณไม้ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับพรรณไม้ชนิดนี้ อีกทั้งยังไม่เคยปรากฏชื่อหรือรายงานลักษณะรูปพรรณของพรรณไม้ชนิดนี้มาก่อน จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า น่าจะเป็นโมกมันชนิดใหม่ของโลก
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปสำรวจถิ่นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้อีกครั้ง ณ สถานที่เดิม ในช่วงเวลาที่ห่างกันถึง 29 ปี, เป็นที่น่ายินดีว่า สภาพป่าละเมาะและภูมิประเทศภูเขาหินปูนที่ล้อมรอบวัดพระพุทธบาทยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติเช่นเดิม ได้พบต้นไม้ที่เก็บตัวอย่างครั้งแรก และต้นอื่น ๆ บางต้นกำลังออกดอกและติดผล
จึงได้เก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งเพิ่มเติม ร่วมกับ ดร. ดี.เจ. มิดเดิลตัน และนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้. จากการศึกษาตัวอย่างพรรณไม้ที่สมบูรณ์อีกหลายตัวอย่าง จึงหาข้อยุติและสรุปได้ว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในสกุลโมกมันวงศ์ลั่นทมวงศ์ย่อย Apocynoideae.
พรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุลโมกมัน มีลักษณะเด่นของรยางค์กลีบดอกที่ยาวเรียวเป็นริ้วแตกแขนงจำนวนมาก แตกต่างจากพรรณไม้ชนิดอื่นของสกุลอย่างเด่นชัด. ชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงได้แก่ Wrightia antidysenterica (L.) R.Br. ของ ประเทศศรีลังกา
พรรณไม้ชนิดใหม่มีสถานสถานภาพเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (endemic species) ที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์, กรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุลโมกมัน ในพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk หรือ "โมกราชินี"
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, จากการที่พระองค์ท่านได้ทรงสนับสนุนและทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเพื่อความเป็นสิริมงคลในวงการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย.
รายละเอียดของโมกราชินีได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารพฤกษศาสตร์สากล Thai Forest Bulletin (Botany)” ของกรมป่าไม้ ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก
ลักษณะทั่วไป โมกราชินี, โมกสิริกิติ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk
วงศ์ Apocynaceae วงศ์ย่อย Apocynoideae
ต้น : มีลักษณะเป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็ก, สูงประมาณ 4-6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 16-24 เซนติเมตร, ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน มีตุ่มใหญ่หนาแน่น, เปลือกในสีเขียวอ่อน. ลำต้นแตกกิ่งต่ำ กิ่งแขนงระเกะระกะ, พุ่มเรือนยอดรูปทรงกลมค่อนข้างโปร่ง, กิ่งอ่อนมีขนบางๆ ปกคลุมประปราย, กิ่งแก่เกลี้ยง สีน้ำตาล มีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบ : ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ในระนาบเดียวกัน, ก้านใบยาว 4-8 มิลลิเมตร, ใบรูปรี ยาว 2.6-8.3 เซนติเมตร กว้าง 1.7-3.9 เซนติเมตร, ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ, โคนใบสอบแหลมหรือมน, ขอบใบเรียบ, ผิวใบด้านบนและด้านล่างสีเขียวสด, เส้นกลางใบด้านบนเรียบเสมอผิวใบหรือเป็นแอ่งลงไปเล็กน้อย ด้านล่างจึงนูนออกเป็นสัน, เส้นแขนงใบมี ๘-๔ คู่ เส้นใบเป็นแบบร่างแห. ผิวใบด้านบนมีขนสั้นห่างๆ ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบบางเส้น, ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขน มากกว่าส่วนอื่น
ดอก :- ดอกสีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง ช่อละ 4-8 ดอก
- ช่อดอกยาว 3.9-5.1 เซนติเมตร, ก้านช่อดอกยาว 2-6 มิลลิเมตร.
- ใบประดับขนาดเล็ก หลุดร่วงง่าย.
- ก้านดอกยาว 5-12.5 มิลลิเมตร มีขนประปรายเช่นเดียวกับก้านช่อดอก
- ดอกมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมากบนต้นเดียวกัน
- กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันที่โคน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ยาว 2-2.1 มิลลิเมตร กว้าง 1.6-1.7 มิลลิเมตร, ปลายมน, ผิวด้านนอกมี ขนประปราย ด้านในเกลี้ยง ขอบกลีบมีขนห่างๆ, โคนกลีบเลี้ยงด้านใน แต่ละกลีบมีต่อมนูน 2 อัน สูงประมาณ 0.9-1.2 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.9-1 มิลลิเมตร.
- กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปแจกัน เป็นหลอดทรงกระบอกแคบ ยาว 1.4-1.7 เซนติเมตร, กว้างที่สุดตอนโคนและคอดแคบกว่าตรงหลอดส่วนบน, ปลายหลอดแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่หรือรูปขอบขนาน, ปลายมน ยาว 1.4-2.5 เซนติเมตร กว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร มีขนสั้นละเอียดประปรายทั้ง 2 ด้าน.
- รยางค์ของกลีบดอกมีจำนวนมาก เรียงเป็น 3 ชั้น โคนก้านติดที่ฐานของแฉกกลีบดอก ลักษณะเป็นเส้นยาวเรียว, รยางค์ 2 ชั้นนอกยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ส่วนบนแยกเป็น 2 แฉก, ปลายเป็นตุ่มมน. รยางค์ชั้นในสุดเป็นเส้นเดียว ไม่แยกเป็นแฉก ยาว 1.7-6 มิลลิเมตร ปลายเป็นตุ่มมน.
- เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ที่ส่วนบนของหลอดกลีบดอกด้านใน ก้านชูเกสรสั้นมาก ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูรูปกรวยแหลม ยาว 9 มิลลิเมตร กว้าง 2.6 มิลลิเมตร อับเรณูทั้ง 5 อันประกบกันเป็นรูปเจดีย์ คลุมยอดเกสรเพศเมีย, รังไข่มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นทั่วไป ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.7 เซนติเมตร มีขนเช่นกัน, ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม.
ผล : ผลออกเป็นฝักคู่ รูปคล้ายกระบองยาว, ติดกันสั้นๆ ที่โคน,ปลายแยกห่างออกจากกันจนตั้งฉากซึ่งกันและกัน หรือมากกว่า, ฝักยาว 8.5-14 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ผิวนอกมีช่องอากาศเป็นตุ่มกระจัดกระจาย, ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลอ่อน แตกออกตามตะเข็บด้านในเมื่อฝักแห้ง, ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก, รูปไข่แบน ยาว 1.4-1.6 เซนติเมตร กว้าง 2.4-2.8 มิลลิเมตร. ปลายเมล็ดเป็นกระจุกพู่ขน ยาวประมาณ 2.6-2.9 เซนติเมตร พู่กระจุกขนแผ่ออกเป็นรัศมี ปลายลู่ลงสู่พื้น
ถิ่นกำเนิด : พบขึ้นห่าง ๆ ไม่กี่ต้น ตามซอกหินของภูเขาหินปูนที่แห้งแล้ง ในป่าละเมาะผลัดใบตามธรรมชาติ รอบอาณาเขตวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพียงแห่งเดียว, จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทย, มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก, ออกดอกและเป็นผลในช่วงฤดูร้อน, ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง เหมาะสำหรับนำมาส่งเสริมปลูกเป็นพรรณไม้ประดับพื้นเมืองของประเทศไทย. เนื้อไม้ลักษณะคล้ายไม้โมกมัน
เอกสารอ้างอิง:
- Middleton DJ. Apocynaceae. In: Santisuk T, Larsen K, editors. Flora of Thailand 1999; 7 (Part 1): 1-153.
- Middleton DJ, Santisuk T. A new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 2001; 29(August): 1-10
บทความโดย ธวัชชัย สันติสุข (บรรยายในการประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2544)
แหล่งที่มา : วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2545