Lazada Birthday

» วันเกิดลาซาด้า! ลดแรงกว่า 90%*

24 - 27 มี.ค. นี้เท่านั้น (จำนวนจำกัด)

✓ต้นไม้: หมากผู้หมากเมีย Cordyline ต้นไม้มงคลปลูกในบ้าน

ต้นไม้ประดับ 'หมากผู้หมากเมีย' ไม้ใบมงคลปลูกในบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyline fruticosa ภาษาอังกฤษ ถิ่นกำเนิด ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีปลูก ดูแล ขยายพันธุ์ ซื้อที่ไหน ราคา ...

หมากผู้หมากเมีย

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "หมากผู้หมากเมีย" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) ยังมีชื่ออื่น ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น มะผู้มะเมีย, หมากผู้ เป็นต้น

"หมากผู้หมากเมีย" ไม่ใช่พรรณไม้พื้นเมืองของไทย เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยนานแล้ว ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีความหลากหลายสายพันธุ์มาก

หมากผู้หมากเมีย Cordyline ต้นไม้มงคลปลูกในบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ, ชื่อพ้อง

  • หมากผู้หมากเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Cordyline fruticosa (L.) A.Chev.
  • อยู่ในวงศ์ Asparagaceae
  • มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Palm lily, Good luck plant, Cabbage palm, Red Dracaena, Polynesian, Ti Plant
  • มีชื่อพ้อง (Synonyms) คือ
    • Convallaria fruticosa L. 
    • Cordyline terminalis (L.) Kunth 
ต้นหมากผู้หมากเมีย ไม้มงคล ปลูกในบ้าน
ภาพ :oer.learn.in.th

สกุล Cordyline Comm. ex R.Br. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Liliaceae, Agavaceae หรือ Laxmanniaceae ซึ่ง 2 วงศ์สุดท้ายปัจจุบันเป็นวงศ์ย่อยของวงศ์ Asparagaceae มีประมาณ 20 ชนิด

พบในอเมริกาใต้ เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก และออสเตรเลีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kordyle” กระบอง ตามลักษณะลำต้นหรือราก

ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หมากผู้หมากเมีย

ต้นหมากผู้หมากเมีย มีลักษณะเป็น ไม้พุ่ม ลำต้นตรงหรือแตกกิ่ง สูง 1–3 ม. มีรอยการติดของใบชัดเจนรอบลำต้น ส่วนมากต้นหมากผู้หมากเมียจะมีลำต้นเดี่ยว แต่บางพันธุ์มีกิ่งแขนงแตกออกจากลำต้นเดิมได้ ฟอร์มทรงต้นโปร่งเพรียว มีความสูงของต้นขนาดเล็กสุด ประมาณ 7.5-10 เซนติเมตรจนถึงต้นขนาดใหญ่สุด คือประมาณ 10.5-12.0 เมตร

ต้นหมากผู้หมากเมีย

ต้นหมากผู้หมากเมีย หากดูเผินๆ จะมีลักษณะคล้ายๆกับพรรณไม้ในสกุล Dracaena แต่จะมีความแตกต่างตรงที่"ราก" คือรากของต้นหมากผู้หมากเมียจะมีสีขาว ในขณะที่รากของพรรณไม้ในสกุล Dracaena รากจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม ซึ่งความหลากหลายของต้นหมากผู้หมากเมีย มีทั้งชนิดที่เป็นไม้ยืนต้น และไม้พุ่ม

ใบหมากผู้หมากเมีย ใบเรียงหนาแน่นที่ยอด รูปใบหอก ยาว 25–50 ซม. ก้านใบยาว 10–30 ซม. โคนพองหุ้มลำต้น เรียงซ้อนก้านใบอื่น ปลายเป็นติ่งแหลม แผ่นใบสีเขียวหรือมีลายหลากสี เป็นร่องด้านบน เส้นแขนงใบเรียงขนานยาวจรดปลายใบ มีเส้นแขนงใบแยกออกจากเส้นกลางใบประมาณจุดกึ่งกลาง

ลักษณะใบหมากผู้หมากเมีย ใบจะแตกออกจากส่วนยอดของลำต้นหรือส่วนยอดของกิ่งแขนง ลักษณะปลายใบแหลม ใบหนา เนื้อใบอ่อนนุ่ม โคนก้านใบเรียบ สีสันของใบมีสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ใบสีเขียวแก่ สีเขียวอ่อน สีชมพู สีแดงหรือ มีหลากหลาย ๆ สีรวมกันในใบเดียว

ดอกหมากผู้หมากเมีย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดของลำต้น ยาว 30–60 ซม. ช่อแขนงยาว 6–13 ซม. ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 4 มม. มีข้อใกล้ปลายก้านดอก ใบประดับ 3 ใบ รูปไข่ ยาว 2–3 มม. ขอบบาง ปลายแหลมยาว

ดอกมีขนาดเล็กกลีบสีแดงอมม่วง สีชมพูหรือขาว ดอกสีแดง เหลือง หรือสีม่วงอมน้ำเงิน กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง หลอดกลีบยาว 5–6 มม. แผ่นกลีบยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก มักพับงอกลับ

เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดภายในคอหลอดกลีบดอก ยื่นพ้นหลอดกลีบดอกเพียงเล็กน้อย อับเรณูติดไหวได้ รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเป็นตุ่มขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ส่วนใหญ่มักจะออกดอก ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ผลหมากผู้หมากเมีย

ผลหมากผู้หมากเมีย ผลแห้งแตก เปลือกหนา สีแดง มีหลายเมล็ด เมล็ดหมากผู้หมากเมีย เมล็ดสีดำ มีสาร Phytomelanin เคลือบ

ประโยชน์ หมากผู้หมากเมีย สรรพคุณ ทางสมุนไพร

หมากผู้หมากเมีย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้มงคล เชื่อกันว่าเป็นต้นไม้นำโชค แม้แต่เชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ก็ยังมีชื่อว่า Good luck plant ต้นไม้แห่งความโชคดี

สรรพคุณ หมากผู้หมากเมีย

สรรพคุณของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา คือ ใบ ต้มเอาน้ำดื่ม ขับพิษไข้หัว แก้ตัวร้อน มักใช้รวมกับใบมะยม แช่น้ำทิ้งไว้อาบ แก้อาการคันตามผิวหนัง และเด็กที่ออกไข้ออกผื่น เช่น เหือด หัด อีสุกอีใส ดำแดง

สารสำคัญ ใบหมากผู้หมากเมีย มีสารสำคัญ ได้แก่ Phenois, Amino acid และน้ำตาล

คำเตือน : การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ การนำยาสมุนไพรมาใช้จะต้องได้รับคำปรึกษา การจัดยา วิธีการปรุง และวิธีการใช้ โดยแพทย์แผนไทยหรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีพิษ มีวิธีการกำจัดพิษหรือปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไป

ต้นหมากผู้หมากเมียมีมากมายหลายพันธุ์มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะรูปร่างของใบได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. กลุ่มหมากผู้หมากเมียใบหนา แผ่กว้างรูปใบพาย ปลายใบมักพนมแหลม กวักหรือปลายใบงอนหงาย
  2. กลุ่มหมากผู้หมากเมียใบรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม เอี้ยวบิด
  3. กลุ่มหมากผู้หมากเมียใบเหมือนใบอ้อย แผ่นใบยาวเรียวแหลมมาก แผ่นใบโค้งรัศมีครึ่งวงกลม
  4. กลุ่มหมากผู้หมากเมียใบเรียวแหลมแคบ รูปเข็ม แผ่นใบมักเอี้ยวทั้งใบ
  5. กลุ่มหมากผู้หมากเมียใบแคบเรียวยาว แตกกิ่ง เช่น Cordyline australis

หมากผู้หมากเมียด่าง

'หมากผู้หมากเมียด่าง' เกิดจากการกลายพันธุ์ (Mutation) มาจากต้นหมากผู้หมากเมีย(พันธุ์ปลูกเป็นไม้ประดับ) ซึ่งเกิดการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะลวดลายสีสันของใบ แตกต่างไปจากปกติ ที่เรียกว่าเกิด "ลักษณะด่าง (Variegated)

หมากผู้หมากเมียด่าง Cordyline fruticosa (Variegated)

'หมากผู้หมากเมียด่าง' ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cordyline fruticosa (L.) A.Chev. 'Variegata' (คอร์ดี้ไลน์ ฟรุตติโคซา วาริกาต้า) พืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพันธุ์ปลูกในกลุ่มพืชดอก Angiosperms โดยอยู่ในสกุลคอร์ดี้ไลน์ Cordyline ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ Asparagaceae. มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Variegated Ti Plant, Variegated Good-Luck Plant

จากความผิดปกติกลายเป็นลักษณะเด่นของ 'หมากผู้หมากเมียด่าง' คือ แต่ละใบมีลวดลายแตกต่างกันไป สีพื้นเป็นสีเหลืองนวล สว่างสดใส ตัดกับลวดลายสีเขียวเข้มและอ่อน ลายคมชัดเจน สวยงามมาก

ต้นหมากผู้หมากเมียด่าง เหมาะสำหรับใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือเป็นไม้สะสมสำหรับนักสะสมพรรณไม้ด่าง ซึ่งข้อดีของหมากผู้หมากเมียด่าง คือ ปลูกเลี้ยงง่าย สามารถปลูกเป็นไม้กระถางได้

การปลูกเลี้ยงและดูแล ต้น'หมากผู้หมากเมียด่าง'ให้เจริญสมบูรณ์งอกงามดี สามารถปลูกเป็นพรรณไม้ Houseplants คือสามารถปลูกในอาคารได้ ปลูกในบ้าน ห้องพัก คอนโด หรือปลูกในห้องนอนก็ได้

แนะนำให้วางกระถางไว้ริมหน้าต่าง หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดครึ่งวัน จะช่วยให้ยิ่งมีสีสันเหลืองสว่างสดใสสวยงามได้มากยิ่งขึ้น ถ้าได้รับแสงแดดมากเกินไป อาจใบไหม้ได้ง่าย

หมั่นตัดแต่งกิ่งและตัดใบที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป และควรหมั่นสังเกตไรแดง หรือ ไรแมงมุม ที่มาแอบอยู่ตามใต้ใบเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงพืชจนเกิดบาดแผล และทำลายใบจนเสียหาย

การปลูกต้นหมากผู้หมากเมีย

การปลูกต้นหมากผู้หมากเมีย
image : plantsam.com

ปัจจุบันต้นหมากผู้หมากเมีย จัดว่าเป็นพรรณไม้ใบประดับที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากใบมีสีสันสดใสสวยงาม มีลักษณะใบให้เลือกหลากหลาย ปลูกเลี้ยงง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี จึงนิยมนำมาปลูกกันมากขึ้น

ข้อดีของต้นหมากผู้หมากเมีย คือสามารถปลูกได้ทั้ง ปลูกลงดินเป็นไม้ประดับสวน ปลูกเป็นไม้กระถาง วางประดับทั้งภายในและภายนอกอาคาร อีกทั้งต้นหมากผู้หมากเมียยังเป็นไม้ตัดใบเศรษฐกิจหนึ่งในบรรดาไม้ใบที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ดังเช่น โกสน วาสนา สาวน้อยประแป้ง เป็นต้น

จุดเด่นของต้นหมากผู้หมากเมีย อยู่ที่สีสันของใบเป็นสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับไม้ใบประดับในอาคารหรือที่ร่มรำไรชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ใบมักจะมีสีเขียวเป็นหลัก ในขณะที่ใบของหมากผู้หมากเมีย ไม่ได้มีแต่สีเขียวเพียงสีเดียว แต่มีหลายหลายสี ซึ่งสามารถเพิ่มสีสันให้ภายในบ้าน อาคาร สำนักงาน ร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ให้สวยงามมากขึ้น

วิธีปลูก ต้นหมากผู้หมากเมีย

ดินปลูก สำหรับปลูกต้นหมากผู้หมากเมีย ประกอบด้วย

  1. ดินร่วน 3 ส่วน
  2. กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
  3. ใบก้าบปู 1 ส่วน
  4. ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

การดูแล ต้นหมากผู้หมากเมีย

การใส่ปุ๋ยต้นหมากผู้หมากเมีย ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 ใส่ทางดิน หรือปุ๋ยละลายช้า สูตร 14-14-14 และฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้น

วิธีขยายพันธุ์หมากผู้หมากเมีย

1. วิธีปักชำลำต้นหมากผู้หมากเมีย

ตัดลำต้นหมากผู้หมากเมีย เลือกต้นที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ทาลอยแผลด้วยปูนแดงให้แห้ง ปักชำในขุยมะพร้าว หรือทรายผสมขี้เถ้าแกลบ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 30 วัน กิ่งชำก็ออกราก แตกยอดใหม่ ย้ายลงปลูกในดินปลูกต่อไป

2. การตอนยอดหมากผู้หมากเมีย

การเตรียมสร้างบาดแผลที่ยอด โดยการปาดขึ้นเป็นปากฉลามแล้วใช้ไม้สอดให้แผลเปิดออก หรือ กีดตามยาวยอดให้แผลลึกจนถึงเนื้อไม้ แผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร รอบกิ่งใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำใส่ถุงพลาสติก หุ้มบริเวณรอยแผล มัดด้วยเชือกฟางประมาณ 30-45 วัน เริ่มออกรากแล้วตัดปลูกในดินผสมต่อไป

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
  3. Plants of the World Online | Kew Science by Royal Botanic Gardens, Kew.
  4. The IUCN Red List of Threatened Species.

รายละเอียดเพิ่มเติม