✓อุปกรณ์ป้องกันพิษ ป้องกันอันตราย จากสารเคมีกำจัดแมลง?
คำแนะนำ การป้องกันอันตรายจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การใช้สารเคมีกำจัดแมลงอย่างปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม
อุปกรณ์ป้องกันพิษ สารเคมี
1. ชุดป้องกันสารเคมี
ชุดป้องกันอันตรายจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่เหมาะสม ที่ได้มาตรฐาน ต้องเป็นชุดในลักษณะที่ปกคลุมทุกส่วนของร่างกาย (coverall) หรือเป็นชุดที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีได้ มีความคงทนและสามารถซักล้างได้ง่าย
2. ถุงมือ
ถุงมือป้องกันสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีหลายชนิดและหลายรูปแบบ ถุงมือที่ดีจะต้องป้องกันตัวทำละลายที่ผสมในสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่มีราคาแพง ถุงมือราคาถูกที่จำหน่ายในท้องตลาด ส่วนมากจะไม่ทนทานต่อสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดเข้มข้น ถุงมือที่ทำจากพลาสติกผสมยางจะป้องกันสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด
ก่อนใช้ถุงมือทุกครั้ง ควรตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการชำรุดหรือไม่ โดยเฉพาะตามซอกนิ้วมือ หากชำรุดมีรอยแตกหรือรั่ว ควรเปลี่ยนคู่ใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานต้องล้างมือและทำความสะอาดถุงมือทั้งภายนอกและภายใน ตากให้แห้งแล้วใช้แป้งโรยภายในทำให้ง่ายต่อการสวมใส่ในครั้งต่อไป
3. รองเท้าบูท
รองเท้าหุ้มข้อ หรือที่รู้จักกันทั่ว ๆ ไป คือ รองเท้าบู๊ท มีจำหน่ายหลายชนิดและหลายรูปแบบเช่นกัน การใช้งานควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในนาข้าว ควรเลือกใช้รองเท้าบู๊ทที่มีความสูงปิดถึงครึ่งน่อง กระชับ และไม่มีซับใน มีความสะดวกต่อการเดินในสภาพนาข้าว
เมื่อใช้ต้องสวมให้ขากางเกงคลุมไว้ภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชไหลซึมลงภายในรองเท้าและสัมผัสกับร่างกายได้ ต้องล้างและทำความสะอาดทุกครั้งหลังเลิกงาน และควรตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ หากชำรุดควรเปลี่ยนคู่ใหม่ทันที
4. อุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจ
อุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
-
4.1 หน้ากากชนิดใช้แล้วทิ้ง
หน้ากากชนิดใช้แล้วทิ้ง ที่เหมาะสมสำหรับพ่นสารควบคุมแมลงจะต้องประกอบด้วยตัวกรอง 2 ส่วน คือ ชั้นแผ่นกรอง ที่ทำจากเส้นใยไม่ถักทอกรองฝุ่นและละอองยาฆ่าแมลง และชั้นกรองคาร์บอน ที่แทรกอยู่ตรงกลางของชั้นแผ่นกรองสำหรับกรองไอระเหยของยาฆ่าแมลง สำหรับผงคาร์บอนนั้นจะทำมาจากกะลามะพร้าว โดยนำไปเผาและกระตุ้นเพื่อให้เกิดรูพรุนโดยใช้ไอน้ำอุณหภูมิสูง (800 - 900 องศาเซลเซียส) หรือใช้ไนโตรเจนจนได้ผงคาร์บอนที่มีรูพรุนสูงเพื่อจับไอระเหยของสารอินทรีย -
4.2 หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรอง
หน้ากากชนิดเปลี่ยนไส้กรองที่เหมาะสมสำหรับพ่นสารควบคุมแมลงจะต้องประกอบด้วยตัวกรอง 2 ส่วน คือแผ่นกรอง และตลับกรองคาร์บอน
5. ครอบตานิรภัย
ครอบตานิรภัย เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยป้องกันหรือเพื่อลดอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นในขณะทำงาน ดังนั้นจึงควรสวมขณะทำการเตรียมหรือพ่นสารควบคุมแมลงเพื่อป้องกันการซึมผ่านบริเวณดวงตาและผิวหนังโดยรอบ
สำหรับเกณฑ์ในการเลือกครอบตานิรภัย มี 5 ประการ ดังนี้
- ควรเลือกชนิดที่มีกรอบกระชับ แข็งแรง เหมาะกับการสวมใส่ในการทำงาน
- ควรเลือกชนิดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายได้สูงสุดและใช้งานได้ตลอดเวลา ตลอดจนผ่านการทดสอบมาตรฐานและแสดงสัญลักษณ์จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น สัญลักษณ์ Z87+ หมายถึง ผ่านมาตรฐานทดสอบสำหรับอุปกรณ์ปกป้องใบหน้าและดวงตาของสหรัฐอเมริกา
- มีขนาดที่กว้างใหญ่พอดีกับขนาดของรูปหน้าและจมูกโดยวัดระยะห่างของช่วงตาลบด้วยความกว้างของจมูกจะเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางที่ยาวของเลนส์ที่จะใช้
- สามารถทำความสะอาดได้ง่ายเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีและไม่ติดเชื้อได้ง่าย
- ทนความร้อนไม่ติดไฟง่าย
6. ผ้ากันเปื้อน
โดยทั่วไปใช้ผ้ากันเปื้อนในขณะที่ผสมหรือถ่ายเทสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชลงในภาชนะอื่น หรือใช้ขณะที่ล้างทำความสะอาด ผ้ากันเปื้อนทำด้วยพลาสติก ยาง หรือโพลีเอทธีลีน การป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ควรออกแบบให้ปิดด้านหน้าตั้งแต่คอลงไปถึงหัวเข่า
บางท้องที่เกษตรกรใช้ผ้าพลาสติกผูกติดกับหน้าท้องคลุมลงถึงหน้าแข้งเพื่อป้องกันสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่พ่นกับพืชที่มีทรงพุ่มหนาทึบ เช่น การพ่นสารควบคุมแมลงศัตรูฝ้ายและข้าว
จากการทดลองพบว่า ปริมาณสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจะติดจากส่วนล่างของร่างกายขึ้นมายังส่วนบนของร่างกายตามความสูงของต้นพืช เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ถ้าหากเกษตรกรไม่มีชุดเสื้อผ้าป้องกันสารพิษ อาจใช้ผ้าพลาสติกปกปิดส่วนของร่างกายที่จะสัมผัสกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ตามสมควร
7. ข้อแนะนำสำหรับการพิจารณาเลือกชุดและอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ
ในกรณีที่ไม่มีชุด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชควรเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นแทน อย่างน้อยก็จะช่วยลดการปนเปื้อนของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ระดับหนึ่ง มีข้อแนะดังนี้
7.1 สำหรับชุดปฏิบัติงาน เมื่อต้องการใช้งาน ควรเลือกใช้ชุดที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีความสบายเมื่อสวมใส่ แนะนำให้ใช้ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือสารสังเคราะห์อื่น
- สามารถปกปิดอวัยวะต่าง ๆ ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกาย และควรสวมหมวกเพื่อป้องกันสารเคมีตกลงบนศีรษะ
- ชุดปฏิบัติงานต้องไม่หนามากเกินไป และมีน้ำหนักพอสมควร
- ชุดปฏิบัติงานต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ขาด
- ควรแยกทำความสะอาดเสื้อผ้าชุดปฏิบัติงาน ไม่ควรปะปนกับเสื้อผ้าที่ใช้ประจำวัน
7.2 ชุดผ้าสำหรับป้องกันสารเคมี ควรเลือกใช้ชุดที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
- เมื่อปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ควรใส่ชุดที่ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าใยสังเคราะห์
- ชุดที่ปกคลุมทุกส่วนของร่างกาย (coveralls) เป็นชุดที่เหมาะสมที่สุด ควรเป็นชุดที่ใช้กระดุมหรือยางยืดที่บริเวณข้อมือและคอ และไม่ควรมีกระเป๋า
- ชุดป้องกันที่ทำเป็น 2 ส่วน เสื้อ และกางเกง ควรใช้ตามเช่นเดียวกับชุดปฏิบัติงาน
7.3 ผ้ากันเปื้อน
ผ้ากันเปื้อนที่ใช้เพื่อป้องกันสารเคมีบริเวณด้านหน้าของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณหน้าอกจนถึงหัวเข่า หากไม่มี แนะนำให้ใช้พลาสติกแทน
ที่มา: สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์ ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และพฤทธิชาติ ปุญวัฒโท. 2563 เอกสารวิชาการ คำแนะนำการป้องกันแมลง-สัตว์ศัตรูพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากงานวิจัย. กลุ่มบริหารศัตรูพืช/กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร. 230 หน้า.