Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นปาหนันช้าง ดอกปาหนันช้าง มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลปาหนัน?

หากกล่าวถึงพรรณไม้ที่มี ดอกใหญ่ที่สุดในโลกในสกุลปาหนัน รวมทั้งมี ดอกขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์กระดังงา บรรดานักสำรวจและผู้ชื่นชอบพรรณไม้ คงจะต้องเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันถึงชื่อของ "ปาหนันช้าง " ไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย ดอกใหญ่ที่สุดในสกุลปาหนันและในวงศ์กระดังงา ดอกมีกลิ่นหอม

ปาหนันช้าง

ปาหนันช้างเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่มีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูง 50-400 ม. บริเวณจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ปาหนันช้าง ดอกปาหนันช้าง
photo by Bunga Raya

ส่วนในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ปาหนันช้างเป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่โดดเด่น โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม ปาหนันช้างจะออกดอกสีเหลืองอร่ามงามสะพรั่งเต็มต้น ส่งกลิ่นหอมเย้ายวน เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ที่พบเห็น

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนผลของปาหนันช้าง จะเริ่มติดผลหลังจากที่ดอกบานไปแล้ว โดยจะเจริญเติบโตอย่างช้าๆ และแก่ ในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของปีถัดไป

นับเป็นพรรณไม้ที่มีช่วงระยะเวลาติดผลยาวนานถึง 10 เดือน นอกจากนี้ปาหนันช้างยังเป็นพรรณไม้ที่มีจำนวนเมล็ดมาก แต่กลับมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติน้อย

เนื่องจากเมื่อเมล็ดใกล้แก่จะมีหนอนผีเสื้อเจาะเข้าไปกัดกินต้นอ่อนที่อยู่ภายในเมล็ด ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้

แต่ขณะนี้ได้มีการใช้วิธีขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งในระบบพ่นหมอก ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และได้ผลดี จึงช่วยให้จำนวนต้นกล้าของปาหนันช้างมีมากขึ้น และสามารถนำไปปลูกจนแพร่หลายไปทั่วประเทศ

แนะนำต้นไม้ดอกหอม ในสกุลปาหนัน Goniothalamus

ปาหนันร่องกล้า

ปาหนันร่องกล้า Goniothalamus rongklanus R.M.K. Saunders & Chalermglin) วงศ์ Annonaceae ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-7 เมตร ดอกสวยงาม บานนาน 2-3 วัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ ชื่อปาหนันร่องกล้า บ่งบอกถึงสถานที่พบพรรณไม้ชนิดนี้ ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ. พิษณุโลก

ปาหนันปุ่มราก

ปาหนันปุ่มราก Goniothalamus ridleyi King วงศ์กระดังงา สกุลปาหนัน ที่หายากที่สุด ออกดอกดกเป็นกระจุก ตามราก ลำต้น ดอกสีแดงสวยงาม ไม้ภาคใต้ของไทย

ต้นข้าวหมาก (ข้าวหลาม)

ต้นข้าวหมาก (ข้าวหลาม) Goniothalamus tamirensis Pierre ex Finet & Gagnep. วงศ์ Annonaceae ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายจำปีแขก ดอกขนาดเล็กกว่าข้าวหลามดง ไม้หายาก น่าปลูกอีกตัว ชอบร่มรำไร ออกดอกง่าย

ความแตกต่าง "ปาหนันช้าง" กับ "ปาหนันพรุ"

เคยมีความเข้าใจที่ไม่กระจ่างชัดถึงความแตกต่างระหว่าง"ปาหนันช้าง" และ"ปาหนันพรุ" มาเป็นเวลานาน เนื่องจากพรรณไม้ทั้งสองมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

อย่างไรก็ตามถ้าได้มีการศึกษากันอย่างละเอียด จะพบข้อแตกต่างมากมาย เช่น ปาหนันช้างมีกลีบดอกกว้างและยาวได้ถึง 18 ซม.

ขณะที่ปาหนันพรุมีกลีบดอกยาวเพียง 8-10 ซม. ส่วนผลของปาหนันช้างจะมีรูปกลมรีเปลือกย่นขรุขระเป็นตุ่มขนาดเล็ก ขณะที่ปาหนันพรุมีผลรูปทรงกระบอก เปลือกเรียบเป็นมัน ด้วยความที่ปาหนันช้างมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม จึงได้รับความนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับกันมาก

ปัจจุบันมีการคัดพันธุ์ต้นที่มีลักษณะเตี้ย ดอกดก มีดอกขนาดใหญ่ และออกดอกได้เกือบตลอดปี มาขยายพันธุ์ จนได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ถือเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้หายากที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง

ลักษณะพรรณไม้ของปาหนันช้าง

ปาหนันช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Goniothalamus giganteus Hook.f. & Thomson อยู่ในวงศ์กระดังงา Annonaceae

ต้นปาหนันช้าง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 6-12 ม. แตกกิ่งน้อย เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ เปลือกลำต้นหนาเรียบ สีขาวปน น้ำตาล ฉ่ำน้ำ ใบเดี่ยว รูปหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-25 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบเป็นติ่งแหลมยาว ผิวใบเป็นมันเรียบทั้งสองด้าน

ดอกปาหนันช้าง ออกดอกเป็นเดี่ยวหรือเป็นช่อ 2-3 ช่อ ออกตามกิ่งแก่เหนือรอยแผลของก้านใบ ดอกสีเขียว เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกรูปไข่ ขอบกลีบเป็นคลื่น กลีบชั้นในรูปไข่ ปลายแหลม และประกบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม

ผลปาหนันช้าง เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 8-20 ผล เปลือกผลย่น ขรุขระเป็นตุ่มขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว มี 1-2 เมล็ดต่อผล ลักษณะเมล็ด รูปกลมรี ยาว 1-1.5 ซม.

การขยายพันธุ์ สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง

อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

รายละเอียดเพิ่มเติม