ต้นมหาพรหม ไม้มงคลดอกหอม พรรณไม้เฉพาะถิ่นไทย ลักษณะ ออกดอกเดือนไหน?
ข้อมูล ต้นมหาพรหม ชื่อวิทยาศาสตร์ วงศ์กระดังงา พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ต้นไม้มงคล ไม้ดอกหอม วงศ์กระดังงา ประวัติ ลักษณะดอกมหาพรหม ดอกสีขาว ดอกหอม ราคา ...
ต้นมหาพรหม
มหาพรหม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora winitii Craib วงศ์กระดังงา Annonaceae
มหาพรหม เป็นอีกหนึ่งพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาที่มีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบแล้ง ติดต่อกับป่าดิบชื้น ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี ในระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 100 ม. เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยที่จัดเป็นไม้หายากในสภาพถิ่นกำเนิด
มีการสำรวจพบต้นมหาพรหมครั้งแรก โดยอำมาตย์เอกพระยาวินิจวนันดร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2464 ในป่าดิบชื้น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ระดับความสูง 80 ม. จึงได้มีการตั้งชื่อระบุชนิดให้เป็นเกียรติแก่ท่านในปี 2465
photo by Charini Bunkaeo.
เนื่องด้วยมหาพรหมเป็นพรรณไม้ที่นักสำรวจต่างชาติเคยระบุว่า เป็นพรรณไม้ดอกใหญ่ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในถิ่นกำเนิด เป็นเหตุให้นักสะสมพรรณไม้ และผู้ปลูกเลี้ยงมีความต้องการจะนำมาปลูก จึงมีการนำเมล็ดของมหาพรหมไปเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น
โดยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่มและไม้ดอกหอม เนื่องจากมีดอกขนาดใหญ่ ดอกสีขาว กลีบชั้นในสีม่วงแดง สวยงาม และมีกลิ่นหอม ทำให้ปัจจุบัน มหาพรหมเป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ และพ้นจากสภาพพรรณไม้หายากแล้ว
ส่วนข้อแตกต่างระหว่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี ซึ่งเป็นพรรณไม้ในสกุลเดียวกันก็คือ มหาพรหม จะมีใบค่อนข้างกลม เนื้อใบหนา มีขนมาก และมีเส้นใบนูนเด่นชัด เมื่อจับดูใบจะรู้สึกมีความหนานุ่ม แตกต่างจากมหาพรหมราชินีที่มีใบรูปร่างเรียวยาว เนื้อใบบาง แผ่นใบบางเรียบ เป็นมัน ไม่มีขน
นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของแหล่งกำเนิด เนื่องจากมหาพรหมจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ระดับต่ำบนเขาหินปูนใกล้ชายทะเล ขณะที่มหาพรหมราชินีขึ้นอยู่บนภูเขาสูงมากกว่า 1,000 ม. และมีอยู่เฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ พรรณไม้ทั้งสองชนิดจะมีลักษณะเหมือนกันในเรื่องของการเพาะเมล็ด คือเมื่อนำเมล็ดของมหาพรหมและมหาพรหมราชินีมาเพาะและปลูกในที่ราบภาคกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เมล็ดของพรรณไม้ทั้งสองจะงอกและเจริญเติบโตได้ดี สามารถออกดอกได้ทั้งสองชนิด
สำหรับผู้ที่ปลูกต้นมหาพรหมแล้วอยากให้มหาพรหมออกดอกจำนวนมากพร้อมกันทั้งต้น ต้องอาศัยเคล็ดลับเล็กน้อยในการปลูก โดยจะต้องงดการให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เมื่อต้นมหาพรหมมีใบเหี่ยวและทิ้งใบหมดแล้ว จะออกดอกพร้อมกันทั้งต้นในเดือนเมษายน แต่หากมีการรดน้ำเป็นประจำ มหาพรหมจะเจริญเติบโตออกใบอ่อนอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ออกดอก
ลักษณะพรรณไม้ของมหาพรหม
ต้นมหาพรหม มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-12 ม. แตกกิ่งต่ำเปลือกเรียบ สีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นฉุน มีรอยด่างสีเขียวเทา มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามปลาย ใบรูปขอบขนาน รูปหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 6-20 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบรูปหัวใจหรือเบี้ยวเล็กน้อย หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวซีด เนื้อใบหนาและมีขนนุ่มทั้งสองด้าน
ดอกมหาพรหม ออกดอกเป็นเดี่ยวออกตรงข้ามใบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นนอกรูปรีเกือบกลม กลีบดอกสีขาว ยาวได้ประมาณ 4 ซม. กลีบชั้นในรูปไข่กว้าง ประกบกันเป็นรูปกระเช้าสีม่วงแดง ดอกบานอยู่ได้ 1-2 วัน
ผลมหาพรหม เป็นผลกลุ่มมี 10-16 ผล ผลรีเกือบกลม เปลือกผลมีขนนุ่มสีเหลือง มีเมล็ด 8-12 เมล็ด ลักษณะเมล็ด รูปกลมแบน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-9 มม.
การขยายพันธุ์มหาพรหม สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการทาบกิ่ง โดยการทาบกิ่งนิยมใช้ต้นมะป่วนเป็นต้นตอ
อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552