ต้นตะลุมพุก (พุดระฆังเงิน) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร การขยายพันธุ์?
ตะลุมพุก (พุดระฆังเงิน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. & Sastre วงศ์ดอกพุด Rubiaceae ไม้ดอกหอมไทย ...
ต้นตะลุมพุก (พุดระฆังเงิน)
"ตะลุมพุก" หรือชื่อในตลาดต้นไม้ เรียกกันว่า "พุดระฆังเงิน" ยังมีชื่ออื่นอีกหลายชื่อ เช่น มะข้าว หมอกน้ำข้าว (ภาคเหนือ), มะคัง (อุตรดิตถ์), กระลำพุก ตะลุมพุก ลุมพุก มะคังขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันตก), ลุมพุก บักลุมพุก หมากลุมพุก (อีสาน), บักดูก (ศรีสะเกษ), เงี่ยงดุก (มหาสารคาม), หนามลุมพุก (ร้อยเอ็ด)
ตะลุมพุก (พุดระฆังเงิน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. & Sastre วงศ์ดอกพุด Rubiaceae เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย มีดอกสีขาวสวยงาม คล้ายดอกพุด ดอกมีกลิ่นหอม
นอกจากนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ จัดสวนแล้ว บางคนก็นิยมเก็บดอกไปบูชาพระ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากตะลุมพุก โดยนำไปใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อน รสขมอมฝาด เป็นผักสด จิ้มน้ำพริก ปลาแดกบอง ปิ้งปลา ผลสุก รสหวานปนฝาด กินเป็นผลไม้ แต่กินมากอาจเบื่อเมา ผลอ่อน รสมันฝาด สับเป็นชิ้นเล็กๆ กินแกล้มปลาแดกบอง ปิ้งปลา หรือตำส้มใส่มะเขื่อขื่น เป็นต้น
ต้นตะลุมพุก มีแก่นไม้ ที่มีเนื้อแข็งและหนัก จึงนิยมนำไปทำสากตำข้าว และยังมีความเชื่อกันว่า ใช้กิ่งตะลุมพุก นำมาปลุกเสกทำเครื่องราง แล้วผูกคอวัว-ควาย แก้ตาอักเสบในวัว-ควายได้
สรรพคุณ
มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร ยอดอ่อน กินแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย ใช้เปลือกและราก ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อย เปลือกและแก่น ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงแม่ลูกอ่อน ใช้ราก ต้มน้ำดื่มรักษาโรคกระเพาะ ใช้ราก ฝนทารักษาอาการปวดคางทูม แต่ต้องทาแก้มฝั่งตรงข้ามที่เป็นคางทูม หรือทาแก้อาการปวดนมของแม่ลูกอ่อน ให้ทาด้านที่ไม่ปวดนม
ถิ่นอาศัย
ตะลุมพุก มีถิ่นอาศัย ขึ้นในที่โล่งแจ้งของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง หรือในเขตพื้นที่ดอน บริเวณที่มีน้ำท่วมขังชื้นแฉะในฤดูฝน พบทั้งในป่าผลัดใบ ป่าบุ่งป่าทาม และตามทุ่งนา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 ม. ผลัดใบช่วงเดือนมกราคม ออกดอกและติดผลเกือบตลอดทั้งปี กระจายพันธุ์ พบได้ง่าย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และทั่วประเทศ
การแพร่กระจายพันธุ์
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของตะลุมพุก
ต้นตะลุมพุก มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีความสูงประมาณ 4-10 ม. ต้นอายุน้อยเปลือกเรียบ เมื่อแก่จะแตกเป็นสะเก็ด ปลายกิ่งโน้มลงมีเนื้อไม้อ่อนและยืดหยุ่น มีหนามแหลมคมที่ซอกใบ ออกเป็นคู่ ยาว 1-2 ซม. กิ่งแก่หนามจะโตขึ้นเป็นกิ่งย่อย ยาว 2-10 ซม. ตามกิ่งอ่อน ใบ และดอกเกลี้ยง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามและเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งย่อย รูปไข่กลับ-ใบหอกกลับ ยาว 8-17 ซม. ปลายใบแหลม-มน โคนใบสอบ ผิวใบด้านบนมันเงา มีเส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอกตะลุมพุก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่ง ดอกคว่ำลง กลีบเลี้ยงและฐานรองดอกรูประฆัง ยาว 1 ซม. สีเขียว กลีบดอกสีขาว โคนกลีบสีเขียว มี 5-6 กลีบ รูปกลม ปลายกลม โคนซ้อนและเชื่อมติดกัน กลีบดอกบานแผ่ออกเกือบจะแนวระนาบ กว้าง 3-5 ซม. มีกลิ่นหอม อับเรณูรูปแถบ ยาว 1 ซม. ติดที่โคนกลีบ และบิดเล็กน้อย ก้านดอกยาว 1.5-3 ซม.
ผลตะลุมพุก มีลักษณะเป็นผลทรงรี-ไข่ กว้าง 3-5 ซม. ยาว 4-6 ซม. ผิวเกลี้ยง เมื่อสุกสีเหลือง มีเมล็ดจำนวนมาก
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ตะลุมพุก สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยเก็บผลสุกที่หล่นตามโคนต้น มาล้างเมล็ดมาเพาะก็สามารถงอกได้ง่าย
สกุล Tamilnadia Tirveng. & Sastre พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามชื่อรัฐ Tamil Nadu ในอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบพืชสกุลนี้แห่งแรกของโลก
Synonyms
- Catunaregam uliginosa (Retz.) Sivar.
- Gardenia pomifera Wall.
- Gardenia uliginosa Retz.
- Posoqueria uliginosa (Retz.) Roxb.
- Randia uliginosa (Retz.) Poir.
- Solena uliginosa (Retz.) D.Dietr.
- Xeromphis uliginosa (Retz.) Maheshw.
อ้างอิง: หนังสือเผยแพร่; ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน โดย มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล, ศรันย์ จิระกร กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561