Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นโมกเหลือง โมกเฉพาะถิ่นพื้นเมืองของไทย เขาหินปูน ลักษณะ ออกดอกเดือนไหน?

โมกเหลือง จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สำรวจพบครั้งแรก โดย หมอคาร์ ชาวไอริชเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2473 จากอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันพบกระจายอยู่ห่างๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และสระบุรี โดยจะขึ้นตามเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่ชุ่มชื้น ในระดับความสูง 100-800 ม.

โมกเหลือง

โมกเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia viridiflora Kerr จัดเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า เพราะขึ้นอยู่บนเขาหินปูน คนจึงนิยมนำมาปลูกเลี้ยงและตกแต่งเป็นบอนไซหรือไม้แคระ

และเนื่องจากปัจจุบันความต้องการไม้ประดับประเภทบอนไซมีมากขึ้น การไปขุดหาโมกเหลืองจากป่าจึงกระทำได้ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เลียนแบบธรรมชาติโดยการตอนกิ่งหรือปักชำกิ่งโมกเหลืองให้ออกราก แล้วนำมาปลูกเกาะกับก้อนหิน

โมกเหลือง โมกถิ่นเดียวของไทย ดอกสีเหลือง/เหลืองอมเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นตุๆ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

เมื่อโมกเหลืองเจริญเติบโตมากขึ้นก็ดัดแต่งให้มีสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่เป็นไม้เกาะหิน ถือเป็นวิธีการเลียนแบบธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์โดยไม่เข้าไปรบกวนต้นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ช่วยให้ต้นโมกเหลืองในป่าสามารถเจริญเติบโตต่อไปในสิ่งแวดล้อมเดิมได้

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ตกแต่งสวนประดับและทำน้ำตกในบ้าน เหมาะที่จะนำต้นโมกเหลืองมาปลูก เนื่องจากโมกเหลืองชอบขึ้นเกาะหินริมน้ำหรืออยู่ตามซอกหินที่มีไอหมอก

อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงสามารถปลูกต้นโมกเหลืองในบริเวณริมข้างน้ำตกประดับสวนในบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขุดเซาะหินในป่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายธรรมชาติแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

การขยายพันธุ์โมกเหลือง สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด แต่ต้องใช้เวลาปลูกนานมาก กว่าต้นจะโตจนสามารถออกดอกได้ 

ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์กลุ่มโมกที่ชอบขึ้นอยู่บนภูเขาหินปูน เช่น โมกเขา, โมกเหลือง, โมกราชินี และโมกสยาม เมื่อตัดชำกิ่งแล้วนำมาปักลงดินโดยตรง จะตายทั้งหมด หรือมีต้นที่เหลืออยู่น้อยมาก และก็จะพบปัญหาว่า ต้นโมกไม่เจริญเติบโตเมื่อปลูกลงดินโดยตรง

โมกเหลือง โมกถิ่นเดียวของไทย ดอกสีเหลือง/เหลืองอมเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นตุๆ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ดังนั้นวิธีที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์โมกกลุ่มนี้ จึงต้องใช้วิธีการเสียบยอด เพื่ออาศัยรากของไม้ชนิดอื่น โดยใช้พืชในสกุลเดียวกัน คือโมกบ้านและโมกมันเป็นต้นตอ หรือใช้พืชต่างสกุลคือพุดฝรั่งเป็นต้นตอก็ได้ 

รายละเอียดเพิ่มเติม

แล้วนำกิ่งยอดของโมกดังกล่าวแต่ละชนิดมาเสียบยอด ก็สามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกจากการเพาะเมล็ดหรือการปลูกลงดินโดยตรง และยังสามารถออกดอกได้สวยงาม เหมือนกับต้นที่ขึ้นอยู่บนเขาหินปูนตามธรรมชาติ

ลักษณะพรรณไม้ของโมกเหลือง

ต้นโมกเหลือง มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-3 ม. กิ่งแก่เกลี้ยงมีช่องหายใจเป็นขีดนูนสีขาว ใบโมกเหลืองเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปรี ยาว 8-15 ซม. เนื้อใบบาง ปลายใบเป็นติ่งแหลมยาว โคนใบรูปลิ่มหรือมน แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กน้อย

ดอกโมกเหลือง เป็นช่อยาว 1-4 ซม. มีดอกย่อย 5-20 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปถ้วย กลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 1.5 ซม. โคนกลีบดอกมีกระบังเป็นฝอยเล็กๆ ล้อมรอบเกสรเพศผู้และเพศเมียที่อยู่กลางดอก

ผล(ฝัก)โมกเหลือง เป็นฝักคู่ รูปกระสวย ยาว 16-20 ซม. เมื่อแก่แล้วแตกด้านเดียว มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 2.5 มม. ที่โคนมีขนกระจุก ยาวประมาณ 2 ซม.

อ้างอิง* : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

โมกเหลือง โมกพื้นเมืองถิ่นเดียวของไทย ดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อน

โมกเหลืองของไทยมีหลายชนิด การเรียกชื่อรวมๆว่า "โมกเหลือง" จึงอาจสับสนได้ เพราะไม่รู้ว่าหมายถึงโมกเหลืองชนิดใดกันแน่?

โมกเหลืองชนิดนี้ก็เช่นกัน มีจุดเด่นที่น่าสนใจในเรื่องโทนสีของดอก คืออาจมองได้ว่า ดอกสีเหลือง หรือ สีเหลืองอมเขียวอ่อน หรือ สีเขียวอ่อน หรือ สีเขียวอมเหลือง

โมกเหลือง โมกถิ่นเดียวของไทย ดอกสีเหลือง/เหลืองอมเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นตุๆ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ซึ่งผู้ที่ตั้งชื่อ คงอาจมองดูว่าสีเป็นดอกสีเขียว จึงอาจเป็นที่มาของคำระบุชนิด ว่า "viridiflora" ซึ่งมาจากคำว่า viridis=สีเขียว + flora=ดอกไม้ ซึ่งหมายถึง "ดอกไม้สีเขียว" จึงมีบางคนเรียกโมกเหลืองชนิดนี้ว่า "โมกเหลืองเขียว" เพื่อบ่งบอกลักษณะเด่นและเรียกชื่อให้แตกต่างจากโมกเหลืองชนิดอื่น

รายละเอียดเพิ่มเติม

โมกเหลืองชนิดนี้ ดูเผินๆ จะมีลักษณะดอกคล้ายกับดอก"โมกเหลืองหอม" Wrightia laevis Hook.f. ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน

(โดยส่วนตัว: แต่ถ้าจะจับคู่เป็นพี่น้องฝาแฝดกับ "โมกเหลืองหอม" ก็อาจจะเรียกโมกเหลืองชนิดนี้ ว่า "โมกเหลืองเหม็น" ก็คงน่าจะจำง่ายดีนะครับ เพราะดอกมีกลิ่นตุ ๆ ออกไปทางแนวกลิ่นเหม็นหืนมากกว่า ซึ่งกลิ่นแนวนี้อาจถูกสร้างมาเพื่อดึงดูดแมลงบางชนิดที่ชอบกลิ่นแนวๆนี้ก็เป็นได้ครับ)

โมกเหลือง Wrightia viridiflora เป็นพืชถิ่นเดียว(endemic)ของไทย คือในโลกนี้จะพบได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่วนอุทยานสวนหินผางาม อำเภอหนองหิน จ.เลย ภาคเหนือที่ จ.ตาก และ จ.นครสวรรค์ ภาคกลางที่ จ.ราชบุรีและ จ.สระบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบกระจายห่าง ๆ ที่ จ.กาญจนบุรี

โดยโมกเหลืองชนิดนี้ มักชอบขึ้นอยู่ตามหุบเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ความสูง 100-800 เมตร ซึ่งมีนิเวศวิทยาคล้ายๆกับโมกราชินี จึงมีบางคนเรียกว่า "โมกราชินีดอกเหลือง" ด้วยเช่นกัน

ต้นโมกเหลืองมีลักษณะวิสัยเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 ม. เป็นโมกที่เจริญเติบโตช้า ถ้าตัดทุกส่วนที่ยังสดอยู่จะมีน้ำยางสีขาวเหนียวๆ ซึมออกมา ขอบเรียบ เส้นใบข้างละ 5-9 เส้น ก้านใบยาว 2-6 มม.

โมกเหลือง โมกถิ่นเดียวของไทย ดอกสีเหลือง/เหลืองอมเขียวอ่อน ดอกมีกลิ่นตุๆ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ดอกโมกเหลือง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 0.5-1.5 มม. ต่อมโคนกลีบแผ่กว้าง เมื่อดอกบานเป็นดอกรูปกงล้อ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอกสั้นมาก เพียง 1-2 มม. กลีบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4-8 มม. ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม

จุดสังเกตความแตกต่างที่เด่นชัดจากโมกชนิดอื่นๆ คือ มีโคนกลีบดอกมีมงกุฎ (corana) หรือ กระบัง 3 ชั้น กระบังหน้ากลีบดอกเชื่อมติดกับโคนกลีบดอก ยาวไม่เท่ากัน ปลายจักชายครุย ยาว 2.3-4.4 มม. กระบังระหว่างกลีบดอกปลายแยก 2 แฉกลึก ยาว 1.5-3 มม. สั้นกว่ากระบังหน้ากลีบดอก และกระบังย่อยที่อยู่หน้ากระบังกลีบดอก ออกเดี่ยวๆ ยาว 0.8-1.5 มม. เป็นกระบังที่สั้นที่สุดในกระบังอื่นๆ

เกสรเพศผู้ติดบนปากหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 0.6-1 ซม. ด้านหน้าอับเรณูมีขนสั้น ด้านหลังอับเรณูเกลี้ยง รังไข่เกลี้ยง ยาวประมาณ 1 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 3-3.3 มม. รวมยอดเกสร

ผลออกเป็นฝักคู่ ฝักรูปกระสวย กางออก ผิวฝักเกลี้ยง มีช่องอากาศประปราย ยาว 16-20 ซม. ผลแบบแห้งแก่แล้วแตกด้านเดียว ภายในฝักมีเมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 2.5 ซม. ที่โคนเมล็ดมีกระจุกขนฟูๆ ยาวประมาณ 2 ซม.

ผล(ฝัก)โมกเหลือง Wrightia viridiflora
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

สำหรับโมกเหลืองชนิดนี้ การใช้ประโยชน์ในเชิงไม้ประดับ ความสวยงามและกลิ่นหอม อาจจะสู้โมกเหลืองชนิดอื่นไม่ได้

แต่ถ้ามองในเรื่องฟอร์มทรงต้นแนวบอนไซ ลีลา ความแปลกและหายากแล้ว สำหรับนักสะสมพรรณไม้ โดยเฉพาะนักสะสมโมกก็ถือว่าโมกเหลืองชนิดนี้ เป็นโมกหายากที่น่าสนใจมากอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่พบวางขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป จึงมีปลูกเป็นไม้ประดับหรือเป็นไม้สะสมของนักสะสมพรรณไม้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

อ้างอิง :

  1. หนังสือเผยแพร่; พรรณไม้สำคัญในระบบนิเวศเขาหินปูน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว โดย กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561
  2. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  3. ตัวอย่างต้นแบบ (type) เก็บโดยนายพุด ไพรสุรินทร์ หมายเลข Put 3086 เก็บจากมวกเหล็ก สระบุรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2473

รายละเอียดเพิ่มเติม