✓ต้นไม้: ตีนเป็ดพรุ ไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย สกุลตีนเป็ด?

ด้วยความที่ ตีนเป็ดพรุ เป็นพรรณไม้ที่มีเนื้อไม้เบาที่สุดในโลก และไม่ทนแดดทนฝน คนจึงนิยมนำเนื้อไม้ของพรรณไม้ชนิดนี้ไปทำเป็นปีกเครื่องบินจำลอง ประดิษฐ์ของเล่น และบรรจุภัณฑ์ใส่ของต่างๆ รวมทั้งใช้ทำเครื่องเรือนขนาดเล็กเพื่อใช้ในงานตกแต่งภายในอีกด้วย

ตีนเป็ดพรุ

ตีนเป็ดพรุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Alstonia spatulata Blume วงศ์ Apocynaceae เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยในสกุลเดียวกับสัตบรรณ หรือตีนเป็ด มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ เฉพาะในเขตป่าพรุ และพื้นที่ป่าที่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น


ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาสเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า ปูแลบาซา, กระบุย, เซียะ, เทียะ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Siamese balsa ส่วนในต่างประเทศพบในประเทศมาเลเซีย

รายละเอียดเพิ่มเติม

ตีนเป็ดพรุ อยู่ในวงศ์ Apocynaceae เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ดอกออกเป็นช่อสีขาวเช่นเดียวกับตีนเป็ดแคระ ในช่วงหน้าร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ตีนเป็ดแคระจะออกดอกสีขาวเล็กๆ สดใสน่ารักให้ได้ชื่นชม ทั้งยังมีกลิ่นหอมรวยริน เหมาะที่จะปลูกประดับตามบ้านเรือนและอาคารสถานที่

ในปัจจุบันจึงได้มีผู้พยายามนำตีนเป็ดแคระไปปลูกยังนอกถิ่นกำเนิด ซึ่งไม่มีน้ำท่วมขังเหมือนป่าพรุ ก็ปรากฏว่าปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีเช่นเดียวกับต้นกล้าที่เกิดจากการเพาะเมล็ด

เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ตามภาคอื่นๆ ก็ยังสามารถเจริญเติบโตได้ ทำให้มีผู้นิยมนำไปตัดแต่งให้ต้นเตี้ย ทรงพุ่มกลมขนาดเล็ก เพื่อปลูกเป็นไม้ประดับกันมากขึ้น

ลักษณะพรรณไม้ของต้นตีนเป็ดพรุ

ต้นตีนเป็ดพรุ มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 ม. เรือนยอดทรงกรวยคว่ำเมื่อต้นเล็ก แบนและแผ่กว้างเมื่อต้นใหญ่ขึ้น ลำต้นมีพูพอนกว้าง รากหายใจขนาดใหญ่คล้ายสะพานโค้งครึ่งวงกลม

เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดสีขาวเทา เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน มีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนมรอบๆ โคนต้นมีรากหายใจลักษณะหักพับรูปหัวเข่าขนาดใหญ่ โผล่ขึ้นกระจัดกระจายในรัศมีของเรือนยอด

ใบตีนเป็ดพรุ เป็นใบเดี่ยวเรียงรอบกิ่ง วงละ 4-6 ใบ แผ่นใบรูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานคล้ายช้อน ส่วนกว้างที่สุดกลางใบยาว 8-12 ซม. กว้าง 3-5 ซม. ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนสีเขียว เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ด้านล่างสีขาวนวล โคนใบสอบเรียวแคบเข้ามาทางก้านใบ

ดอกตีนเป็ดพรุ ดอกสีขาว ดอกเล็ก ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ผลเป็นฝัก เรียว เกลี้ยงหรือมีขนสั้นๆ ประปราย ออกเป็นคู่ ยาว 25-30 ซม. ลักษณะเมล็ด กลมรี ยาว 5 มม. มีขนเป็นปุยที่หัวและปลายเมล็ด ปลิวลอยไปตามลม

การขยายพันธุ์ตีนเป็ดพรุ สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด และตัดชำราก ในการเพาะเมล็ด ควรเลือกเก็บฝักที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก่อนที่ฝักจะแตกให้นำฝักมาแกะและนำเมล็ดมาเพาะในกระบะทราย เมล็ดจะมีอัตราการงอกได้สูงดีกว่านำฝักที่แห้งแตกแล้วมาเพาะ ซึ่งเมล็ดจะงอกได้น้อยกว่า

อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552