✓ต้นไม้: ว่านตรุ พรรณไม้เลื้อยดอกหอมของไทย ดอกหอมอ่อน
*ดูราคาต้นไม้ ขายพันธุ์ไม้ หายาก ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า
"ว่านตรุ" ไม้เลื้อยดอกหอม พรรณไม้พื้นเมืองของไทย พบกระจายห่างๆ แถบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางครั้งพบตามเขาหินปูน ความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร มีการกระจายพันธุ์ พบได้ที่ลาว, พม่า, เวียดนาม
ว่านตรุ
ว่านตรุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epigynum cochinchinensis (Pierre) D.J.Middleton วงศ์ Apocynaceae ซึ่งพรรณไม้ในสกุล Epigynum Wight มี 6 ชนิด แต่สำหรับในไทยพบพืชสกุลนี้ 3 ชนิด คือ โมกเถา Epigynum auritum (C. K. Schneid.) Tsiang & P. T. Li , เถาเต่าไห้ Epigynum griffithianum Wight และ ว่านตรุ Epigynum cochinchinensis (Pierre) D.J.Middleton
ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “epi” ด้านนอก และภาษากรีก “gynon” เพศเมีย ตามลักษณะช่วงอับเรณูที่เป็นหมันแนบติดยอดเกสรเพศเมีย สำหรับชื่อเรียกแปลกๆว่า "ว่านตรุ" นี้ มาจาก "วันตรือ" ซึ่งเป็นภาษาเขมรที่ใช้เรียกในจันทบุรี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของว่านตรุ
ว่านตรุ มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย กิ่งมีขนสั้นนุ่ม มีน้ำยางสีขาว ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 2.5–10 ซม. ยาว 7–23 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนกลมหรือเว้าคล้ายรูปหัวใจ เส้นแขนงใบข้างละ 5–13 เส้น แผ่นใบด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปรายโดยเฉพาะตามเส้นกลางใบ
ดอกว่านตรุ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ บนช่อแยกแขนง คล้ายช่อซี่ร่ม ยาว 1–13 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ตาดอกเรียวแคบ ดอกรูปดอกเข็ม กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อม เกลี้ยงยาว 0.2–0.4 ซม. หลอดกลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู ยาว 3–5 ซม. กลีบรูปไข่กลับ
ดอกสีชมพูหรือสีขาวมีปื้นสีชมพูเข้มที่ปากหลอด กลีบดอก ยาว 1.5–2 ซม. ด้านนอกมีขนละเอียด ด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกเรียงซ้อนทับกันด้านขวาในตาดอก
เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดด้านล่างภายในหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 0.7–1 ซม. โคนเป็นเงี่ยง จานฐานดอกมี 5 พู แยกกัน รังไข่เกลี้ยง สูงประมาณ 1.5 มม. มี 2 คาร์เพล ปลายติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ 2 ซม. รวมปลายยอดเกสรเพศเมีย
ออกดอกเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ติดผลเดือนสิงหาคม ผลติดเป็นฝักคู่ ยาว 30–35 ซม. มีขนสั้นนุ่มกระจาย เมล็ดแบน มีกระจุกขนยาวประมาณ 3 ซม.
Synonyms
- Chonemorpha nouettiana Pierre
- Nouettea cochinchinensis Pierre
ที่มา : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช