Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นเข็มป่า, เข็มตาไก่ ดอกเข็มพื้นเมืองไทย ลักษณะ ดอกมีกลิ่นหอม สรรพคุณ วิธีปลูก?

ข้อมูล เข็มป่า, เข็มตาไก่, เข็มโพดสะมา ชื่อวิทยาศาสตร์ สกุล Ixora ภาษาอังกฤษ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ดอกหอมพื้นเมืองไทย ประโยชน์ สรรพคุณ พันธุ์ต่าง ๆ

เข็มป่า (เข็มตาไก่)

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "เข็มป่า" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) และยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น เข็มตาไก่, เข็มดอย, เข็มโพดสะมา, เข็มใหญ่, เข็มขาว, เข็มพม่า เป็นต้น

เข็มป่า (เข็มตาไก่) ชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศไทย กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม สำหรับในประเทศไทย พบได้เกือบทั่วประเทศ ในภาคใต้ลงไปถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดอกเข็มป่า (เข็มตาไก่) ไม้ดอกหอมของไทย Ixora-cibdela

ถิ่นที่อยู่อาศัย พบขึ้นตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขาระดับต่ำ หรือป่าเบญจพรรณ ในที่มีแสงรำไร-ค่อนข้างโล่ง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,300 ม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ, ชื่อพ้อง

  • เข็มป่า (เข็มตาไก่) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Ixora cibdela Craib
  • อยู่ในวงศ์ Rubiaceae
  • มีชื่อพ้อง (Synonyms) คือ Ixora collinsiae Craib

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เข็มป่า เข็มตาไก่

ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เข็มป่า (เข็มตาไก่)

ต้นเข็มป่า มีลักษณะเป็น ไม้พุ่ม สูง 1–3 ม. ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำ มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่ง ใบ และช่อดอกเกลี้ยง เปลือกสีเทาปนน้ำตาล แตกกิ่งก้าน

ใบเข็มป่า ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรี รูปไข่ยาว รูปหอกกลับหรือรีแกมขอบขนาน ยาว 15–25 ซม. ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาเป็นมันคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวสด

เข็มป่า (เข็มตาไก่)

ดอกเข็มป่า ออกดอกเป็นช่อ ออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นหลอดสีขาว-สีขาวอมชมพู ยาว 2–3 ซม. ปลายกลีบแยก 4 แฉก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยงสีแดงอมม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด รูปเข็ม ปลายแยก 4 แฉก สีขาวปลายสีชมพู เกสรเพศผู้ 4 เกสร อยู่ระหว่างกลีบดอก

รายละเอียดเพิ่มเติม

ดอกเข็มป่า (เข็มตาไก่) มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ต้นที่เกิดจากเมล็ดในป่า จึงมีทั้งดอกสีขาวล้วน สีขาวอมชมพู และ สีชมพูอ่อนหวาน สวยงามมากๆ และดอกหอม มักออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ติดผลเดือนมีนาคม-กรกฎาคม

ผลเข็มป่า ลักษณะเป็นผลกลม กว้าง 10 มม. ผลอ่อนสีเขียวอ่อน จุดเด่นที่ผลอ่อนมีลายแถบ-จุดตามแนวยาวสีแดง-สีน้ำตาล ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ มีเนื้อหุ้มเมล็ด ใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม

ผลเข็มป่า (เข็มตาไก่)

ประโยชน์ เข็มป่า (เข็มตาไก่)

ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกสวย มีกลิ่นหอม มักปลูกกันตามวัดวาอารามแล้วตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มให้ดูสวยงาม ผลใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม และมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร

สรรพคุณ เข็มป่า (เข็มตาไก่)

  • เปลือกลำต้น แก้ท้องร่วง และโรคทางเดินอาหาร;
  • แก่น เป็นยาอายุวัฒนะ;
  • ใบ แก้โรคผิวหนัง แผลพุพองของเด็ก
  • ดอกและราก : แก้โรคตาแดง
  • ผล : แก้ริดสีดวงจมูก

คำเตือน : การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ การนำยาสมุนไพรมาใช้จะต้องได้รับคำปรึกษา การจัดยา วิธีการปรุง และวิธีการใช้ โดยแพทย์แผนไทยหรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีพิษ มีวิธีการกำจัดพิษหรือปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไป

ต้นไม้: เข็มป่า (เข็มตาไก่) ดอกเข็มพื้นเมืองไทย ไม้ดอกหอม

วิธีปลูก เข็มป่า (เข็มตาไก่) และการขยายพันธุ์

ข้อดีของการปลูกต้นเข็มป่า (เข็มตาไก่) คือสามารถปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดรำไร ก็สามารถออกดอกได้ เนื่องจากเข็มป่า(เข็มตาไก่) เป็นเข็มพื้นเมืองของไทย ที่ขึ้นได้เองในธรรมชาติอยู่แล้ว จึงสามารถปรับตัวได้ดี ทนทาน 

ดังนั้นจึงปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง ดูแลเหมือนไม้ประดับทั่วไป โดยส่วนตัวแล้ว ชอบมาก เป็นดอกไม้ป่าของไทย ที่น่าสนใจมาก มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ ปลูกประดับสวน ปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกประดับตามแนวรั้ว ดอกมีสีสันสวยงาม

การขยายพันธุ์เข็มป่า (เข็มตาไก่) ใช้วิธีเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ

อ้างอิง: กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, Plants of the World Online (POWO)

รายละเอียดเพิ่มเติม