✓ต้นไม้: 'จำปีหนู' จำปีพื้นเมืองของไทย ไม้ดอกหอม หายาก?
จำปีหนู พรรณไม้วงศ์จำปาที่เรียกได้ว่า เป็นสุดยอดของพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย เพราะถึงขณะนี้ยังไม่สามารถขยายพันธุ์จากต้นในธรรมชาติได้เลย เนื่องจากมีจำนวนต้นน้อยมาก อีกทั้งยังขึ้นอยู่ตามอุทยานแห่งชาติ จึงมีการอนุรักษ์ หวงห้ามมิให้นำพรรณไม้ออกไปนอกอุทยาน ทำให้ไม่สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ ...
จำปีหนู
ภาพ :
phytoimages.siu.edu
จำปีหนู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia philippinensis P.Parm. วงศ์จำปี Magnoliaceae ผู้ที่มีความประสงค์จะปลูกจำปีหนู หนทางที่ง่ายที่สุดคือต้องไปหาซื้อต้นจำปีหนูที่ปลูกขายตามเนอสเซอรี่หรือเรือนเพาะชำบางแห่งในต่างประเทศเช่น ฟิลิปปินส์
แม้ว่า"จำปีหนู" จะเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่หาเก็บเมล็ดหรือต้นกล้าได้ยากมาก แต่เนื่องจากมีทรงพุ่มที่กลมกะทัดรัด ดอกดก หอม และสวยงาม จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี
โดยปกติจำปีหนูเป็นพรรณไม้ที่จะออกดอก บานเต็มต้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ส่วนในเดือนอื่นๆ ก็จะทยอยออกดอกเรื่อยๆ แต่อาจจะไม่มากนัก และมีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูง 1,000-1,300 ม. ส่วนในต่างประเทศจะพบมากที่ประเทศฟิลิปปินส์
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักเพาะพันธุ์จำปีหนูในต่างประเทศ เกี่ยวกับวิธีการปลูกจำปีหนูให้ได้ผลดี ผู้ปลูกควรขุดหลุมกว้างและลึก 50 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมเพื่อช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และอุ้มน้ำได้ดี พร้อมทั้งใส่ยาป้องกันและกำจัดแมลงปีกแข็งและปลวก ซึ่งเป็นศัตรูร้ายกาจที่อยู่ในดิน
หลังจากปลูกแล้วก็ควรปักหลักผูกมัดต้นให้ตั้งตรงเพื่อป้องกันลมพัดโยก และควรใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดิน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันวัชพืชไปในตัวด้วย
เพียงเท่านี้ท่านก็จะได้ต้นจำปีหนูที่สวยงาม เป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาผู้นิยมปลูกพรรณไม้หายาก แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะปลูกบนพื้นที่สูง และมีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากจำปีหนูจะเจริญเติบโตได้ดีในสถานที่ที่เหมาะสมเท่านั้น
ภาพ* : สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ
ลักษณะพรรณไม้ของจำปีหนู
ต้นจำปีหนู มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 8-12 ม. แตกกิ่งอยู่ในระดับสูงจำนวนมาก เปลือกโคนต้นสีน้ำตาลปนดำ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เปลือกแตกเป็นสะเก็ด
ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับรอบกิ่ง รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-11 ซม. ปลายใบเรียว มีติ่งปลายใบยาว 1-5 มม. โคนใบรูปลิ่มแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา เหนียวเป็นมันทั้งสองด้าน
ดอกจำปีหนู ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกบานตั้งขึ้น ดอกสีขาว ใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย เริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ
ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน ดอกตูมรูปกระสวย เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6-1 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบดอกบางมี 9 กลีบ เรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กลีบชั้นในแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย
ผล(ฝัก)จำปีหนู มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม ช่อยาว 2-3 ซม. มีผลย่อย 2-4 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผล ผลรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ผิวของผลมีช่องอากาศเป็นจุดสีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด ลักษณะเมล็ด สีแดงเข้ม รูปกลมรี ยาว 5 มม.
การขยายพันธุ์จำปีหนู ตามธรรมชาติมีการขยายพันธุ์จากเมล็ด แม้จะออกดอกดก แต่ก็ติดผลน้อยมาก และเมล็ดสูญเสียความงอกเร็วมาก จึงไม่สามารถเพาะเป็นต้นกล้าขึ้นมาได้
ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและทาบกิ่ง ยังไม่ได้มีการทดลอง สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากยอดอ่อนและเมล็ดอ่อนยังไม่ประสบความสำเร็จจากการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้
อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552