✓ต้นไม้: ความแตกต่าง ต้นโมกมัน & ต้นโมก เป็นโมกต่างชนิดกัน?
การเรียกชื่อพรรณไม้ ตามชื่อท้องถิ่น ซึ่งอาจมีชื่อเรียกอื่นอีกหลายชื่อ หรืออาจมีชื่อซ้ำกัน จึงอาจสร้างความสับสนเข้าใจผิดกันได้ ในกรณีของชื่อโมกมันนี้ก็เช่นกัน
โมกมัน
ต้นโมกที่มีชื่อไทยว่า "โมกมัน" เป็นชื่อซ้ำกัน มีอยู่ 2 ชนิด คือ Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. และ Wrightia pubescens R.Br. ซึ่งทั้งสองชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน
ภาพ: A-B ;
กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
จะเห็นว่าโมกทั้งสองชนิด เป็นโมกคนละชนิดกัน แต่หากเรียกชื่อว่า "โมกมัน" เหมือนกันแบบนี้ ก็อาจทำให้เกิดความสับสน ไม่ทราบว่าคือโมกมันชนิดใดกันแน่?
ตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) ใช้ชื่อไทยเป็นชื่อทางการที่ต่างกัน โดยระบุว่า Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. มีชื่อทางการว่า "โมกมัน" แต่สำหรับ Wrightia pubescens R.Br. มีชื่อทางการว่า "โมก" (พูดง่าย ๆ ก็คือเรียกว่า "โมก" เฉยๆ ไม่มีคำอะไรต่อท้าย)
ในบทความนี้ ผมขอใช้ชื่อไทยเป็น"ชื่อทางการ" อ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย จากกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
"โมกมัน" ต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี คือ โมกมันชนิดใดกันแน่?
หากอ้างอิงตามส่วนส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดราชบุรี คือ โมกมัน Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.
ซึ่งสอดคล้องกับบางเว็บที่ยังใช้ข้อมูลเก่า ที่ระบุว่า คือ โมกมัน Wrightia tomentosa Roem. & Schult. ซึ่งปัจจุบันชื่อนี้ ก็เป็นเพียงชื่อพ้อง synonym ของ Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. นั่นเอง
ความแตกต่าง ของ โมก (W. pubescens) กับ โมกมัน (W. arborea)
การจำแนกความแตกต่าง ระหว่างโมก กับ โมกมัน ด้วยวิธีเบื้องต้น จะมีจุดสังเกตแบบง่ายๆ คือ
ดอก: ดอกโมก (W. pubescens) กะบังหน้ากลีบดอก จะยาวเท่าๆกับเกสรตัวผู้, ด้านในมีขนละเอียด แต่ ดอกโมกมัน (W. arborea) กะบังหน้ากลีบดอก จะสั้นกว่าเกสรตัวผู้, ด้านในไม่มีขน
ภาพ: A-B ;
กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ฝัก: ฝักโมก (W. pubescens) ผิวฝักมีขนละเอียดปกคลุม ไม่มีรูช่องอากาศ แต่ ฝักโมกมัน (W. arborea) ผิวฝักเกลี้ยง แต่ผิวฝักจะมีรูช่องอากาศชัดเจน
"โมก" (Wrightia pubescens) เป็นพืชพื้นเมืองของไทย ที่สามารถพบเห็นได้ง่ายกว่า โมกมัน (Wrightia arborea) พบต้นโมกได้ทั่วไปทุกภาคของไทย แหล่งที่พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าชายหาด ป่าข้างทางถนน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะทั่วไป (ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 400 เมตร)
1. โมก (Wrightia pubescens)
"โมก" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia pubescens R.Br. จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae ชื่อสกุล "Wrightia" ตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819), คำระบุชนิด "pubescens" เป็นภาษาละติน หมายถึง pubescent แปลว่า มีขนนุ่ม
ภาพ: ดอกโมก (Wrightia pubescens)
ข้อมูลจาก Royal Botanic Gardens, Kew รายงานว่า โมก Wrightia pubescens R.Br., (1810) มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงทางเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันที่สามารถแบ่งออกชนิดย่อย ได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ
- Wrightia pubescens subsp. laniti (Blanco) Ngan, (1965).
- Wrightia pubescens subsp. penicillata (F.M.Bailey) Ngan, (1965).
- Wrightia pubescens subsp. pubescens
Wrightia pubescens subsp. penicillata
Photo by
B. Gray
Wrightia pubescens subsp. pubescens
Photo by
Nieminski
from Northern Territory, Australia
สำหรับโมก (Wrightia pubescens) ที่พบในประเทศไทย พบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ โมก Wrightia pubescens subsp. laniti (Blanco) Ngan, (1965).
ลักษณะของโมก (Wrightia pubescens)
ต้นโมก มีลักษณะวิสัยเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ ต้นสูงได้ถึง 10-30 เมตร ฟอร์มทรงพุ่มสวย เรือนยอดรูปทรงกลม เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา-หลุดร่อน กิ่งและยอดอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น ถ้าตัดทุกส่วนที่ยังสดอยู่จะมีน้ำยางสีขาวเหนียวๆ ซึมออกมา
ใบโมก มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ติดตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะรูปใบ พบได้หลายแบบ เช่น ใบรูปรี, ใบรูปไข่กลับ หรือใบรูปขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบบาง ใบมีขนนุ่มทั้งสองด้านครับ
ดอกโมก ดอกมีกลิ่นหอมจางๆ ดอกมีลักษณะหลายแบบหลายสี เช่น กลีบดอกเล็ก, กลีบดอกใหญ่, ดอกสีขาวครีม, ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน, ดอกสีขาวอมชมพูอ่อน เป็นต้น
ดอกโมก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง เมื่อดอกตูมกลีบจะบิดเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา เมื่อดอกบานเป็นดอกรูปกงล้อ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร กลีบดอกมีขนแน่นทั้งสองด้าน กลีบดอกรูปขอบขนาน กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดกลีบดอกแต่ละกลีบ ยาวประมาณ 1-3 ซม.
ลักษณะเด่นของดอกโมก คือ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก อย่างชัดเจน
มีกะบัง 2 ชั้น กะบังมีขนสั้นนุ่ม กะบังบนหน้ากลีบดอก จะยาวประมาณเท่าๆกับเกสรตัวผู้, ด้านในมีขนละเอียด ปลายจักเป็นแฉกตื้น 3-5 แฉก กะบังระหว่างกลีบดอก รูปแถบ ปลายแยก 2 แฉก สั้นกว่ากะบังหน้ากลีบดอกเล็กน้อย
ฝักโมก มีลักษณะเป็น 2 ฝักเชื่อมติดกันเป็นแท่งยาว รูปกระสวย (จนดูคล้ายเป็นฝักเดี่ยว) ฝักสีเขียว ผิวฝักมีขนสั้นละเอียดปกคลุมหนาแน่น ไม่มีช่องอากาศหรืออาจมีประปรายและมีขนาดเล็กมาก
เมื่อฝักโมกแก่จะแห้งแล้วแตกแยกอ้าออกจากกัน ภายในมีเมล็ดยาวประมาณ 1-1.5 ซม. ปลายเมล็ดมีพู่กระจุกขนฟู ช่วยให้ปลิวลอยลมไปได้ไกล เมื่อทดลองเก็บมาเพาะเมล็ด ก็สามารถงอกได้ดีครับ
สรรพคุณ โมก
นอกจากนี้ ต้นโมกยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร โดยใช้เนื้อไม้ ช่วยคลายเส้น แก้ปวดเมื่อย
ไม้โมก
ยังมีการใช้ประโยชน์จาก "ไม้โมก" อีกด้วย เพราะไม้โมกมีเนื้อไม้สีขาวนวลสวยงามมาก จึงมีชื่อเรียกทางการค้า หรือชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Ivory wood
ลักษณะเนื้อไม้มีเสี้ยนตรงละเอียดมาก เหนียว และมีความแข็ง จึงสามารถนำมา กลึง เลื่อย ไสกบ ตบแต่งได้ง่าย และขัดชักเงาได้ดี จึงนิยมนำไม้โมกไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์, เหยื่อปลอมตกปลา, ด้ามจอบ, ด้ามเสียม, ซอด้วง, ซออู้ เป็นต้นครับ
2. โมกมัน (Wrightia arborea)
"โมกมัน" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (ชื่อสกุล "Wrightia" ตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819), คำระบุชนิด "arborea" เป็นภาษาละติน หมายถึง "tree-like" หรือ "of the trees")
ภาพ: ดอกโมกมัน Wrightia arborea ;
กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
โมกมัน มีถิ่นกำเนิด และ การกระจายพันธุ์ พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ลาว และเวียดนาม ในไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมาจนถึงภาคกลาง กระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามชายป่าโปร่ง หรือ ในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูง 200-1500 เมตร
ลักษณะของโมกมัน (Wrightia arborea)
ต้นโมกมัน มีลักษณะวิสัยเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้ผลัดใบ สูงได้ถึง 10-20 ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา-หลุดร่อน กิ่งและยอดอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น ถ้าตัดทุกส่วนที่ยังสดอยู่จะมีน้ำยางสีขาวเหนียวๆ ซึมออกมา ใบโมกมัน เป็นใบเดี่ยว ติดตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะใบรูปรี-รูปขอบขนาน ใบมีขนนุ่ม
ดอกโมกมัน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาวครีม ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง เมื่อดอกตูมกลีบจะบิดเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา เมื่อดอกบานเป็นดอกรูปกงล้อ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร
กลีบดอกรูปขอบขนาน กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดกลีบดอกแต่ละกลีบ ยาวประมาณ 1-2 ซม. มีขนสั้นทั้งสองด้าน ดอกบานกว้าง 2.5–4 ซม.
ภาพ: ดอกโมกมัน (Wrightia arborea) -
กรมป่าไม้
ลักษณะเด่นของดอกโมกมัน คือ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก อย่างชัดเจน
มีกะบัง 2 ชั้น กะบังสีชมพู แผ่กว้าง ด้านนอกมีขนกระจาย กะบังหน้ากลีบดอก สั้นกว่าเกสรตัวผู้, ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนกระจาย ปลายจักเป็นแฉกตื้น-ลึก 3–5 แฉก กะบังระหว่างกลีบดอก รูปขอบขนาน ปลายแยก 2 แฉก รูปตัววี สั้นกว่ากะบังหน้ากลีบดอกเล็กน้อย
ฝักโมกมัน มีลักษณะเป็น 2 ฝักเชื่อมติดกันเป็นแท่ง รูปกระสวย(จนดูคล้ายเป็นฝักเดี่ยว) ยาว 10–30 ซม. หนา 2–3 ซม. ฝักสีเขียว ผิวฝักเกลี้ยง-เกือบเกลี้ยงหรืออาจมีขนสั้นประปราย ผิวมีช่องอากาศสีขาวจำนวนมาก
เมื่อฝักแก่จะแห้งแล้วแตกแยกกัน ภายในมีเมล็ดยาว 1.5–1.7 ซม. ปลายเมล็ดมีพู่กระจุกขน ช่วยให้ปลิวลอยลมไปได้ไกล เมื่อทดลองเก็บมาเพาะเมล็ด ก็สามารถงอกได้ดี
สรรพคุณ โมกมัน
ต้นโมกมัน ยังสรรพคุณทางด้านสมุนไพร โดยใช้เปลือกหรือยาง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย, ตำรับ ยาโรคมะเร็งตับ/ฝีในตับ/ตับอักเสบ รักษาโรคมะเร็งตับ (ระยะที่ 1-3), โรคฝีในตับ, โรคตับอักเสบ, โรคกาฬลงตับ (มีอาการเพ้อคลุ้มคลั่งและนัยตาเป็นสีแดงร่วมด้วย)
(คำเตือน : การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ)
สถานภาพ โมกมัน
โมกมัน อยู่ในบัญชีไม้หวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ลำดับที่ 11
การปลูกต้นโมก/โมกมัน ให้ออกดอกในกระถาง
การปลูกต้นโมก/โมกมัน ให้ออกดอกในกระถาง สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการเลือกปลูกต้นโมก/โมกมัน ที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง หรือ วิธีเสียบยอด จากกิ่งแม่พันธุ์ที่เคยออกดอกแล้ว
ซึ่งการปลูกเลี้ยงต้นโมกและต้นโมกมันนั้น ปลูกเลี้ยงดูแลง่ายมาก แทบไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย ทนทาน สามารถทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดจัด ปลูกกลางแจ้งได้เลย ควรตัดแต่งให้แตกกิ่งเป็นทรงพุ่ม ก็จะยิ่งช่วยทำให้ออกดอกได้ดกมากยิ่งขึ้น
โมกมัน ไม้มงคล
ข้อดีของการปลูกต้นโมก/โมกมัน ก็คือ เป็น"ไม้มงคล" ที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ปลูกเลี้ยงง่าย ปรับตัวได้ดี โตเร็ว ทนทาน ทรงพุ่มสวย ดอกน่ารักสวยงาม และดอกมีกลิ่นหอมจางๆ จึงเหมาะสำหรับปลูกให้ร่มเงา จัดสวนป่าได้ดีครับ
สำหรับในวงการไม้ประดับ มักนิยมใช้ต้นโมก/โมกมัน ทำหน้าที่เป็น "ต้นตอ" เพื่อสำหรับใช้เสียบยอดกับโมกชนิดอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เนื่องจากต้นตอโมก ทนทาน หาอาหารเก่ง จึงช่วยส่งน้ำและอาหารไปให้กิ่งพันธุ์ที่เสียบยอด เจริญเติบโตเร็ว สมบูรณ์สวยงามครับ