Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นอินถวาน้อย (พุดน้ำ) พุดป่าพื้นเมืองไทย ไม้ดอกหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะดอก?

ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "อินถวาน้อย" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) 

นอกจากนี้ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น อินถวาป่า, พุดป่า, อินถวาทาม, เอนอ้า, พุดน้ำ, ใบบก, อินถวา, อินถวาทาม, สีดาทาม เป็นต้น

อินถวาน้อย' (พุดน้ำ)

พุด 'อินถวาน้อย' จัดว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นครพนม, ในลุ่มน้ำมูล-ชี พบได้ง่ายในเขตลุ่มน้ำสงคราม 

แต่ไม่พบในเขตลุ่มน้ำโมง ถิ่นอาศัย ขึ้นตามป่าโปร่ง ที่โล่งแจ้งหรือชายป่าบุ่งป่าทาม หรือริมน้ำในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 200 ม.

ชื่อวิทยาศาสตร์

ต้นพุด อินถวาน้อย (พุดน้ำ) พุดป่าของไทย
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

  • อินถวาน้อย (พุดน้ำ) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Kailarsenia lineata (Craib) Tirveng.
  • อยู่ในวงศ์ Rubiaceae
  • (ชื่อสกุล Kailarsenia ตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Prof. Kai Larsen (1921–2012) อดีตบรรณาธิการร่วมหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย)
  • ชื่อพ้อง (Synonyms) คือ Gardenia lineata Craib

รายละเอียดเพิ่มเติม

สกุล Kailarsenia Tirveng. แยกมาจากสกุล Gardenia ที่มีหูใบแยก 2 แฉก ติดทน และผลมีขนาดเล็กกว่า มีประมาณ 6 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย สำหรับในประเทศไทย พบได้ถึงประมาณ 5 ชนิด คือ

  1. Kailarsenia campanula (Ridl.) Tirveng. ; พุดน้ำ (พบทางภาคใต้)
  2. Kailarsenia godefroyana (Kuntze) Tirveng. ; พุดหนอง (มีฐานดอกเรียบ พบทางภาคกลางและภาคตะวันออก)
  3. Kailarsenia hygrophila (Kurz) Tirveng. ; พุดป่า, พุดน้ำ, ไข่เน่า (มีฐานดอกเรียบ พบทางภาคกลางและภาคตะวันออก)
  4. Kailarsenia lineata (Craib) Tirveng. ; อินถวาน้อย, พุดน้ำ, พุดนา (พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
  5. Kailarsenia tentaculata (Hook.f.) Tirveng. ; พุดน้ำ (พบทางภาคใต้)

ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พุด อินถวาน้อย (พุดน้ำ) พุดป่าของไทย
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ต้นอินถวาน้อย (พุดน้ำ) มีลักษณะเป็น ไม้พุ่ม แตกกิ่งหนาแน่น สูงได้ถึง 2 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ หลอดกลีบดอกด้านนอก ไม่มีหนาม มักพบชันใสเหนียวหุ้มยอด หูใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกจักเป็น 2 แฉก

ใบอินถวาน้อย (พุดน้ำ) ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้าม ใบรูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 3–4 ซม. ปลายใบแหลม-มน ขอบใบเป็นคลื่น โคนใบ สอบ-มน เรียว ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมันเงา และมีรอยกดเป็นร่องตามแนวเส้นแขนงใบ ด้านล่างเกลี้ยงหรือมี ขนประปราย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 10 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 2 มม. เกลี้ยง-มีขนประปราย

ดอกอินถวาน้อย (พุดน้ำ) ดอกออกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้นมาก กลีบดอกและกลีบเลี้ยงจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ผิวด้านนอกฐานดอกมี 5 สันตาม ยาว มีขนสั้น หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มม. ปลายแฉกรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ติดทน

พุดนา อินถวาน้อย (พุดน้ำ)
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ดอกอินถวาน้อย (ดอกพุดน้ำ) กลีบดอกสีขาว ดอกรูประฆัง - รูปลำโพง ปลายแยกเป็น 5 แฉกๆ ปลายแหลม มีกลิ่นหอม กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.3 ซม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้ปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปแถบ ยื่นพ้นปากหลอดเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียรูปกระบอง ยื่นเลยปากหลอดเล็กน้อย ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

ผลอินถวาน้อย (พุดน้ำ) ผลสด รูปรี-รียาว-กลมรี ยาวประมาณ 2-3 ซม. กว้าง 1-2.5 ซม. ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนมีสันตามแนวยาว 10 สัน ปลายผลมี กลีบเลี้ยงติดคงทน ก้านผลยาว 5 มม. ผลแก่สีเหลืองอ่อน มีสันเด่นชัด 5 สัน มีเมล็ดจำนวนมาก ผลแก่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ผลพุด 'อินถวาน้อย' (พุดน้ำ)
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ประโยชน์ สรรพคุณ ทางสมุนไพร

  • สมุนไพร ราก ตากแห้ง ต้มน้ำดื่มช่วยเจริญอาหาร, ยอดอ่อน ตำผสมตัวมดแดง กินเป็นยาแก้บิด, ดอก มีกลิ่นหอม ต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ
  • เชื้อเพลิง ไม้ใช้ทำฟืนหรือเผาถ่าน
  • วัสดุ กิ่ง และต้น ตัดมามัดรวมกันทำไม้กวาดลานดิน
  • ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอม หรือใช้ดอก บูชาพระ

วิธีปลูก และการขยายพันธุ์

วิธีปลูกวิธีปลูกต้นอินถวาน้อย (พุดน้ำ) ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย เนื่องจากในธรรมชาติจะพบในบริเวณริมน้ หรือบริเวณที่น้ำท่วมถึง จึงชอบน้ำ และทนน้ำท่วมได้ดี เป็นพุดที่สามารถปลูกในกระถางแล้วแช่น้ำในถาดรองกระถางได้

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม