Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: บอนโคโลคาเซีย Colocasia ของไทย พันธุ์ต่างๆ มีกี่ชนิด?

บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia ของไทย มี 5 ชนิด คือ บอนเขียว, บอนดอย, คูน, บอนยูนนาน, บอนเมงลา, บอนก้านดำ บอนแต่ละชนิด มีลักษณะความแตกต่างกัน อย่างไรบ้าง? ...

โคโลคาเซีย Colocasia ของไทย

บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia มีลักษณะคล้ายกับบอนในสกุล อโลคาเซีย Alocasia มาก ซึ่งทั้งสองสกุลนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันมาก ทั้งลำต้น ใบ ช่อดอก อาจทำให้เกิดความสับสนได้ จุดจำแนกความแตกต่างระหว่างสองสกุลนี้ คือ จำนวนออวุล (ovule) และการจัดเรียงตัวของออวุล

บอนในสกุลอโลคาเซีย Alocasia ของไทย เป็นพืชสกุลบอนที่มีออวุล จำนวนน้อย และการจัดเรียงตัวของออวุลเป็นแบบพลาเซนตาที่ฐาน (basal placentation)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วน บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia มีออวุลจำนวนมาก และมีการจัดเรียงตัวของออวุลเป็นแบบ พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ (parietal placentation) บทความนี้จึงขอนำเสนอ บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia ที่พบในธรรมชาติของประเทศไทย

ลักษณะพรรณไม้สกุลบอน โคโลคาเซีย Colocasia Schott

บอนในสกุลโคโลคาเซีย มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนออกเป็นกระจุกปลายยอด ปลายใบแหลม ฐานใบก้นปิด เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบย่อยเรียงจรดกันเป็นร่างแห ก้านใบติดที่ด้านล่างของแผ่นใบ

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบหุ้ม กาบหุ้มช่อดอกมีรอยคอด กาบหุ้มช่อดอกใต้รอยคอดม้วนเป็นหลอด กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดขยายออก

ดอกช่อเชิงลดมีก้านหรือไม่มี ดอกแยกเพศอยู่ร่วมช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงไม่มีกลีบดอก ปลายช่อเป็นรยางค์หรือไม่มี กลุ่มดอกเพศผู้ มีดอกเพศผู้จำนวนมากติดกันแน่นรอบแกนช่อดอกต่ำลงมาจากรยางค์ กลุ่มดอกเพศเมีย ติดรอบแกนช่อดอกที่โคนช่อดอก กลุ่มดอกที่เป็นหมันอยู่ระหว่างกลุ่มดอกเพศผู้และกลุ่มดอกเพศเมีย

ดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมกัน จำนวน 3-8 อันดอกเพศเมีย รูปทรงกลมถึงทรงกระบอก รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ติดที่ตามแนวตะเข็บ

ผล แบบผลสดมีเนื้อนุ่ม รูปขอบขนานเว้าตามแนวตะเข็บ เมล็ด รูปทรงรี มีสันนูนตามยาวรอบเมล็ด

บอนในสกุลโคโลคาเซีย Colocasia ของไทย มี 5 ชนิด คือ

1. บอน Colocasia esculenta (L.) Schott in Schott & Endlicher, Melet. Bot. (1832) 18. 1832

เผือก หรือ บอน มีชื่ออื่น เช่น โคโลคาเซีย, บอนนา, บอนเขียว, บอนจีนดำ, บอนท่า, บอนน้ำ, กลาดีกุบุเฮง, กลาดีไอย์, ขื่อที้พ้อ, คึทีโบ, คูชี้บ้อง, คูไท, ตุน, ทีพอ และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ คือ Taro, Cocoyam, Dasheen, Elephant Ears, Green Taro, Malanga.

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบรูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปหัวใจ เส้นแขนงใบ 5-10 คู่ ช่อดอก จำนวน 1-5 ช่อ มีกลิ่นหอมเอียน กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 12-33 ซม. ขยายเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน สีเหลืองปลายช่อ

ดอกเป็นรยางค์รูปกรวยคว่ำ ยาว 1-5 ซม. กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 3-7 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 2-5 ซม.กลุ่มดอกที่เป็นหมัน ยาว 1-3 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 3-6 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดตามแนวตะเข็บ จำนวน 2-4 แนว

ผลรูปขอบขนานเว้าตามแนวตะเข็บสีเขียวเมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงรี

นิเวศวิทยา: พบขึ้นในแหล่งน้ำ ที่ชื้นแฉะ จนถึงบนภูเขาสูง ระดับความสูง 0-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลออกดอกติดผลเกือบทั้งปี

การกระจาย: พบกระจายทั่วทั้งประเทศไทย ต่างประเทศพบในเขตร้อน กึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชีย

ประโยชน์: เผือก หัวใต้ดินนำมารับประทานได้

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ เป็นพันธุ์ปลูก Cultivars อีกหลายพันธุ์ เพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น

  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Black Coral'
  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Black Magic'
  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Fontanesia'
  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Hilo Bay'
  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Illustris'
  • โคโลคาเซีย Colocasia 'Rhubarb'

2. บอนดอย Colocasia fallax Schott, Bomplandia 7: 28, 1859.

บอนดอย มีชื่ออื่น คือ ตุนเขียว, โคโลคาเซีย มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ คือ Silver leaf dwarf elephant ear, Dwarf taro

ไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดเล็ก ใบรูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปหัวใจ เส้นแขนงใบ 4-5 คู่ ช่อดอก จำนวน 12 ช่อ กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 5-9 ซม. ขยายและเบนออกตั้งฉากกับช่อดอก สีขาว ปลายช่อดอกเป็นรยางค์รูปทรงกระบอกปลายแหลมยาว 2-4.5 ซม.

กลุ่มดอกเพศผู้ยาว1.5-2 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-1.5 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 1-2 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 3-6 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงค่อนข้างกลม รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดตามแนวตะเข็บ จำนวน 2-3 แนว

ผลรูปขอบขนานเว้าตามแนวตะเข็บสีเขียวเมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง เมล็ดจำนวน 1-5 เมล็ด รูปทรงรี มีสันนูนตามยาวรอบเมล็ด

นิเวศวิทยา: พบขึ้นในป่าดิบชื้น ตามลำธาร เขาหินปูน บนภูเขาสูง ระดับความสูง 500-1,400 เมตร ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ติดผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล จีน(ยูนนาน)

3. คูน Colocasia gigantea (Blume) Hook.f., Fl. Brit. Ind. 6: 524 1893.

ปัจจุบัน Colocasia gigantea เป็นชื่อพ้องของ Leucocasia gigantea (Blume) Schott หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ Colocasia gigantea เป็นชื่อเดิม แต่ในปัจจุบันถูกย้ายไปอยู่ในสกุล Leucocasia จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ คือ Leucocasia gigantea (Blume) Schott

ชื่อพ้อง คือ

  • Arisaema fouyou H.Lév. 
  • Caladium giganteum Blume
  • Colocasia gigantea (Blume) Hook.f.
  • Colocasia prunipes K.Koch & C.D.Bouché

คูน มีชื่ออื่น คือ ตูน, บอน, โหรา, ออกดิบ, กระดาดขาว, กะเอาะขาว, โคโลคาเซีย ไทยแลนด์ไจแอนท์ ชื่อสามัญ Thailand Giant taro, Giant taro, Giant elephant's ear, Thailand Giant Strain

ไม้ล้มลุกอายุหลายปีขนาดใหญ่สูงถึง 2 ม. ใบรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง เส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ช่อดอกจำนวนถึง 7 ช่อ ออกคล้ายรูปพัด กาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 7-20 ซม. ขยายคล้ายรูปเรือ สีขาวปลายช่อดอกเป็นรยางค์เป็นติ่งแหลม ยาว 0.5-1.2 ซม.

กลุ่มดอกเพศผู้ยาว 5-12 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว2-2.5 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 2.5-4 ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 4-8 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก รังไข่มี 1 ช่อง ออวุลติดตามแนวตะเข็บ จำนวน 3-4 แนว

ผลรูปขอบขนานเว้าตามแนวตะเข็บ สีเขียวเมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง เมล็ดรูปทรงรี มีสันนูนตามยาวรอบเมล็ด

นิเวศวิทยา: พบขึ้นในป่าดิบที่มีแสงแดดส่อง ป่าถูกทำลายที่ชุ่มชื่น เขาหินปูน ความสูง 50-500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ติดผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือ (ปลูก) ภาคกลาง (ปลูก) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ต่างประเทศพบที่แถวอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทางใต้ของญี่ปุ่น

ประโยชน์: ใบ ก้านใบ นำมารับประทานได้

4. บอนยูนนาน Colocasia lihengiae C.L. Long & K.M. Liu, Bot. Bull. Acad. Sin. 42:313. 2001.

โคโลคาเซีย บอนยูนนาน มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีไหล ใบรูปเลี้ยงลูกศรแกมรูปไข่ เส้นแขนงใบ 6-8 คู่

ช่อดอก จำนวนถึง 5 ช่อกาบหุ้มช่อดอกเหนือรอยคอดยาว 10-15 ซม. ขยายออกเป็นแผ่น สีเหลือง ปลายซ่อดอกไม่มีรยางค์ กลุ่มดอกเพศผู้ ยาว 2-3.5 ซม. กลุ่มดอกเพศเมียยาว 1-2.5 ซม. กลุ่มดอกที่เป็นหมันยาว 1-2 ซม.

ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่เชื่อมติดกัน 3-6 อัน ดอกเพศเมียรูปทรงกลม รังไข่มี 1 ช่อง ติดตามแนวตะเข็บ จำนวน 2-4 แนว ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม 3-5 แฉก ผลรูปขอบขนานเว้าตามแนวตะเข็บ สีเขียวเมื่อสุกสีเขียวอมเหลือง เมล็ดรูปทรงรี มีสันนูนตามยาวรอบเมล็ด

นิเวศวิทยา: พบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดิบชื้น ตามลำธาร ริมน้ำตก ที่ความสูง 800-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ติดผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

การกระจาย: ประเทศไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างประเทศพบที่จีน (ยูนนาน)

5. บอนเมงลา Colocasia menglaensis J.T.Yin, H.Li & Z.F.Xu

โคโลคาเซีย บอนเมงลา มีการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ จีนตอนใต้-ตอนกลาง, ลาว, พม่า, ไทย และ เวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก Plants of the World Online (Royal Botanic Gardens, Kew Science) ซึ่งมีเพิ่มมาอีก 1 ชนิด คือ Colocasia fontanesii Schott

บอนก้านดำ Colocasia fontanesii Schott

บอนก้านดำ Colocasia fontanesii มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ คือ Black Stem Elephant Ear, Black Taro, Violet-Stemmed Taro, Elephant's Ear

บอนก้านดำ Colocasia fontanesii มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ อัสสัม บังกลาเทศ จีนใต้-กลาง เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ลาว พม่า ไทย

ชื่อพ้อง (Synonym)

  • Colocasia gaoligongensis H.Li & C.L.Long
  • Colocasia gongii C.L.Long & H.Li
  • Colocasia esculenta var. fontanesii
  • Colocasia esculenta var. antiquorum
  • Colocasia antiquorum var. fontanesii

อ้างอิงที่มา:

รายละเอียดเพิ่มเติม