แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ม.เกษตรฯ ประโยชน์ วิธีใช้ ราคา?
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกและประเทศไทย หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องอาหารการกิน กระแสของอาหารปลอดภัยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้รักสุขภาพและผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ทำให้เกิดการรณรงค์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเริ่มมีการพัฒนาและกระจายเพิ่มมากขึ้น การนำ "ชีวภัณฑ์" มาใช้เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส ม.เกษตรฯ กำแพงแสน
แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส (เบอร์1) ควบคุมโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย ควบคุมการผลิตโดย ห้องปฏิบัติการควบคุมโรงพืชโดยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
ชีวภัณฑ์ แบคทีเรีย บีเอส
กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยี การป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงได้ทำการศึกษาวิจัยจนได้ชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 16 ชนิด ที่ใช้ในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช
ซึ่งทาง สอพ. ได้มีการถ่ายทอดชีวภัณฑ์ ดังกล่าวไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) และกลุ่มเกษตรกรไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทั้งโรคพืชและแมลงศัตรูพืชแล้ว
ชีวภัณฑ์บีเอส เป็นชีวภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกัน กำจัดโรคแอนแทรคโนสพริก (โรคกุ้งแห้ง) ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงและเป็นปัญหาในแปลงปลูกพริกมาอย่างต่อเนื่อง ชีวภัณฑ์บีเอสทั้งสองไอโซเลทจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ สอพ. วิจัยขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยมุ่งเน้นเพื่อนำไปใช้ในระบบการผลิตพริกอินทรีย์หรือระบบการผลิตพริกแบบ GAP ต่อไป
ชีวภัณฑ์ คืออะไร
ชีวภัณฑ์ เริ่มเป็นคำที่ฮิตติดหูในวงการเกษตร แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าชีวภัณฑ์คืออะไร ชีวภัณฑ์ คือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชสัตว์ หรือจุลินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำใช้ประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่ง โดยในทางการเกษตรส่วนใหญ่นำมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืช เป็นต้น
ชีวภัณฑ์บีเอส เป็นชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ไอโซเลท 20W33 และ 20W16 ที่แยกได้จากน้ำล้างเมล็ดข้าวเปลือก ซึ่งทางกลุ่มวิจัยโรคพืช สอพ. ได้เก็บไว้ในแหล่งเก็บรักษาจุลินทรีย์ (culture collection) ของกลุ่มฯ
โดยเริ่มจากการนำแบคทีเรียบาซิลลัสจำนวน 135 ไอโซเลท มาทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นในห้องปฏิบัติดูการยับยั้งเส้นใยของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคกุ้งแห้งพริกบนจานอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคในแปลงปลูกพริก 4 ฤดูปลูก จนมั่นใจว่าไอโซเลท 20W33 และ 20W16 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันกำจัดโรคกุ้งแห้ง จึงนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สูตรผงละลายน้ำ
รู้จัก แบคทีเรีย บาซิลลัส (Bacillus)
บาซิลลัสเป็นแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นท่อน (rod shape) ย้อมติดสีแกรมบวก (gram positive bacteria) อยู่ในวงศ์ Bacillaceae สามารถสร้างแคปซูล (capsule) ได้ สามารถสร้างสปอร์ (bacterial spore) ที่เรียกว่า เอ็นโดสปอร์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญได้ดี
เมื่อบาซิลลัสเปลี่ยนเป็นสปอร์จะเข้าสู่ระยะพักตัว สปอร์จะงอกและแปลงสภาพตัวเองกลับมางอกเป็นรูปเซลล์แบคทีเรียได้โดยง่ายเมื่อสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น มีน้ำหรือความชื้นที่เหมาะสม พบได้ทั่วไปในดิน น้ำเศษวัสดุปลูก หรือซากพืชต่าง ๆ บางชนิดสามารถผลิตเอนไซม์ เช่น อะไมเลส (amylase) ที่ย่อยสลายโมเลกุลแป้ง หรือโปรตีเอส (protease) ที่ย่อยสลายโมเลกุลของโปรตีน เป็นต้น
ประโยชน์ แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส
แบคทีเรียกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง และสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย และมีความคงทนในสภาพแวดล้อมในสภาวะที่มีแสงแดดจัดหรือรังสีอุลตร้าไวโอเลต สามารถใช้ป้องกันกำจัดโรคพืชได้หลายชนิด จึงทำให้แบคทีเรียชนิดนี้ ถูกนำมาผลิตเป็นชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการควบคุมโรคพืช และผลิตเป็นการค้าเพื่อจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมันนี ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ตลอดจนนำไปใช้เป็นโปรไบโอติคในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นต้น
การผลิตชีวภัณฑ์ บีเอส
- ขั้นตอนที่ 1: เลี้ยงแบคทีเรีย B. subtilis บนอาหาร Potato sucrose agar (PSA) หรือ Tryptic Soy Agar ที่เทเตรียมไว้แล้วบ่มเชื้อไว้ 3 วัน
- ขั้นตอนที่ 2: เติมสารละลาย 2.45% MgSO4.7H2O ที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 200 มล. ต่อจานอาหาร ขูดเชื้อออก
- ขั้นตอนที่ 3: เติมสารละลาย 2.5% Carboxymethyl-cellulose sodium salt (CMC) ปริมาตร 250 มล.ลงในบีกเกอร์คนผสมให้เข้ากัน
- ขั้นตอนที่ 4: เทสารละลายที่ได้ผสมลงในเกาลิน อัตรา 400 มล. ต่อเกาลิน 800 กรัม
- ขั้นตอนที่ 5: คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วผึ่งให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วจึงนำไป บดให้ละเอียด
- ขั้นตอนที่ 6: สุ่มชีวภัณฑ์นำมาตรวจปริมาณบนอาหาร PSA
- ขั้นตอนที่ 7: นำมาบรรจุถุงฟอยล์
โรคแอนแทรคโนสพริก โรคกุ้งแห้งพริก
โรคแอนแทรคโนส หรือ โรคกุ้งแห้งพริก เป็นโรคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลเสียต่อการผลิตพริก สาเหตุเกิดจากเชื้อรา C. gloeosporioides C.capcisi และ C. piperatum ทำความเสียหายให้แก่พริกเกือบทุกชนิดในทุกแหล่งปลูก ลักษณะอาการบนผลพริกเป็นจุดช้ำสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบุ๋มยุบตัวเป็นวงกลมหรือวงรีรูปไข่
ถ้าเชื้อราเข้าระยะผลอ่อน ทำให้ผลบิดเบี้ยว คล้ายกุ้งแห้ง ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า "โรคกุ้งแห้ง" เมื่ออาการรุนแรงผลจะเน่าและร่วงไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ในแปลงที่ระบาดรุนแรง พบว่าผลผลิตลดลงมากกว่า 50% เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วในสภาพความชื้นสูง
วิธีใช้ ชีวภัณฑ์บีเอส
ชีวภัณฑ์บีเอสเป็นชีวภัณฑ์ชนิดผงโดยใช้เกาลินเป็นสารพา จึงมีคุณสมบัติที่ละลายน้ำได้ดี โดยใช้อัตรา 40 - 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อเริ่ม พบการระบาดของโรค หรือเมื่อพริกเริ่มออกดอก หลังจากนั้นพ่นอีกทุก 5 วัน เป็นจำนวน 4 - 5 ครั้ง แต่เนื่องจากโรคนี้ สามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช และแฝงตัวอยู่บนต้นพริกโดยที่อาจจะยังไม่แสดงอาการของโรค
ดังนั้น ในแปลงที่เคยพบการระบาดของโรค หรือในช่วงที่มีฝนตกชุก ควรเริ่มพ่นตั้งแต่ระยะหลังย้ายกล้าพริก หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น การขับเคลื่อนชีวภัณฑ์สู่การใช้ประโยชน์ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานขยายผลชีวภัณฑ์บีเอสควบคุมโรคกุ้งแห้งพริกสู่ระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงชีวภัณฑ์และนำไปประโยชน์ได้จริง ในพื้นที่ปลูกพริกในหลายพื้นที่โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช พื้นที่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยพบว่าเมื่อพ่นชีวภัณฑ์ในระยะออกดอกสามารถลดการเกิดโรคของแอนแทรคโนสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา นำไปทดลองใช้ในพื้นที่ อ.ควนเนียง จ.สงขลา พบว่าหลังจากพ่นชีวภัณฑ์ในช่วงระยะออกดอก สามารถลดการเกิดโรคของแอนแทรคโนสพริกได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
- สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานีได้นำชีวภัณฑ์บีเอสไปแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.ม่วงสามสิบ อ.สำโรง และ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี หลังจากการพ่นชีวภัณฑ์ในช่วงระยะออกดอกพบว่าสามารถลดการเกิดโรคของแอนแทรคโนสพริกได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
- สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลกได้นำชีวภัณฑ์บีเอสไปแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยพ่นชีวภัณฑ์ตั้งแต่ในระยะกล้าจนกระทั่งถึงช่วงระยะออกดอก ผลปรากฏว่าไม่พบการระบาดของโรคกุ้งแห้งพริกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต
นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพริกส่งออกในพื้นที่ ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้ทำการพ่นชีวภัณฑ์บีเอสตั้งแต่ระยะกล้าจนกระทั่งเก็บผลผลิต พบว่าสามารถควบคุมโรคได้จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในขณะนี้ทางสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พร้อมที่จะขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ โดยถ่ายทอดให้ทางภาคเอกชนนำไปพัฒนาเป็นเชิงการค้า เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงมากขึ้นต่อไปในอนาคต
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.