Lazada Birthday

» วันเกิดลาซาด้า! ลดแรงกว่า 90%*

24 - 27 มี.ค. นี้เท่านั้น (จำนวนจำกัด)

✓ต้นไม้: โกโก้ลูกผสม 'ชุมพร1' พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

โกโก้ในประเทศไทย ยังมีความต้องการโกโก้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าตลาดโกโก้ในประเทศ มีโอกาสขยายตัวมาก หากจะมีการส่งเสริมให้มีการปลูกโกโก้ ช่วงเริ่มต้น ควรทำในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา และภาครัฐควรให้การสนับสนุน ในการพัฒนาสายพันธุ์โกโก้ที่มีคุณภาพ ที่สามารถนำไป สนับสนุนการพัฒนา อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ต่อไป

โกโก้พืชทางเลือกที่มีอนาคต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า สถานการณ์การผลิตและการตลาดโกโก้ของโลกในช่วงปี 2557 – 2561เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.96 ต่อปี ประเทศที่มีผลผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ได้แก่ โกตดิวัวร์ รองลงมา ได้แก่ ประเทศกานาและอินโดนีเซีย ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ผลิตโกโก้ได้มากรองจากประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของโลกที่มีความต้องการเมล็ดโกโก้มากที่สุด ร้อยละ 46 รองลงมาคือ ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ 25 ประเทศ ในเอเชีย โอเซียเนีย ร้อยละ15 และประเทศในอเมริกาใต้ ร้อยละ 9 โดยนำไปใช้ในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมขนมหวานช็อกโกแลต อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา เป็นต้น

โกโก้ ลูกผสม ชุมพร1 พืชเศรษฐกิจ พืชทางเลือกที่มีอนาคต

ในช่วงปี 2558 – 2562 การนำเข้าเมล็ดโกโก้ของโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.77 ต่อปี ประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์โกโก้ของโลกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.18 ต่อปี ประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศสด้านการส่งออกเมล็ดโกโก้ของโลกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.61 ต่อปีรวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์โกโก้ของโลกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.47ประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์โกโก้ที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม

สถานการณ์การผลิตและการตลาดโกโก้ของไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2561 ไทยเป็นผู้ผลิตโกโก้อันดับ 4 ของอาเซียน ในช่วงปี 2559 –2563 ไทยมีพื้นที่ปลูกต้นโกโก้เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.39 คือ เพิ่มขึ้นจาก 150 ไร่ในปี 2559 เป็น 1,931 ไร่ในปี 2563 พื้นที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.44 คือ เพิ่มขึ้นจาก 36 ไร่ ในปี 2559 เป็น 115 ไร่ในปี 2563 ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.62 คือ เพิ่มขึ้นจาก 45 ตันในปี 2559 เป็น 82 ตันในปี 2563 พื้นที่ปลูกโกโก้ทั้งหมดส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ จำนวน 976 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 เช่น จังหวัดเชียงราย และพิษณุโลก

รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 348 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 เช่น จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย ภาคกลาง จำนวน 269 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ได้แก่ จังหวัดลพบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จำนวน 175 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา และภาคตะวันออก 162 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ปลูกที่ จังหวัดจันทบุรีแห่งเดียว

ปัจจุบันการผลิตโกโก้ส่วนใหญ่จะดำเนินการในระบบพันธสัญญา (Contact farming) ระหว่าง ผู้ประกอบการภาคเอกชน กับ เกษตรกร โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนจะทำสัญญาซื้อผลผลิตเป็นราคาขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับคุณภาพและสายพันธุ์ของโกโก้สถานการณ์ด้านการตลาดโกโก้ไทย มีการนำเข้าเมล็ดโกโก้ในช่วงปี 2558 – 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.72 ต่อปีและในปี 2562 มีปริมาณการนำเข้า 980.20 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศคองโกและกิบี

ด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์โกโก้ของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยในปี 2562 นำเข้าปริมาณ44,278 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ผลิตภัณฑ์โกโก้ที่ไทยนำเข้ามากที่สุด คือช็อกโกแลต และอาหารปรุงแต่งที่มีโกโก้ รองลงมาคือ ผงโกโก้ที่ไม่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ โกโก้เพสต์ (Cocoa Paste) และเนยโกโก้ (Cocoa Butter)

ด้านการส่งออกเมล็ดโกโก้ของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 809.67 ในปี 2562 ไทยส่งออกปริมาณ 925.57 ตัน ประเทศส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย ลาว และญี่ปุ่น แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์โกโก้ ลดลงร้อยละ 11 ในปี 2562 ส่งออกปริมาณ 19,063 ตัน ประเทศส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เมียนมาร์ และมาเลเซีย ผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ ช็อกโกแลต และอาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่มีโกโก้รองลงมาคือ ผงโกโก้ที่ไม่เติมน้ำตาล หรือ สารที่ทำให้หวานอื่น ๆ โกโก้เพสต์ และโกโก้บัตเตอร์

เส้นทางเดินของโกโก้สู่ประเทศไทย

โกโก้เข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2446 และเมื่อปี พ.ศ. 2495 กรมกสิกรรม (ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร) ได้ทดลองนำมาปลูกทดสอบในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สถานีกสิกรรมพลิ้ว จ.จันทบุรี สถานียางคอหงส์ จ.สงขลา และสวนยางนาบอน จ.นครศรีธรรมราช

ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 กรมกสิกรรมได้นำโกโก้พันธุ์ลูกผสม Upper Amazon จากประเทศมาเลเซียมาปลูกที่สถานียางในช่อง จ.กระบี่ รวมทั้งได้มีการรวบรวมพันธุ์โกโก้จากแหล่งปลูกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มาปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 34 พันธุ์

ในการศึกษาวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์โกโก้ของกรมวิชาการเกษตร โดยนายผานิต งานกรณาธิการ อดีตนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ข้าราชการบำนาญ และคณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้ศึกษาพันธุ์โกโก้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรโดยทำการเปรียบเทียบพันธุ์โกโก้ลูกผสมจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 14 สายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกหาพันธุ์ดีโดยเปรียบเทียบกับพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกอยู่เดิม

ผลการทดลองตั้งแต่ปี 2524 - 2536 พบว่า โกโก้ลูกผสม Parinari 7 x Nanay 32 หรือ Pa7 x Na32 เป็นลูกผสมที่ดีทั้งในด้านการให้ผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดเหมาะที่จะใช้เป็นพันธุ์ปลูกสำหรับเกษตรกร จึงได้มีการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และและได้ตั้งชื่อพันธุ์ดังกล่าวว่า "โกโก้ลูกผสม ชุมพร1"

โกโก้ลูกผสม ชุมพร1

โกโก้คู่ผสมระหว่างพันธุ์ Pa7 x Na32 หรือ โกโก้ลูกผสม ชุมพร1 นี้ ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ เมล็ดโกโก้แห้งตรงตามมาตรฐานสากล คือมีจำนวนเมล็ดโกโก้ไม่เกิน 110 เมล็ดต่อน้ำหนัก 100 กรัม มีไขมันสูง 57.27% ผลผลิตเมล็ดโกโก้แห้ง 127.2 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมทั้งได้พัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเพื่อให้ได้ปริมาณและผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยได้มีการเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2537 ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง การป้องกันกำจัดศัตรูพืช วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปเมล็ดแห้ง

โกโก้ลูกผสม ชุมพร1

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรได้ทำการผลิตและจำหน่ายต้นพันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร1 ให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำไปปลูกในเขตภาคใต้และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดชุมพร จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น โดยในปี 2549 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้นำพันธุ์โกโก้ดังกล่าวไปส่งเสริมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ในลักษณะการปลูกร่วมกับไม้ผล ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากผลผลิตโกโก้

คุณศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย พืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานวิจัยโกโก้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรและศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้คัดเลือกพันธุ์โกโก้สำหรับทำช็อกโกแลตของโกโก้สายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มพันธุ์ Trinitario (ทรินิทาริโอ) การศึกษาพันธุ์โกโก้ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในกลุ่มของ Trinitario ที่คัดเลือกจากแปลง

รวบรวมพันธุ์ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้แก่ โกโก้ลูกผสมชุมพร1 (พันธุ์เปรียบเทียบ) ICS6 ICS40 ICS95 และ UF676 พบว่า สายพันธุ์ ICS6 และ ICS40 มีรสชาติเป็นที่ยอมรับในการผลิตเป็นช็อกโกแลต และมีปริมาณผลผลิตสูงใกล้เคียงกับพันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร1 ซึ่งได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืช สวนชุมพร เป็นแหล่งผลิตต้นกล้าพันธุ์โกโก้ในสายพันธุ์ ICS6 และ ICS40 เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรต่อไป

ปัจจุบันโกโก้ที่ปลูกมีหลายสายพันธุ์ มีลักษณะแตกต่างกันไป จากรายงานของ คุณอรวินทินี ชูศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กล่าวว่า โกโก้ทั้ง 4สายพันธุ์นั้น มีสีดอกส่วนใหญ่เป็นสีเขียวอ่อน และฝักสุกสีเหลือง ยกเว้น พันธุ์ ICS95 ที่มีดอกสีม่วงแดงและฝักสุกสีส้ม ส่วนลักษณะการผสมเกสรมีทั้งแบบผสมตัวเองได้ (self compatible) และผสมตัวเองไม่ได้ (self incompatible)ผิวผลส่วนใหญ่เป็นผิวขรุขระ ยกเว้น พันธุ์ชุมพร1 ที่มีผิวเรียบ

ข้อแนะนำในการปลูกโกโก้

คุณวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มพืชอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปลูกว่า โกโก้เป็นพืชต้องการร่มเงา จึงปลูกในสวนมะพร้าวแบบผสมผสานได้ ซึ่งเคยเห็นในประเทศหมู่เกาะโซโลมอนที่ปลูกโกโก้ผสมผสานในสวนมะพร้าว เขาสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึงแม้ต้นโกโก้จะต้นสูงและอายุมากแล้ว แต่ต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และการจัดทรงต้น เพื่อให้ต้นโกโก้ได้รับแสงแดดเพียงพอในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร เพราะหากทรงต้นทึบเกินไป จะทำให้ต้นโกโก้มีการเจริญเติบโตช้าและทำให้มีการแพร่พันธุ์ของมวนโกโก้ 

ส่วนปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัว นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อคุณภาพเมล็ดโกโก้ เพราะในช่วง 4 เดือนที่ผลโกโก้พัฒนาก่อนเก็บเกี่ยว หากมีปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวดี ย่อมทำให้ขนาดเมล็ดโกโก้ใหญ่ตามปกติ และทำให้ได้เปอร์เซ็นต์ไขมันโกโก้สูงเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต นอกจากนั้นอุณหภูมิก็มีผลโดยตรงต่อน้ำหนักของเมล็ด เพราะในช่วงที่ผลกำลังพัฒนา หากอุณหภูมิสูงขึ้นมาก จะทำให้เมล็ดโกโก้มีขนาดเล็ก และมีปริมาณมาก ซึ่งมีผลต่อการหมักและได้เปอร์เซ็นต์เนยโกโก้น้อยคุณวิไลวรรณ ทวิชศรี ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศฟิลิปปินส์แนะนำพื้นที่ปลูกโกโก้ ควรมีลักษณะดังนี้

ข้อแนะนำในการปลูกโกโก้

สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ที่สนใจปลูกโกโก้ ควรศึกษาค้นคว้าข้อมูลหรือไปศึกษาดูงานจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ศึกษาระบบปลูกและชนิดของต้นพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตโกโก้ด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจว่า โกโก้ 1 ต้น สามารถเสียบยอดและให้ผลผลิตได้ทั้ง 2 พันธุ์ นอกจากนั้นยังมีต้นโกโก้ที่ปลูกมาแล้วถึง 40 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการสวนและรูปแบบการปลูกโกโก้

พื้นที่ปลูก

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำสวนโกโก้ เป็นดินร่วนปนทราย การระบายน้ำค่อนข้างดี และมีฝนตกกระจายสม่ำเสมอ มีปริมาณน้ำฝน 1,500 – 2,000 มิลลิเมตร/ปีพื้นที่ปลูกโกโก้ควรมีไม้ให้ร่มเงา พื้นที่ที่แนะนำให้ปลูกโกโก้คือ ภาคใต้และภาคตะวันออก

กรณีที่ปลูกโกโก้ในพื้นที่ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรต้องมีแหล่งน้ำสำรองและติดตั้งระบบให้น้ำ เพื่อให้ต้นโกโก้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ไม่กระทบต่อผลผลิตในกรณีฝนทิ้งช่วง ร่วมกับการรักษาความชื้นให้ดินบริเวณโคนต้น โดยการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมรอบโคนในฤดูแล้ง

ข้อควรระวัง ในกรณีการปลูกโกโก้เป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่ไม่มีพืชให้ร่มเงาในระยะเริ่มปลูก ต้นโกโก้อาจแสดงอาการใบไหม้จากการได้รับแสงแดดมากเกินไป หรือการตัดแต่งกิ่งมากเกินไปจะทำให้แสงแดดส่องลงมาที่กิ่ง ทำให้กิ่งแห้ง มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของดอกและผลที่กิ่งจะทำให้ได้ผลผลิตน้อย จึงแนะนำให้ปลูกร่วมกับมะพร้าวหรือไม้ผล

โดยทั่วไปต้นโกโก้ 1 ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 30 ผล/ต้น/ปี หรือคิดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งประมาณ 130 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากการวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรซึ่งเก็บข้อมูลนานถึง 15 ปี พบว่า ต้นโกโก้จะเจริญเติบโตและสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อมีอายุต้นตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตโกโก้เมื่อคิดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งแล้ว มากกว่า 100 กก./ต้น/ปี

“อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโกโก้จะเป็นพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในสภาพร่มเงา แต่ไม่ควรปลูกร่วมกับยางพารา เพราะจะเกิดการแก่งแย่งแสงและธาตุอาหารซึ่งกันและกัน ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนในการจัดการแปลงมากขึ้น และให้ผลผลิตไม่คุ้มในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งหากมีความชื้นสูง อาจก่อให้เกิดโรครากเน่า โรคฝักเน่า เพราะพืชทั้งสองมีโรคซึ่งเกิดจากเชื้อเดียวกัน คือ เชื้อไฟทอปเธอรา(Phytophthora)”

สนับสนุนต้นพันธุ์โกโก้

สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ตระหนักถึงการผลิตโกโก้เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดและมีความยั่งยืน เกษตรกรต้องเริ่มต้นด้วยการใช้ต้นพันธุ์ดี ปลูกในพื้นที่เหมาะสม และมีแหล่งจำหน่ายที่ชัดเจน ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 สถาบันวิจัยพืชสวน จึงมอบให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ดำเนินการเพิ่มการผลิตต้นกล้า 3แนวทางดังนี้

1. การสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตโกโก้ลูกผสมชุมพร1 ในศูนย์วิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยพืชสวน 5 แห่งที่ครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ศูนย์วิจัยการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา พื้นที่จำนวน 1 ไร่/แห่ง เพื่อกระจายต้นพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรในอนาคต

2. การผลิตต้นกล้าโกโก้ในศูนย์วิจัย 5 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี จำนวน 30,000 ต้น/ปี โดยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรจะส่งฝักโกโก้ให้ศูนย์ดังกล่าวไปเพาะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563

3. การเพิ่มปริมาณการผลิตต้นพันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร 1 โดยมีแผนการผลิตต้นพันธุ์ ในปี 2564 จำนวน100,000 ต้น ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2566 ผลิตต้นกล้าพันธุ์โกโก้ลูกผสมชุมพร1 ได้ 570,000 ต้น หรือคิดเป็นพื้นที่ปลูก3,197 ไร่

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

อ้างอิง: นวลศรี โชตินันทน์; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

รายละเอียดเพิ่มเติม