✓ต้นไม้: กระเบาน้ำ ลักษณะ ประโยชน์ สมุนไพร ผลไม้ป่ากินได้
กระเบาน้ำ (Chaulmoogra)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
กระเบาน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Hydnocarpus castaneus Hook.f. & Thomson จัดเป็นพืชในสกุล Hydnocarpus อยู่ในวงศ์กระเบา (Achariaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ผล
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness.
ชื่อไทย
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า กระเบาน้ำ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นกระเบาน้ำ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า กระเบา กระเบาใหญ่ กระเบาน้ำ กาหลง (ภาคกลาง), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), กระเบาค่าง (ยะลา), กระเบาแดง (ตรัง), กระเบา กระเบาน้ำ เบา (อีสาน), กระเบาขาว กระเบาลิง บักขี้แข้ว (อ.เมือง มหาสารคาม), กระเบา กระเบาตึก (เขมร-อีสานและตะวันออก) และมีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Chaulmoogra
นิเวศวิทยา
ต้นกระเบาน้ำ ในประเทศไทยพบขึ้นในที่ราบน้ำท่วมถึง หรือในป่าบุ่งป่าทาม โดยเฉพาะตามริมแม่น้ำลำคลอง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของกระเบาน้ำ พบทั่วประเทศไทย แต่ค่อนข้างหายาก ต่างประเทศพบในเมียนมาร์ตอนใต้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว
กระเบาน้ำ ออกดอกเดือนไหน
ต้นกระเบาน้ำ ออกดอกเดือนธันวาคม-เมษายน ผลแก่เดือนเมษายน-สิงหาคม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเบาน้ำ
- ลักษณะวิสัย: ไม้ต้น สูงถึง 30 ม.
- ลำต้น: เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง
- ใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 4-8 ซม. ยาว 10-30 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนใบมนและเบี้ยว แผ่นใบหนาและเรียบแบน ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 5-10 เส้น ก้านใบยาว 1-2 ซม. ใบอ่อนมีสีแดงหรืออมชมพู
- ดอก: ดอกออกเป็นกระจุก มี 1-2 ดอก ตามซอกใบหรือกิ่งเก่า กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองครีม มีอย่างละ 5 กลีบ ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรี ยาว 1.2 ซม. ขอบกลีบม้วนเข้าด้านในตามแนวยาว และกลีบมักจะบานพับกลับ เกสรเพศผู้ 4 เกสร รังไข่รูปไข่ มีขนหนาแน่น
- ผล: ผลรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-12 ซม. ผิวเรียบเปลือกแข็ง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านผลยาว 2-3 ซม.
- เมล็ด: เมล็ดรูปทรงหลายเหลี่ยม มีจำนวนมาก มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีขาว-เหลืองอ่อน
ประโยชน์
ใช้เป็นอาหาร
- เนื้อรอบเมล็ดของผลสุก สีขาว-เหลืองอ่อน กินได้รสมันจืดคล้ายเผือกต้ม (เนื้อสีขาวเรียกกระเบาข้าวเจ้า เนื้อสีเหลืองอ่อนเรียกกระเบาข้าวเหนียว ซึ่งจะมีเนื้อเหนียวกินอร่อยกว่ากระเบาข้าวเจ้า) ต้องกินผลสุกที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ แต่ถ้ากินผลดิบอาจจะเมา
- ยอดอ่อน รสเปรี้ยว เป็นผักสดกินแกล้มลาบ ก้อย ปิ้งปลา หรือน้ำพริก
สรรพคุณ ทางสมุนไพร
- แก่นกระเบาน้ำ+กระพี้+กรวยป่า+ทันน้ำ/ช้องแมว+สะมัง/เฉียงพร้านางแอ เข้ายาร่วมกันต้มน้ำดื่มบำรุงแม่ลูกอ่อน/อยู่ไฟ
- แก่นตากแห้งต้มน้ำอาบ แก้ผื่นคัน
- แก่นต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยและเป็นยาอายุวัฒนะ
- แก่นกระเบาน้ำ+เครือขมิ้น/แฮ้ม+รากแห้วหมู รักษาโรคอุปทม (กามโรค-หนองใน)
- กิ่งกระเบาน้ำ+แก่นมะสัง ต้มน้ำดื่มรักษาโรคประจำเดือนออกมากผิดปกติ
- เมล็ดตำกับขี้ซี (ชันของต้นเต็ง: Shorea obtusa) ผสมกระเทียม ใช้ทารักษาโรคกลาก-เกลื้อน
- เมล็ดบดเข้ายาอื่นๆ รักษาโรคเรื้อน
- เมล็ดเข้ายาอื่นๆ ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด
- เนื้อในผลดิบและเมล็ด ใช้เบื่อปลา ทำให้ปลาเมา
- เมล็ดมีฤทธิ์เบื่อเมาใช้ทำยาฆ่าแมลง
การใช้ประโยชน์ด้านอื่น
- เชื้อเพลิง ไม้ใช้ทำฟืนหรือเผาถ่าน
- ก่อสร้างหรือเครื่องมือ เนื้อไม้แข็ง แปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านเรือน
- วัสดุ เนื้อผลสุกใช้เกี่ยวเบ็ดล่อปลาใหญ่ เช่น ปลาซวย (คล้ายปลาสวาย) และปลาโพง
- ด้านอื่น เนื้อในผลเมื่อร่วงลงน้ำปลาจะมากิน เช่น ปลาตะเพียนแดง ปลาตะเพียนขาว ปลาโพง และปลาซวย เป็นต้น หากปลากินเข้าไปมากและคนจับปลาเหล่านี้มากินก็อาจจะเมาด้วย
- เนื้อผลสุกเป็นอาหารของลิง