บัวเผื่อน บัวผัน มีลักษณะความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดอกบานตอนไหน ดอกสีอะไร?
บัวเผื่อน (บัวผัน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
บัวเผื่อน (บัวผัน) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Nymphaea nouchali Burm.f. จัดเป็นพืชในสกุล Nymphaea อยู่ในวงศ์บัวสาย (Nymphaeaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Nymphaea cyanea Roxb. ex G.Don
- Nymphaea stellata Willd.
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า บัวเผื่อน (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นบัวเผื่อน มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Blue lotus, Star lotus,Red water lily, Dwarf aquarium lily, Blue water lily, Blue star water lily, Manel flower
และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า บัวผัน, บัวเผื่อน บัวขาบ (ภาคกลาง), นิโรบล (กรุงเทพฯ), ป้านดำ ป้านสังกอน (เชียงใหม่), ปาลีโป๊ะ (มลายู-นราธิวาส)
ต้นบัวเผื่อน (บัวผัน) ในประเทศไทยพบขึ้นในที่โล่งแจ้ง ในแหล่งน้ำตามขอบบึง ทุ่งนา หรือในที่ที่มีน้ำนิ่ง-ไหลเอื่อย และมีระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 1 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของบัวเผื่อน (บัวผัน) ในไทยพบได้ง่าย ทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในเขตร้อนของประเทศจีนตอนใต้ ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสเตรเลีย
บัวเผื่อน (บัวผัน) ออกดอกเดือนไหน
ต้นบัวเผื่อน (บัวผัน) ออกดอกและติดผลเกือบตลอดปี แต่มักจะพบมากในช่วงกลางฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว เนื่องจากมีทุ่งน้ำท่วมปรากฏอยู่ทั่วไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบัวเผื่อน (บัวผัน)
- ลักษณะวิสัย: ไม้น้ำล้มลุก มีอายุหลายปี
- ลำต้น: มีลำต้นเป็นเหง้าสั้นอยู่ใต้ดินท้องน้ำ ไม่แตกแขนงและไม่มีรากบัว/ไหลที่กินได้เหมือนบัวหลวง (Nelumbo nucifera)
- ใบ: ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก ชูใบขึ้นมาลอยที่ผิวน้ำ ใบรูปกลมแกมรูปไข่ กว้าง 8-18 ซม. ยาว 10-25 ซม. ปลายใบกลม โคนใบหยักเว้าลึก ขอบใบหยักมนถึงเกือบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบ หนา 0.5 ซม. ยาว 0.5-1 ม. ปลายก้านใบติดกับแผ่นใบที่โคนใบ ดอกเดี่ยว อยู่เหนือผิวน้ำ
- ดอก: ดอกตูมรูปกรวยแหลม ยาว 4-8 ซม. กลีบดอกสีขาว สีขาวอมชมพู หรือสีม่วงคราม รูปหอก มี 10-30 กลีบ เมื่อดอกบานกว้าง 8-15 ซม. ดอกบานช่วงเช้าแล้วหุบช่วงบ่าย บานได้ 3 วัน มีกลิ่นหอมอ่อน เกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูสีขาวปลายอับเรณูสีออกม่วง ก้านชูอับเรณูสีเหลือง รังไข่มี 10-20 ช่อง ฝั่งอยู่ในฐานดอกรูปถ้วย
- ผล: ผลค่อนข้างกลม กว้าง 1.5-4.5 ซม. จมอยู่ใต้น้ำหลังผสมเกสรแล้ว เมล็ดมีจำนวนมากและขนาดเล็ก กว้าง 1 มม.
บัวผัน บัวเผื่อน ต่างกันอย่างไร
บัวชนิดนี้ในธรรมชาติมี 2 สายพันธุ์ (แต่จัดอยู่ในชนิดเดียวกัน)
- ดอกเล็ก สีขาว-ชมพูอ่อน ปลายกลีบสีชมพูอ่อน-สีม่วงคราม เรียกว่า "บัวเผื่อน"
- ดอกใหญ่กว่า สีม่วงครามหรือสีม่วงเม็ดมะปราง เรียกว่า "บัวผัน/บัวขาบ".
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของบัวเผื่อน (บัวผัน) สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับสระน้ำ