Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: คัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ลักษณะ สรรพคุณ ไม้ดอกหอม?

คัดเค้า (คัดเค้าเครือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

คัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Oxyceros horridus Lour. จัดเป็นพืชในสกุล Oxyceros อยู่ในวงศ์เข็ม (Rubiaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม

ชื่อพ้อง (Synonyms)

  • Gardenia horrida (Lour.) Spreng.
  • Griffithia siamensis Miq.
  • Randia horrida (Lour.) Schult.
  • Randia siamensis (Miq.) Craib
  • Randia uncata Ridl.
  • Solena horrida (Lour.) D.Dietr.
  • Webera siamensis (Miq.) Kurz

ชื่อไทย

ต้นคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ลักษณะ สรรพคุณ ดอกคัดเค้า ดอกหอม

ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า คัดเค้าเครือ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ต้นคัดเค้าเครือ มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า - และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า หนามลิดเค้า (เชียงใหม่), คัดเค้า คัดค้าว เค็ดเค้า (ทั่วไป, ภาคกลาง), เขี้ยวกระจับ (ภาคตะวันตก เฉียงใต้), พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี), คัดเค้า หนามคัดเค้า คัดเค้าเครือ (อีสาน), ยึดกะตา ปันรายึดตะกา (เขมรอ.ท่าตูม สุรินทร์)

นิเวศวิทยา

ต้นคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ในประเทศไทยพบขึ้นในที่โล่งแจ้งหรือชายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าบุ่งป่าทาม ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ในไทยพบค่อนข้างง่าย ทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนกลาง-ใต้

คัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ออกดอกเดือนไหน

ต้นคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ออกดอกช่วงเดือนมกราคม - เมษายน ผลแก่เดือนเมษายน - กรกฎาคม

คัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ลักษณะ สรรพคุณ ไม้ดอกหอม  Oxyceros horridus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของคัดเค้า (คัดเค้าเครือ)

  • ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 3-6 ม.
  • ลำต้น: เปลือกสีน้ำตาล เรียบ กิ่งมีหนามแหลมคมโค้งกลับคล้ายเขาควาย ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่ซอกใบ ยาว 1 ซม. ตามกิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกเกลี้ยง
  • ใบ: ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมขอบขนาน ยาว 6-12 ซม. ปลายใบแหลม-เรียวแหลม โคนใบมน มีเส้นแขนงใบข้างละ 7-11 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 ซม.
  • ดอก: ช่อดอกแบบแยกแขนง ยาว 3-6 ซม. ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อย 10-25 ดอก อยู่ค่อนข้างชิดกัน คล้ายช่อดอกเข็ม มีกลิ่นหอมแรงช่วงตอนเย็น-กลางคืน กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยก 5-6 แฉก รูปขอบขนาน ปลายมักจะบิดเล็กน้อย ดอกบานกว้าง 1.5-2 ซม. สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำเมื่อใกล้โรย
  • ผล: ผลทรงกลม กว้าง 1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผิวเกลี้ยงมันเงา ปลายมีโคนของกลีบเลี้ยงรูปวงแหวนติดค้าง เมื่อสุกสีดำ มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

ประโยชน์

การใช้ประโยชน์ของคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยนำยอดอ่อน เป็นผักสด จิ้มน้ำพริก หรือกินแกล้มลาบ-ก้อย

รากคัดเค้า (คัดเค้าเครือ) ลักษณะ สรรพคุณ ไม้ดอกหอม

สรรพคุณทางสมุนไพร

  • เมล็ด: บดเข้ายาอื่นๆ บำรุงเลือด
  • ราก: ต้มน้ำดื่ม แก้เบาหวาน
  • กิ่งหรือลำต้น: ต้มน้ำดื่ม บำรุงน้ำนม
  • รากหรือเหง้า: เข้ายาอื่นๆ แก้มนมาน (ลมพิษ, อาการมีผื่นคันเพราะแพ้ทางผิวหนัง)
  • แก่น: เป็นยาเย็น ฝนแล้วพอกรักษาแผล
  • กิ่งและลำต้น : ใช้เข้ายา ช่วยบำรุงน้ำนม บำรุงรักษามดลูกหลังคลอดบุตร
  • เนื้อไม้ : แก้ไข้
  • ตำรับ: ยาไข้กำเดาใหญ่ แก้ไข้กำเดาใหญ่
  • ตำรับ: ยาชักมดลูกให้เข้าอู่ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นหลังคลอดบุตร กระชับมดลูก รักษาอาการมดลูกอักเสบ
  • ตำรับ: ยารักษาอาการพรายเลือดพรายลม รักษาอาการพรายเลือดพรายลม (อาการเกิดกับผู้หญิงอายุไม่เกิน 20 ปี มีอาการหงุดหงิดอารมณ์ง่วง ซึม คล้ายอาการซึมเศร้า)
  • ตำรับ: ยาวัยทอง รักษาอาการวัยทอง รักษาเลือดลมให้เป็นปกติ

นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น ปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ดอกหอม ปลูกทำซุ้มหน้าบ้าน หรือปลูกเป็นรั้วบ้าน เพราะมีหนามคมและดอกหอม, ดอกมีกลิ่นหอม ใช้บูชาพระ, ลำต้นและกิ่ง ใช้ทำไม้กวาด กวาดแยกฟางข้าวออกจากเมล็ดข้าว และต้นมีหนาม ใช้วางล้อมวงกันผีมากินรกแม่ลูกอ่อน เป็นต้น

อ้างอิง: มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.

รายละเอียดเพิ่มเติม