ลองเลย!!

LAZADA 5.5

ช้อปสนุกทุกองศา!

5 -7 พฤษภาคม 2567

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ประโยชน์ น้ำทับทิมคั้น สรรพคุณสมุนไพร ช่วยลดความดันโลหิต?

ทับทิม (Punica granatum L.) หรือ pomegranate ถือเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งใน ปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีรสหวานออกเปรี้ยว ในการบริโภคมักนำส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดมาคั้นเป็นน้ำดื่ม

ซึ่งในน้ำทับทิมคั้นสด จะประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากมายได้แก่ กรดฟีนอลิกและกรดต่างๆ เช่น กรด gallic, caffeic, chlorogenic, ferulic, coumaric, citric, succinic, malic, oxalic และวิตามินซี (1) ในน้ำทับทิมคั้น 100 ก. จะมีปริมาณของวิตามินซีประมาณ 10 - 20 มก. (2) 

ประโยชน์ น้ำทับทิมคั้น สรรพคุณสมุนไพร ช่วยลดความดันโลหิต
photo by Augustus Binu

และสารกลุ่มแทนนินที่พบมากใน ทับทิมคั้น คือ ellagitannins (เช่น punicalagins และ granatins) และ gallotannins (3 - 5) โดยฤทธิ์ ทางเภสัชวิทยาของทับทิมส่วนใหญ่เกิดจากสารในกลุ่มนี้ (2)

รายละเอียดเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น quercetin และ phloridzin สารกลุ่ม flavan-3-ols หรือ flavanols เช่น catechin, epicatechin, และ epigallocatechin (6) และสารแอนโทไซยานินซึ่งให้สีแดงในน้ำทับทิมคั้น (7 - 8)

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง หรือที่แพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูง (hypertension หรือ high blood pressure) หมายถึง ภาวะที่ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130 มม.ปรอท ขึ้นไป และ/หรือความดัน ช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 80 มม.ปรอท ขึ้นไป เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้มากในผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) แต่ในผู้อายุน้อย บางรายก็อาจพบภาวะนี้ได้เช่นกัน

โดยสาเหตุของโรคอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การดื่ม แอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด และโรคประจำตัวที่มีความเกี่ยวเนื่องกันได้แก่ เบาหวาน โรค ไต และไขมันในเลือดสูง

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดความดันโลหิตของพืชสมุนไพรจำนวนมาก “ทับทิม” ถือเป็น พืชสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากมีรายงานถึงฤทธิ์ลดเบาหวาน และลดไขมันในเลือด (9) ซึ่งเป็นโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคความดันโลหิต

และจากการรวบรวมผลการศึกษาทางคลินิกของน้ำคั้น ทับทิม ต่อโรคความดันโลหิต ในอาสาสมัครที่หลากหลายกลุ่มตัวอย่างดังนี้

ผลการศึกษาทางคลินิกของน้ำทับทิมคั้น

การศึกษาผลของการดื่มน้ำทับทิมคั้นในผู้ป่วยเพศชายที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจำนวน 13 คน (อายุ ระหว่าง 39-68 ปี) โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำทับทิมคั้น ขนาด 150 มล. เพียงครั้งเดียว ทำการวัดความค่าดันโลหิตของ ผู้ป่วยในช่วงก่อนดื่มน้ำทับทิมคั้น และหลังจากดื่มแล้ว 12 ชั่วโมงเพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์การทำงานของ เยื่อบุผนังหลอดเลือดด้วยการวัดค่า flow-mediated dilation (FMD) 

ผลจากการทดสอบพบว่า หลังจาก ผู้ป่วยดื่มน้ำทับทิมคั้น 12 ชั่วโมง ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) และคลายตัว (diastolic blood pressure) ลดลงคิดเป็น 7 และ 6 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนค่า FMD และค่าทางชีวเคมีใน เลือดอื่นๆ ไม่มีความแตกต่างจากช่วงเวลาก่อนดื่มน้ำทับทิมคั้นแต่อย่างใด (10) 

และในการทดสอบให้ อาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดีจำนวน 19 คน (อายุเฉลี่ย 23 + 4 ปี) ดื่มสารสกัดทับทิมเข้มข้นเพียงครั้งเดียว ขนาด 237 มล. (ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล 652-948 มก.) 15 นาทีก่อนรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (high fat diet) หรือดื่มในระหว่างที่รับประทานอาหาร

 แล้ววัดความดันในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 4 หลังมื้ออาหาร พบว่า อาสาสมัครกลุ่มที่ดื่มสารสกัดทับทิมก่อนหรือดื่มในระหว่างรับประทานอาหารมีค่าความดันขณะหัวใจ บีบตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเพียงอย่างเดียว (กลุ่มควบคุม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การดื่มสารสกัดทับทิมอาจมีฤทธิ์ในการช่วยลดความดันโลหิตของผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงได้ (11)

การศึกษาฤทธิ์ลดความดันโลหิตของการดื่มน้ำทับทิมคั้นในระยะยาว โดยให้อาสาสมัครทั้งชายและ หญิงจำนวน 11 คน (อายุเฉลี่ย 58.91 + 5.06 ปี) ดื่มน้ำทับทิมคั้นขนาด 150 มล./วัน นาน 12 สัปดาห์ พบว่า การดื่มน้ำทับทิมคั้นมีผลทำให้ค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลง โดยค่าความดันขณะหัวใจบีบตัวลดลงจาก 130.91 + 13.00 เป็น 124.55 + 15.72 มม.ปรอท

ในขณะที่ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัวลดลงจาก 80.00 + 8.94 เป็น 76.36 + 6.74 มม.ปรอท (12) เช่นเดียวกับการศึกษาฤทธิ์ลดความดันโลหิตของทับทิมในผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง (ค่าความดันเฉลี่ย 155 + 7 / 83 + 7 มม.ปรอท) จำนวน 7 คน ทั้งชายและหญิง

โดยให้ดื่ม น้ำทับทิมคั้นเข้มข้น (ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล 1.5 นาโนโมลาร์) วันละ 50 มล. ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ พบว่าค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลงมาอยู่ที่ 147 ± 10 / 82 + 5 มม.ปรอท และยังพบว่าการดื่มน้ำ คั้นทับทิมเข้มข้นมีผลยับยั้งเอนไซม์ angiotensin converting enzyme ทำให้หลอดเลือขยายและลดปริมาณ เกลือและน้ำภายในร่างกาย (13)

นอกจากนี้ การศึกษาผลของการดื่มน้ำทับทิมคั้นในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) จำนวน 66 คน (อายุเฉลี่ย 66.5 + 11.8 ปี) ทั้งชายและหญิง โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำทับทิมคั้น (ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล 0.7 นาโนโมลาร์) ขนาด 100 ซีซี 3 ครั้ง/สัปดาห์ ติดต่อกันนาน 1 ปี พบว่าการ ดื่มน้ำทับทิมคั้น มีผลทำให้ค่า HDL (high density lipoproteins) ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์และค่าความดันขณะหัวใจบีบตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (14) 

และการศึกษาผลของการดื่มน้ำทับทิมคั้นในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงตีบ (carotid artery stenosis) จำนวน 10 คน ทั้งชายและหญิง (อายุระหว่าง 65-70 ปี) โดย ให้ดื่มน้ำทับทิมคั้นเข้มข้น (ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล 1.5 นาโนโมลาร์) วันละ 50 มล. ติดต่อกันนาน 1-3 ปี พบว่าการดื่มน้ำทับทิมคั้นเข้มข้นมีผลลดค่าความดันโลหิต และลดความหนาของผนังเส้นเลือดลง นอกจากนี้ยัง มีผลช่วยลดการเกิดปฏิกิริยออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลชนิด LDL (LDL oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการ เกิดอนุมูลอิสระและทำให้ผนังของเส้นเลือดหนาขึ้น (15)

การศึกษาผลของการดื่มน้ำทับทิมคั้นต่อความเร็วในการไหลเวียนเลือด (pulse wave velocity) และ ความดันโลหิต ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี (อายุระหว่าง 30-50 ปี) ทั้งชายและหญิงจำนวน 51 คน โดยให้ อาสาสมัครดื่มน้ำทับทิมคั้นขนาด 330 มล./วัน นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าการดื่มน้ำทับทิมคั้นมีผลทำให้ ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัวของอาสาสมัครลดลง 3.14 มม.ปรอท ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัวลดลง 2.33 มม.ปรอท และค่าเฉลี่ยความดันโลหิตลดลง 2.60 มม.ปรอท โดยไม่มีผลต่อความเร็วในการไหลเวียนเลือด (16)

บทสรุป น้ำทับทิมคั้น

จากกข้อมูลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า น้ำทับทิมคั้นมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต จึงอาจเป็นทางเลือก หนึ่งสำหรับใช้เพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โดยมีขนาดแนะนำคือ ประมาณ วันละ 150 - 300 มล. นาน 4 - 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามยังมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการดื่มน้ำทับทิมคั้นอยู่บ้าง โดยพบรายงานการศึกษาทางคลินิกระบุว่า ผู้ป่วยเพศชาย (อายุ 48 ปี) ซึ่งป่วยเป็นโรคที่มีอาการผิดปกติที่เกิด กับกล้ามเนื้อ (myopathy) รับประทานยา ezetime และ rasuvastatin ขนาด 10 และ 5 มก./วัน ตามลำดับ

ร่วมกับดื่มน้ำทับทิมคั้นขนาด 200 มล. 2 ครั้ง/สัปดาห์ ติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวด กล้ามเนื้อขาและพบว่ามีค่า creatine kinase ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้สันนิษฐานว่าการดื่มน้ำทับทิมคั้นร่วมกับ การใช้ยา rasuvastatin อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis) จึงควร ระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาดังกล่าว (17)

อาการแพ้ น้ำทับทิม

นอกจากนี้ ยังพบรายงานการศึกษาทางคลินิกถึงการเกิดอาการแพ้ เนื่องจากการรับประทานทับทิม ดังนี้ (18)

  • ผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 25 ปี รับประทานทับทิมไปครึ่งผล หลังจากรับประทานไป 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยเกิด อาการคัน เป็นผื่นเหมือนลมพิษ และหลอดลมหดเกร็ง จากนั้น 2 สัปดาห์พบว่าบริเวณคอหอยส่วนปากเป็น หนอง โดยผู้ป่วยรายนี้มีประวัติภูมิแพ้ หอบหืด และอาเจียนเมื่อรับประทานลูกท้อ องุ่น กล้วย และแพ้อาหาร จําพวกถั่ว
  • ผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 25 ปี มีอาการปวดท้อง ผื่นขึ้นเหมือนลมพิษและมีอาการคัน หลังจาก รับประทานทับทิม โดยผู้ป่วยรายนี้มีประวัติแพ้ลูกท้อ ลูกแพร์ และแอปเปิ้ล
  • เด็กหญิงอายุ 3 ปี มีอาการบวมที่ใบหน้า ผื่นขึ้น และหายใจลำบาก หลังจากรับประทานทับทิม โดย ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติแพ้ถั่วลิสง อัลมอนด์ ลูกท้อ และข้าวโพด

ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองหลังจากดื่มน้ำทับทิมคั้น หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรหยุดใช้ทันที

รายละเอียดเพิ่มเติม