✓แมลงศัตรูธรรมชาติ แตนเบียนไข่ หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด?
มารู้จักแตนเบียนไข่ Telenomus remus ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แตนเบียนไข่ชนิดนี้มีศักยภาพในการเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อกลางคืน เพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ที่กลายเป็นศัตรูพืชประจำถิ่นในทวีปนั้นจนประสบความสำเร็จ
แตนเบียนไข่ Telenomus remus
ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา CABI ได้ตีพิมพ์บทความใน Invasives Blog โดยให้ชื่อว่า “Could Telenomus remus go global?” แตนเบียนไข่ Telenomus remus จะไปได้ทั่วโลกหรือไม่ วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังถึงแตนเบียนไข่ตัวนี้กันครับ
source: jhr.pensoft.net
แตนเบียนไข่ Telenomus remus ตัวนี้ที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาได้มีการใช้เพื่อควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด Spodoptera frugiperda (FAW) ที่กลายเป็นศัตรูพืชประจำถิ่นในทวีปนั้นจนประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา หนอนตัวนี้ยังคงเป็นศัตรูพืชต่างถิ่นที่สำคัญ สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดที่สำคัญ มีประสิทธิภาพและใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้แก่ การควบคุมโดยวิธีผสมผสารหรือ IPM (Integrated Pest Management) และวิธีการที่เป็นหัวใจสำคัญของ IPM ที่ทำให้การจัดการกับศัตรูพืชชนิดนี้ประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืนคือ การควบคุมโดยชีววิธี
แตนเบียนไข่ 𝘛. 𝘳𝘦𝘮𝘶𝘴 มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย และประเทศปาปัวนิวกินี แตนเบียนไข่ชนิดนี้มีศักยภาพในการเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อกลางคืนในวงศ์ Noctuidae ถึงแม้แม่ผีเสื้อวางไข่และมีขนปกคลุมไข่มากและหนาอย่างไร ตัวเต็มวัยของแตนเบียนก็ยังสามารถใช้อวัยวะวางไข่สอดใส่และวางไข่ในไข่ของหนอนผีเสื้อได้
ในช่วงปี ค.ศ.1990-1999 ประเทศเวเนซูเอล่า ประสบความสำเร็จในการใช้แตนเบียนไข่ชนิดนี้ร่วมกับวิธี IPM ควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในแปลงข้าวโพดหลายพันไร่ สามารถลดการใช้สารเคมีได้ 49 – 80% นอกจากนั้นประสิทธิภาพการเบียนไข่หนอน FAW มากกว่า 90% วงจรชีวิตจากไข่ไปเป็นตัวเต็มวัยค่อนข้างสั้นเพียงแค่ 13 วันโดยประมาณ
การผลิตขยายแตนเบียนไข่ Telenomus เริ่มในประเทศอินเดีย โดยใช้ไข่ของหนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของผีเสื้อกลางคืนชนิดอื่น ได้แก่ Agrotis biconical และ Corcyra cephalonica สาเหตุหลักที่ไม่ใช้ไข่ของผีเสื้อหนอน FAW โดยตรงเนื่องจากหนอนชนิดนี้มีพฤติกรรมกินกันเอง (cannibalism)
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่มีประโยชน์อีกหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงขยายแตนเบียนไข่ มูลค่าการลงทุน ความสำเร็จในการปล่อยแตนเบียน ซึ่งทาง CABI ได้แนะนำวารสารวิชาการ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ฟรีออนไลน์ (open access) ตาม link ด้านล่างนี้