✓ต้นไม้: 'หนามแท่ง' หนามเค็ด (มะเค็ด) ประโยชน์ สรรพคุณ?
ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "มะเค็ด" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557)
และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น เค็ด, เคล็ด, หนามเค็ด, แท่ง, หนามแท่ง, หนามขี้แรด, เคล็ดทุ่ง, มะเค็ด, ระเวียง, ระเวียงใหญ่ เป็นต้น
หนามแท่ง หนามเค็ด (มะเค็ด)
หนามแท่ง มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ พบที่เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซียตอนบน และเกาะชวา สำหรับในประเทศไทยพบได้ทุกภาค
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ถิ่นที่อยู่อาศัย พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าบุ่งป่าทาม ป่าทุ่งหญ้าหรือป่าชายหาดที่ขึ้นบนดินปนทราย ในที่โล่ง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 ม. ทั่วประเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ
- หนามแท่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Tirveng.
- อยู่ในวงศ์ Rubiaceae
-
ชื่อพ้อง (Synonyms) :
- Gardenia dasycarpa Kurz
- Gardenia tomentosa Blume ex DC.
- Randia dasycarpa (Kurz) Bakh.f.
- Randia tomentosa (Blume ex DC.) Hook.f.
- Xeromphis tomentosa (Blume ex DC.) T.Yamaz.
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หนามแท่ง
ต้นหนามแท่ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม้ผลัดใบ สูงถึง 8 ม. ลำต้นกลม เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นสะเก็ดบางๆ ตามกิ่งอ่อนและก้านใบมีขนสั้นหนา นุ่ม และ กิ่งก้านมีหนามแหลมยาว มีหนามแหลมคมออกเป็นคู่ตามซอกใบ หนามยาว 2-7 ซม.
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ใบหนามแท่ง ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามหรือเป็นกระจุกที่ปลาย กิ่งย่อย ใบรูปหอกกลับ-ไข่กลับ ยาว 5-7 ซม. แผ่นใบหนา ปลายใบแหลม-กลม และมีติ่งหนาม ขอบใบม้วนลง โคนใบสอบ มีเส้นแขนงใบข้างละ 6-12 เส้น ผิวใบด้านบนมีขน และมีรอยกดเป็นร่องตามแนวเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนหนานุ่มสีขาวอมน้ำตาล ก้านใบยาว 3-10 มม.
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ดอกหนามแท่ง ดอกมีกลิ่นหอม ดอกออกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบ เมื่อบานกว้าง 3-5 ซม. มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก 7-9 กลีบ กลีบดอกสีขาว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อใกล้โรย แฉกลึก มีโคนเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกสั้นกว่ากลีบดอก
ดอกมี 8–10 กลีบ บิดเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 ซม. ปลายมน-กลม และมีติ่งแหลม เกสรเพศผู้เท่าจำนวนกลีบดอก ติดใต้ปากหลอดกลีบดอก ก้านดอกสั้นมาก
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูสีเหลืองรูปแถบ ยาว 5 มม. ติดระหว่างซอก แฉกกลีบดอก ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน
ผลหนามแท่ง ผลรูปกลม-รี หรือรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผิวมีขนนุ่มแบบกำมะหยี่สีน้ำตาล เมื่อสุกสีเหลืองคล้ำ เนื้อในรอบเมล็ดสีดำ ผลแก่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม เมล็ดหนามแท่ง เมล็ดจำนวนมาก เมล็ดสีดำ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
การใช้ประโยชน์
ไม้ใช้ทำฟืน หรือเผาถ่าน เชื้อเพลิง
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
สรรพคุณ หนามแท่ง
- แก่นหรือราก : รักษาเบาหวาน วัณโรค มะเร็งต่างๆ
- เนื้อในผลสุก : เนื้อในรอบเมล็ดสีดำ นำมาขยี้กับน้ำทำให้เกิดฟอง ใช้ซักผ้าหรือสระผม---เนื้อในรอบ เมล็ดสีดำขยี้ผสมกับน้ำมวก (น้ำแช่/ซาวข้าว) ใช้สระผม ทำให้ผมนุ่ม เงางาม
- เนื้อไม้ : รักษาแผลที่ถูกหนามทิ่มแทงหักคาในเนื้อ
- ตำรับ ยารักษาแผลเบาหวาน/แผลอักเสบเรื้อรัง รักษาแผลเบาหวาน หรือแผลอักเสบเรื้อรัง
*การนำพืชสมุนไพรไปใช้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการขาดโอกาสในการรักษา
อ้างอิง
- กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
- Plants of the World Online | Kew Science by Royal Botanic Gardens, Kew.
- World Checklist of Selected Plant Families: Royal Botanic Gardens, Kew
- มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.
- โครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562