✓ต้นไม้: โมกการะเกตุ โมกเฉพาะถิ่นไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่?

"โมกการะเกตุ" เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ พบเพียงแห่งเดียวทางภาคเหนือ กิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า

โมกการะเกตุ

โมกการะเกตุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia karaketii D. J. Middleton วงศ์โมก Apocynaceae คำระบุชนิด "karaketii" ตั้งเป็นเกียรติแก่นายปรีชา การะเกตุ หนึ่งในคณะสำรวจพรรณไม้ ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้

โมกการะเกตุ โมกถิ่นเดียวของไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่ ดอกสีแดงสด
ภาพ : ดอกโมกการะเกตุ โดย ราชันย์ ภู่มา [1]

โมกการะเกตุ ได้รับการตีพิมพ์เป็นโมกชนิดใหม่ในสกุลโมก Wrightia ลงในวารสาร Gardens' Bulletin Singapore เล่มที่ 61 ฉบับที่ 2 หน้า 370 ปีค.ศ. 2010, ตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงต้นแบบ Pooma, Karaket, Pattharahirantricin & Sirimongkol 6732 (holotype: BKF; isotype: E)

รายละเอียดเพิ่มเติม

นิเวศวิทยาขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ยๆ ในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคม ติดผลประมาณเดือนกันยายน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นโมกการะเกตุ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 15 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีช่องอากาศกระจาย กิ่งอ่อนมีขนละเอียดรูปตะขอสั้นๆ

ใบ รูปรี ยาว 9-21 ซม. ปลายใบแหลม มน หรือเว้าตื้น ปลายเป็นติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 15-19 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม.

ดอกโมกการะเกตุ ออกดอกเป็นช่อดอก ออกสั้นๆ ตามปลายกิ่ง มีขนละเอียด ก้านช่อดอกยาวได้ประมาณ 2 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยง รูปไข่ ยาวได้ประมาณ 5.5 มม. ปลายมน มีขนละเอียดด้านนอก สีเขียว มีต่อมกว้างที่โคนกลีบด้านใน กลีบดอกบานรูปกงล้อ ดอกสีแดงสด มีสีเขียวที่โคนด้านนอก

หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนละเอียดด้านนอก กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1.7-2 ซม. ปลายมน มีปุ่มเล็กๆ กระจายทั้งด้านในและด้านนอก กระบังสีเดียวกับกลีบดอก เรียงเชื่อมติดกันเป็นวง แนบติดกลีบดอกที่โคน ปลายเป็นชายครุย ไม่แนบติดกลีบดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูสีเหลือง โคนเป็นเงี่ยงลูกศร รังไข่เกลี้ยง

โมกการะเกตุ โมกถิ่นเดียวของไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่ ดอกสีแดงสด
ภาพ : ฝักโมกการะเกตุ โดย ปรีชา การะเกตุ [1]

จุดสังเกตของโมกการะเกตุ มีลักษณะคล้ายโมกเขา Wrightia lanceolata Kerr และ โมกสยาม Wrightia siamensis D.J.Middleton แต่ความแตกต่างคือ โมกการะเกตุมีใบขนาดใหญ่กว่า หลอดกลีบดอกสั้นกว่า และกะบังแฉกมากกว่า

ผล(ฝัก)โมกการะเกตุ ออกเป็นฝักคู่ กางออก กว้าง 0.7-1 ซม. ยาว 29.5-40 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง มีช่องอากาศหนาแน่น เมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 1.7 ซม. ที่โคนมีขนกระจุก ยาวประมาณ 3 ซม.

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. Middleton, D.J. (2010). Three new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61 (2): 369-378.