✓ต้นไม้: 'มังกรดำ' แคคตัสมังกรดำ, เก๋งมังกรดำ, ดอกมังกรดำ?

*ดูราคา เก๋งจีน ดอกเก๋งจีน สายพันธุ์ต่างๆ ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

ดอกมังกรดำ - แคคตัส มังกรดำ Ceropegia bosseri (เซโรพีเจีย บอสเซอร์อาย) เก๋งจีน

ต้นมังกรดำ (แคคตัส มังกรดำ, เก๋งมังกรดำ)

Ceropegia 'มังกรดำ' เป็นไม้อวบน้ำที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ลำต้น ที่รูปทรงดีไซน์ ลีลา สง่างาม คล้ายมังกรกำลังเลื้อย และผิวลำต้นมี Texture (พื้นผิวลำต้น) สีน้ำตาลอมดำ, สีเทาอมเขียว หรือสีเขียวเข้มอมดำ ดูเหมือนต้นไม้ปลอม ผิวด้าน ๆ  ผิวขรุขระหยาบ ดูคล้ายผิวหนังมังกร ทรงพลัง น่าเกรงขาม ยิ่งดูมีเสน่ห์ น่าหลงใหล และดอกแปลก แต่สวยงามมาก

บางคนเชื่อว่า ต้นมังกรดำ คือต้นไม้มงคล ต้นไม้นำโชค ตามความเชื่อว่า "มังกรจีน" เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์แห่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ เมื่อปลูกแล้วออกดอก จะช่วยในเรื่องโชคลาภ เรียกทรัพย์ เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย เฮง ๆ ๆ

ชื่อไทย

สำหรับชื่อไทยที่ใช้เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ ยังไม่มีชื่อไทย (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)

ชื่อไทยที่นิยมเรียกกันในกลุ่มนักสะสมพรรณไม้ คือ ต้นมังกรดำ, เก๋งมังกรดำ, เก๋งจีนมังกรดำ และ "แคคตัส มังกรดำ" (แต่จริง ๆ แล้ว ต้นมังกรดำไม่ใช่แคคตัส เพราะไม่ได้อยู่ในวงศ์แคคตัส แต่มักนิยมปลูกเลี้ยงรวมไว้ในโรงเรือนเดียวกับแคคตัส จึงอาจทำให้มือใหม่ เข้าใจว่าเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับแคคตัส)

ดังนั้นในบทความนี้ ทางเราจึงขอใช้ชื่อไทยว่า "ต้นมังกรดำ"

ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)

ต้นมังกรดำ มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ (Common name) ว่า Black Dragon Ceropegia, Madagascar succulents

แคคตัส มังกรดำ Ceropegia bosseri (เซโรพีเจีย บอสเซอร์อาย) เก๋งจีน

ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)

"ต้นมังกรดำ" ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Ceropegia bosseri Rauh & Buchloh จัดเป็นพืชในสกุล Ceropegia อยู่ในวงศ์ Apocynaceae, วงศ์ย่อย Asclepiadoideae

ความหมายของคำระบุชนิด "bosseri" ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Jean Marie Bosser (ฌอง มารี บอสเซอร์) เป็นนักพฤกษศาสตร์และวิศวกรการเกษตรชาวฝรั่งเศส ที่ทำงานอย่างกว้างขวางในมาดากัสการ์

ดังนั้นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นมังกรดำ จึงอ่านออกเสียงว่า "เซโรพีเจีย บอสเซอร์อาย" หรือ "เซโรพีเจีย บอสเซอรี่" ก็ได้

ชื่อพ้อง (Synonyms)

  • Ceropegia adrienneae Rauh & Gerold
  • Ceropegia bosseri var. razafindratsirana Rauh & Buchloh
  • Ceropegia razafindratsirana (Rauh & Buchloh) Rauh

นิเวศวิทยา

ต้นต้นมังกรดำ ในธรรมชาติพบเติบโตบนหน้าผาหินแกรนิตที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1500 เมตร

การกระจายพันธุ์

การกระจายพันธุ์ของต้นมังกรดำ เป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของเกาะมาดากัสการ์ พบที่เมืองอิโฮซี ( Ihosy ) ทางภาคใต้ตอนกลางของมาดากัสการ์

ต้นมังกรดำ - แคคตัส มังกรดำ Ceropegia bosseri (เซโรพีเจีย บอสเซอร์อาย) เก๋งจีน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นมังกรดำ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ลำต้นอวบน้ำ สีน้ำตาลอมดำ สีเทาอมเขียว หรือสีเขียวเข้มอมดำ ทอดตัวยาวไปตามพื้น ด้านข้างลำต้นยื่นเป็นเหมือนตะขอ ผิวขรุขระหยาบ เมื่อเจริญเติบโตสมบูรณ์มากพอ ที่ปลายยอดจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกระบอกที่มีขนาดเล็กลง เริ่มยืดเลื้อยพันไปตามวัตถุใกล้ต้น

ใบรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ มีขนาดสั้นและเล็ก สีเขียวเข้ม ขึ้นเป็นคู่ตรงข้ามกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ใบจะหลุดร่วงไปเองเพื่อลดการคายน้ำ

ลักษณะดอกมีรูปร่างคล้ายกรงนกสีขาว มี 5 กลีบ ปลายกลีบสีน้ำตาลเข้ม ขอบมีขนสีขาว ออกดอกหงายตั้งขึ้น เป็นดอกไม้ที่แปลก แต่สวยงามมาก

วิธีเลี้ยง และการดูแล

ต้นมังกรดำ จัดเป็น xerophytic plant หรือ พืชที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี ดังนั้นจึงสามารถปลูกเลี้ยงรวมกับแคคตัสในโรงเรือนได้เลย

ต้นมังกรดำ เป็นไม้อวบน้ำที่ปลูกเลี้ยงง่าย แต่เติบโตค่อนข้างช้า ชอบดินแห้งๆ ไม่ชอบน้ำ แต่ต้องการน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อรดน้ำแล้วควรทิ้งช่วงรอจนกว่าดินจะแห้ง เพราะถ้าได้รับน้ำมากเกินไป ต้นก็อาจเน่าได้ง่าย ส่วนใหญ่ตายเพราะรดน้ำมากเกินไป ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ดินปลูก หรือ วัสดุปลูก ที่โปร่ง ๆ ระบายน้ำได้ดี แบบน้ำซึมไหลผ่าน และแห้งเร็ว

ต้นมังกรดำ ชอบแสงแดดรำไร จึงควรปลูกภายใต้สแลนพรางแสง หรือสามารถปลูกวางไว้ริมระเบียง หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดครึ่งวันก็ได้ ถ้าได้รับแสงแดดมาก สีผิวลำต้นจะสีเข้มขึ้น แต่ถ้าได้รับแสงแดดน้อย สีผิวลำต้นจะสีอ่อนลง หากได้รับแสงแดดโดยตรง หรือปลูกกลางแจ้งแดดจัด อาจโดนแดดเผาผิวไหม้ แห้งกร้าน หรือผิวแห้งเหี่ยวย่นได้

ขาย ต้นมังกรดำ - แคคตัส มังกรดำ Ceropegia bosseri (เซโรพีเจีย บอสเซอร์อาย) เก๋งจีน

เมื่อต้นมังกรดำโตสมบูรณ์เต็มที่ ยอดจะเริ่มเปลี่ยนยอดเป็นไม้เลื้อยเพื่อออกดอก จึงควรมีโครงให้ยอดเลื้อยพันขึ้นไป และคอยจัดยอดให้เลื้อยพันไปตามโครงให้เป็นระเบียบก็จะยิ่งสวยงามและออกดอกได้ดกขึ้น

การขยายพันธุ์ต้นต้นมังกรดำ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และปักชำกิ่ง ออกรากง่าย

*ดูราคา เก๋งจีน ดอกเก๋งจีน สายพันธุ์ต่างๆ ...

References: POWO, LLIFLE, BKF