ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ต่างๆมีกี่สี ลักษณะ วิธีปลูกโป๊ยเซียน ขยายพันธุ์ ประวัติความเป็นมา?

โป๊ยเซียน เป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล จากชื่อเซียนทั้งแปด "โป๊ยเซียน" จึงได้รับความนิยมปลูกกันมากและมานานแล้ว จนปัจจุบันมีพันธุ์โป๊ยเซียนสวย ๆ แปลก ๆ พันธุ์ต่าง ๆ ให้เลือกปลูกได้มากมาย โป๊ยเซียนดอกใหญ่ โป๊ยเซียนแคระ โป๊ยเซียนด่าง เป็นต้น ...

ประวัติ ความเป็นมาของโป๊ยเซียน

"โป๊ยเซียน" มีถิ่นกำเนิดในเกาะมาดากัสการ์ (มาลากาซี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านตะวันตกของเกาะจะมีพันธุ์แปลกๆ นอกจากนี้ยังสามารถพบโป๊ยเซียนได้ในป่าแอฟริกาเหนือ

แม้ว่าโป๊ยเซียนเป็นไม้ถิ่นร้อน แต่ในเขตอบอุ่นก็มี นิยมปลูกกันตามบ้านเรือนทั่วไป และมักปลูกในกระถาง เป็นไม้ที่สามารถเจริญงอกงามได้ดีในที่แห้งแล้ง ให้ดอกตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะให้ดอกมาก

แม้ว่าโป๊ยเซียนจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเกาะมาดากัสการ์ก็ตามแต่ โป๊ยเซียนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยนั้น เชื่อว่ามาจากประเทศจีน โดยพ่อค้าชาวจีนเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในเมืองไทย เมื่อประมาณกว่าร้อยปีมาแล้ว

ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ ลายกนก

โดยไม่อาจสืบสาวได้ว่า โป๊ยเซียนได้เดินทางจากถิ่นกำเนิดในกาะมาดากัสการ์ ไปสู่เมืองจีนโดยเส้นทางใด ตั้งแต่เมื่อไร หรือจะเป็นไปได้ว่าเมืองจีนก็เป็นดินแดนกำเนิดอีกแห่งหนึ่งของต้นโป๊ยเซียน (อุทัย และคณะ, 2526)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชื่อวิทยาศาสตร์ ของโป๊ยเซียน

โป๊ยเซียน มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Euphorbia milii Des Moul. อยู่ในสกุลยูฟอร์เบีย Euphorbia จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae หรือวงศ์สลัดใด (Spurge family) ซึ่งในวงศ์นี้มีพันธุ์ไม้อยู่ประมาณ 300 สกุล โป๊ยเซียนมีชื่อสามัญ ภาษาอังฤกษว่า Crown of Thorns ซึ่งแปลว่า "มงกุฎหนาม"

ในประเทศไทย โป๊ยเซียนมีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไปอีกในแต่ละท้องถิ่น เช่น ในกรุงเทพบางที่เรียกไม้รับแขก ที่เชียงใหม่ เรียก ระวังระไว,   พระเจ้ารอบโลก, ว่านเข็มพระยาอินทร์ แม่ฮ่องสอนเรียกว่า ว่านมุงเมือง (อุทัย และคณะ, 2526)

ลักษณะของโป๊ยเซียน

โป๊ยเซียน อาจจำแนกส่วนต่างๆ เฉพาะที่มองเห็นได้เป็นลำต้น หนาม ใบ ดอก และเมล็ด ได้ดังนี้คือ

  1. ลำต้น โป๊ยเซียนโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นไม้กึ่งอวบน้ำ ลำต้นมีขนาดเล็กหรือใหญ่ สุดแต่พันธุ์และชนิด แต่ทุกชนิดจะมีหนามแหลม เมื่อลำต้นที่อายุนานพอสมควร จะเป็นไม้เนื้อแข็ง (Woody) ขึ้น แต่ไม่มีแกนแข็งเหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป ลำต้นบางชนิดอวบอ้วนตั้งตรงแข็งแรง บางชนิดแตกกิ่งแตกพุ่ม บางชนิดลำต้นเอนห้อย
  2. หนาม หนามของโป๊ยเซียนอาจแบ่งออกได้เป็น
    • ขนาดของหนาม ฐานของหนามอาจใหญ่ถึงครึ่งนิ้ว แต่บางชนิดฐานของหนามก็แคบ บางชนิดหนามยาวแหลมเรียว บางชนิดก็หนามสั้น
    • ลักษณะของหนาม อาจมีลักษณะปลายแหลม หรือเรียวแหลม หรือแหลมโค้งปลายเล็กน้อย
    • สีของหนาม อาจมีได้หลายสี เช่น สีขาว สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเทา สีคล้ำ ฐานสีคล้ำ ปลายสีขาวและหนามสีดำ
  3. ใบ ใบโป๊ยเซียนอาจจำแนกได้ดังนี้
    • ขนาดใบโป๊ยเซียนอาจมีขนาดยาวตั้งแต่ 1/4 นิ้ว ไปจนถึง 8 นิ้ว ความกว้าง อาจกว้างเพียง 1/4 นิ้ว ไปจนถึงกว้าง 3 นิ้ว
    • ลักษณะใบโป๊ยเซียนมีหลายรูปแบบ เช่น รูปใบพายปลายมน รูปใบหอกปลายแหลม รูปปลายใบมนโคนสอบ รูปขนมเปียกปูนยาว รูปกลม รูปยาวป้อม รูปหัวใจกลับ
  4. ดอก ดอกของโป๊ยเซียนออกเป็นช่อ ช่อดอกหนึ่งจะมีดอกย่อยออกเป็นคู่ๆ เช่น คู่4 คู่ 8 คู่ 16 คู่ 32 และอาจมีถึง 56 คู่ โดยเรียงแถวกัน หรือออกซ้อนกันสองชั้น สีดอกโป๊ยเซียน อาจมีหลายสี เช่น สีแดงจัด สีแดงอมชมพู สีชมพู สีขาว สีครีม สีม่วง สีเขียว สีเหลือง
  5. เมล็ด เมล็ดของโป๊ยเซียนคล้ายเมล็ดของโกสนแต่เล็กกว่า สีขาว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล และจะดีดกระเด็นออกไปได้ไกล
  6. ผล ผลหรือฝักของโป๊ยเซียน มี 3 กลีบ (lobe) ลักษณะคล้ายของหญ้ายาง (อุทัย และคณะ, 2526)
ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ แม่ฟ้าหลวง

วิธีการปลูกต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ต่างๆ โป๊ยเซียนแคระ โป๊ยเซียนด่าง ต่างก็มีวิธีปลูกดูแลที่เหมือนกัน

รายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีปลูกโป๊ยเซียน

ในสมัยก่อนมีการปลูกแบบง่ายๆ คือ นักกิ่งหรือตัดใช้ปูนทาพอแห้งหมาดๆ แล้วปักลงไปในดินที่ชุ่มน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ จนกว่าจะแตกใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเคยมีการทดลองปลูกแล้วปรากฏว่า เกิดการแห้งเหี่ยวเฉาตายเสียประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นการตายอย่างประหลาด คือ ใบร่วงหลุดหมด แต่ต้นยังเขียวอยู่ เมื่อเอามือจับดูปรากฏว่าเน่าฝ่อ

โดยนิสัยของโป๊ยเซียนชอบที่โปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ได้รับแสงแดดพอ สมควร ไม่ชอบในที่มีน้ำขังอยู่เป็นเวลานาน ดังนั้นลักษณะโรงเรือนควรเป็นดังนี้ คือ ตั้งเสาทำหลังคาสูงประมาณ 3 เมตร มีคานที่ปลายเสา ความถี่ของเสาและไม้ระแนงที่คาน ขึ้นอยู่กับสถานที่มากน้อยขนาดไหน

หลังคาควรจะเป็นพลาสติกใสชนิดที่ใช้สำหรับทำหลังคาโรงเรือนปลูกต้นไม้ หรือซาแลน ซึ่งเป็นตาข่ายกรองแสง ควรแบ่งบริเวณสำหรับวิ่งซาแลนให้แสงแดดผ่านได้ 30-50% ส่วนหนึ่งผ่านได้ 70% อีกส่วนหนึ่งไม่มีตาข่ายกรองแสง เพราะโป๊ยเซียนบางสายพันธุ์ชอบและไม่ชอบแสงแดดมากหรือน้อยต่างกัน

แต่ถ้าเป็นฤดูฝนกับฤดูร้อนควรมีหลังคาช่วยกันฝน ที่จะทำให้ดอกเสียหาย และถ้าถูกแสงแดดมากเกินไปในฤดูร้อนจัดๆ ใบจะไหม้เกรียม บริเวณโรงเรือนไม่ควรอยู่ในพื้นที่มีฝุ่นมากเกินไป อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีของเน่าเสีย

ยกพื้นให้สูงประมาณ 50 ซม. ความกว้างขึ้นอยู่กับสถานที่ ทำเป็นชั้นวางเพื่อให้อากาศถ่ายเทใต้กระถาง และป้องกันไส้เดือนกับหญ้าจากพื้นดิน ชั้นวางกระถางควรทำด้วยไม้ระแนง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกในกรณีที่เป็นโรงเรือน สำหรับขยายกิ่ง ไม่เหมาะที่มีลมโกรกมาก ควรให้มีอากาศชื้น (เจริญ สุขพงษ์, 2539)

วิธีขยายพันธุ์โป๊ยเซียน

การขยายพันธุ์โป๊ยเซียน สามารถทำได้ 5 วิธี คือ วิธีเสียบยอด, วิธีปักชำในน้ำ, วิธีการติดตา, วิธีตัดกิ่งปักชำ และวิธีการเพาะเมล็ด

การเสียบยอดโป๊ยเซียน

ต้นตอหรือไม้ตอ พบว่าโป๊ยเซียนพันธุ์"แดงอุดม” เป็นไม้ตอดีที่สุดมีคุณสมบัติสามารถสร้างเนื้อเยื่อให้ติดกันได้ง่าย มีรากมาก หาอาหารได้เก่ง

ก่อนทำการเสียบยอดต้องไม่ให้น้ำ ไม่ให้ปุ๋ยกับไม้ตอ มีอุปกรณ์คือ เมื่อมีไม้ตอกับกิ่งที่จะเสียบพร้อมแล้ว ต้องมีมีดขนาดเล็กคมและบาง หรือคัดเตอร์ เชือกฟาง ยางที่เป็นวงกลมๆ ใช้สำหรับรัดของทั่วไป ถุงพลาสติกและไม้ขนาดเล็กยาวประมาณ 1 คืบกว่าๆ หรือจะใช้ตะเกียบ

การเสียบยอดกระทำได้หลายรูปแบบ คือ ตัดไม้ตอประมาณกลางต้นออก แล้วผ่าให้เป็นลักษณะตัววี (V) ให้ลึกลงประมาณ 1 ซม. หรือกว่าพอประมาณ แล้วใช้มีดเฉือนกิ่งพันธุ์เป็นลิ่มกะให้พอดีกันหรือจะเสียบข้างๆ เช่นเดียวกับการเสียบกิ่งมะม่วง ควรตัดใบกับหนามทิ้งเสียบ้าง เพื่อที่จะใช้เชือกฟางมัด และมัดบริเวณรอยต่อระหว่างต้นตอกับสิ่งที่เสียบ

ควรใช้เชือกฟางนั้นผูกตอกับหนามของกิ่งที่เสียบ เพื่อยึดให้แน่น ปักไม้หรือตะเกียบลงในกระถางต้นตอ เพื่อคอยดันถุงพลาสติกที่คลุมไม่ให้ยุบลงไป หรือเอนตามแรงลมไปถูกต้นที่เสียบได้ ถุงพลาสติกควรจะเป็นขนาดเล็กพอๆ กับปากกระถางของต้นตอ เมื่อคลุมถุงพลาสติกถึงปากกระถาง ใช้เชือกหรือยางรัดกับกระถาง

แล้วนำไปเก็บในที่มีแดดรำไร ที่มีลมพัดผ่านไม่มาก ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ระหว่างที่กิ่งโป๊ยเซียนยังอยู่ในถุงพลาสติกต้องคอยดูบ้าง จนเมื่อถึงเวลา 7-10 วัน ก็เปิดปากถุงพลาสติกออกดูแผลที่เสียบติดกันแน่นดีแล้ว 

ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ พรวสันต์

เมื่อติดแน่นจนแน่ใจว่าไม่หลุด ใช้น้ำผสมยากันเชื้อราเล็กน้อยรดให้ทั่วทุกต้น เพราะการเสียบยอดนี้จะกระทำพร้อมๆ กันหลายต้น บางรายอาจถึง 100 กิ่ง ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จึงเปลี่ยนกระถาง เปลี่ยนดินใหม่ ส่วนยอดตอที่ตัดออกไปไม่ควรทิ้ง นำไปใส่ขวดเช่นเดียวกับการตัดกิ่งปักชำในน้ำได้อีกต่อไป (เจริญ สุขพงษ์, 2539)

รายละเอียดเพิ่มเติม

การตัดกิ่งโป๊ยเซียน ปักชำในน้ำ

การปักชำในน้ำ เป็นวิธีการปฏิบัติที่ง่ายและประหยัด ได้ผลเกือบ 100% ทำได้โดยเพียงฉีดยาป้องกันเชื้อราต้นที่จะขยายพันธุ์ไว้ประมาณ 10 วัน ใช้ขวดจำพวกลิโพหรือกระทิงแดง ล้างน้ำให้สะอาด จะนึ่งหรือต้มก็ได้อีกครั้งหนึ่ง นำมาล้างน้ำใหม่ ใช้มีดคมและบางเล็กๆ ตัดกิ่งที่ไม่อ่อนเกินไป ตัดที่โคนเลย แล้วใช้ปูนแดงทารอยต่อ

นำกิ่งที่ตัดมานั้นไปล้างน้ำที่สะอาดที่สุด แล้วจุ่มลงในภาชนะที่ใส่ยาเร่งรากจนครบหมดทุกต้น น้ำที่ใส่ในขวดก็ต้องสะอาด นำกิ่งที่จะชำใส่ลงในขวดน้ำให้ลึกต่ำกว่าปากขวดลงไป

นำไปตั้งในที่มีแดดรำไร ประมาณ 20 วัน ระวังระดับน้ำอย่าให้ต่ำกว่าโคนกิ่ง กับเชื้อราจะเห็นได้จากจุดดำระหว่างนั้น ควรดูว่ากิ่งใดพอมีรากออกมาบ้างแล้ว บางกิ่งมีรากออกมาได้ง่าย บางกิ่งออกรากยาก

แต่ไม่ควรปล่อยจนมีรากยาวเกินไป เมื่อพบว่ามีรากออกมาบ้างแล้วก็นำไปปลูกในแปลงดิน หรือกระถางดินที่เตรียมไว้(เจริญ สุขพงษ์, 2539)

สาเหตุการเน่าของกิ่งปักชำโป๊ยเซียน

กิ่งชำที่ตัดจากต้นแม่ ยอดใหญ่ กิ่งมีขนาดใหญ่ มักจะเกิดความเสียได้สูงถึง 100% ปัจจัยที่ทำให้กิ่งชำเกิดความเสียหาย มีดังนี้คือ

  1. คุณภาพกิ่ง ค่า CN ratio ในกิ่งชำ และกิ่งชำที่อ่อนเกินไปพบว่าเกิดการเน่าได้ง่าย แต่ถ้าหากใช้กิ่งชำที่แก่เกินไป โอกาสที่ออกรากมีน้อย ออกรากยาก อีกประการหนึ่งคือพวกสิ่งมีชีวิต จำพวกจุลินทรีย์ที่อยู่ตามบริเวณผิวของกิ่งหรือใบ ซึ่งอาจเข้าทำลายทำให้เกิดการเน่าได้
  2. คุณภาพวัสดุที่ใช้ปักชำ มีผลต่อการออกราก ถ้าหากออกรากได้เร็ว โอกาส จะเน่าก็เกิดขึ้นน้อย
  3. สภาพแวดล้อม พบว่า กิ่งปักชำที่โดนฝนจะแสดงอาการเน่าในเปอร์เซนต์สูง เกิดความเสียหายมาก
  4. แผลที่กิ่ง มีผลต่อการเข้าทำลายของเชื้อ ทำให้เซลตรงรอยแผลเน่า ทำให้กิ่งปักชำไม่ออกราก (ข้อมูลจากอาจารย์สมชาย สุขะกุล)

การขยายพันธุ์โป๊ยเซียน ด้วยวิธีการติดตา

(เจริญ สุขพงษ์, 2539) การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ มีส่วนเหมือนกับการขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด เป็นวิธีของมืออาชีพ ต้องการขยายพันธุ์คราวละมากๆ กิ่ง เลือกต้นที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด คือ ใช้ตาที่จะแตกกิ่งได้ โดยใช้ตากับใบเลี้ยงเพียง 1 ใบ เป็นที่ยอมรับทั่วไป ไม้ตอที่ดีที่สุดคือโป๊ยเซียนพันธุ์แดงอุดม หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง หาอาหารเก่ง ลำต้น แข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง รากออกได้ง่าย

ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ มหาเศรษฐี

วิธีการก็คือ เฉือนต้นตอที่มีความสูงประมาณ 4-5 นิ้ว ให้เป็นรูปตัววี (V) หรือ บากปากฉลาม แล้วปากกิ่งตาพันธุ์ที่มีใบ 1 ใบติดอยู่ ให้พอดีกับที่เฉือนไม้ตอเป็นปากฉลามไว้ แล้วเสียบเข้าไป หลังจากนั้นใช้เชือกฟางมัด คลุมด้วยถุงพลาสติก นำไปใช้ในที่มีแดดรำไร ประมาณ 7 วัน

รายละเอียดเพิ่มเติม

การตัดกิ่งปักชำ หรือ ตัดกิ่งปลูกในแปลง

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ทำกันมานานแล้ว ได้ผลมากน้อยขึ้นอยู่กับกรรมวิธี การปฏิบัติบำรุงรักษาและอีกประการหนึ่งได้แก่ ดินที่นำมาใช้สำหรับปักชำ เริ่มแรกด้วยการใช้มีดมีความคมมากๆ และสะอาดด้วย โดยทั่วไปจะมีมีดสำหรบัตัดกิ่งโดยเฉพาะ หรืออาจใช้คัตเตอร์บ้าง แต่ก่อนอื่นควรจะได้มีการเตรียมแปลงดิน แปลงดินสำหรับชำหรือตัดกิ่งปลูก โดยรวมแล้วมีดังนี้

ดินขุยไผ่ ส่วนผสมใบก้ามปูสลายตัวแล้ว เถ้าแกลบล้างน้ำจนสะอาด ไม่มีกรด เคล้าให้เข้ากัน หรือจะใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับขุยมะพร้าวและทราย ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน หรืออาจใช้เพียงแกลบอย่างเดียวก็ได้ แต่ต้องสะอาด ล้างน้ำจนไม่มีกรดเสียก่อน

เมื่อมีแปลงดินอยู่พร้อมแล้ว จึงเริ่มตัดกิ่งที่จะขยายพันธุ์ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้กิ่งซ้ำ ทำให้เน่าได้ง่าย การตัดกิ่งพยายามเลือกตัดที่ใกล้กับต้น ใช้ปูนทารอยตัดนั้นด้วย ป้องกันการเน่าของต้น นำมาล้างน้ำเอายางออกให้หมด แล้วจุ่มลงในยาเร่งรากทิ้งฝั่งไว้ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนจะปักลงดิน ใช้ไม้แทงแปลงดินให้เป็นรูนำไว้ก่อน ดีกว่าจะใช้กิ่งปักลงโดยตรง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ต้องให้ต้นที่ฝังในดินนั้นแน่น เพื่อป้องกันการคลอนตัว จึงควรมีเสากำกับไว้ ระวังอย่าให้ถูกแสงแดดมากหรือถูกฝนเลย และอย่าให้น้ำจนแฉะหรือมากไปก็ไม่ดี หากจะสร้างตู้แบบตู้บอนสีเต็มก็เป็นการดีมากๆ ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน การให้น้ำรดด้วยยา ฆ่าเชื้อรากับยาเร่งราก จนเมื่อเห็นว่ารากเจริญแข็งแรงดีแล้ว จึงนำไปปลูกในกระถาง (เจริญ สุขพงษ์, 2539)

การขยายพันธุ์โป๊ยเซียนด้วยการเพาะเมล็ด

เมื่อปี พ.ศ.2520 (ครั้งแรก) และปี พ.ศ.2527 (ครั้งสอง) พบว่า ชาวเชียงใหม่ หลายสิบรายผสมเกสรได้ลูกไม้ใหม่ ด้วยวิธีดังนี้

  • ก. นำต้นโป๊ยเซียนที่มีดอกสวยๆ มาไว้ใกล้ๆ กันให้แมลงเป็น "สื่อ" นำเกสรไปผสมตามธรรมชาติ
  • ข. เด็ดดอกของต้นหนึ่ง ใช้เกสรไปแตะกับเกสรของอีกต้นหนึ่ง
  • ค. ใช้พู่กันแตะเกสรของต้นนี้ ประคองไปแตะกับเกสรของต้นนั้นในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. เกสรคือส่วนที่ตรงกลางของกลีบดอก จะมีทั้งเกสรเพศผู้กับเกสรเพศเมียอยู่ในเกสรเดียวกัน เส้นเล็กๆ มีละอองและยาวคือเกสรเพศผู้ ส่วนเกสรเพศเมียจะเป็นปมมีน้ำเหนียวใสล้อมรอบ

    หลังจากผสมเกสรแล้วอย่ารดน้ำให้ถูกดอก เพราะจะทำให้ดอกเน่า เมื่อเกสรเป็นตุ่มนูนขึ้นมาแสดงว่าผสมติด ใช้ถุงพลาสติกทำให้โปร่งด้วยการเจาะรู สวมป้องกันการกระเด็นดีดตัวของเมล็ด นับตั้งแต่วันที่ผสมติด เมล็ดก็จะแก่เป็นสีดำๆ มีเปลือกหุ้ม เก็บรวบรวมเพื่อเพาะในดิน
ต้นโป๊ยเซียน พันธุ์ เพชรเพทาย

ดินที่ใช้เพาะเมล็ดโป๊ยเซียนต่างกับดินที่ใช้ปลูกทั่วไป ส่วนมากจะใช้สูตรและส่วนผสมคือ เถ้าแกลบ ทราย และขุยมะพร้าว ล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งไว้พอหมาดๆ ผสมด้วยดินก้ามปูด้วยก็ได้ ใส่ลงภาชนะกระบะดินหรือพลาสติกหรือถาดขนาดย่อม เมล็ดจะเพาะคือฝังลงในดินปลูก วางระยะห่างกันประมาณ 1 นิ้วฟุต เพื่อสามารถถอนทิ้งได้ทัน เมื่อเกิดโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อควรระวังในการเพาะเมล็ดโป๊ยเซียน คือ มดดำ มดแดง ที่ชอบเข้าไปอยู่ และทำรังในกะบะเพาะ ดังนั้นควรนำกะบะเพาะเมล็ดหล่อนป้องกันไว้ พร้อมทั้งหาอะไรมาคลุมให้อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อกันนกคุ้ยจิกกินเมล็ด หลังจากนั้นประมาณ 15-20 วัน ต้นเล็กๆ จะโผล่พ้นดินขึ้นมาสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเริ่มแตกใบ ถึงตอนนี้ไม่ต้องหล่อนอีกแล้ว เมื่อต้นใหญ่สมบูรณ์แข็งแรง คือประมาณ 1 เดือน จึงทำการแยกปลูกลงกระถาง (เจริญ สุขพงษ์, 2539)

อ้างอิง: สำนักหอสมุด กำแพงแสน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นกันภัยมหิดล ประวัติความเป็นมา ลักษณะ, วิธีปลูก การใช้ประโยชน์ การขยายพันธุ์?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

อโกลนีมา พันธุ์ต่างๆ แก้วกาญจนา ความหมาย ชื่อสายพันธุ์อะไรบ้าง พันธุ์ใหม่ ราคา?

ต้นโมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด) วิธีปลูกต้นโมกเขา ขยายพันธุ์ ราคา?

ต้นโมกมีกี่ชนิด โมกพวง, โมกซ้อน, โมกบ้าน (โมกลา) แตกต่างกันยังไงบ้าง ราคาถูก?

ผักคะนองม้า(เต่าเกียด) ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน กินได้ เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ?

ต้น'โมกหลวง (โมกใหญ่) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร ไม้ดอกหอมไทย?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ราสนิม ลีลาวดี อันตรายไหม? สาเหตุ แพร่ระบาด วิธีแก้ รักษา ป้องกัน กำจัดราสนิม?