Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว สรรพคุณ สมุนไพร วิธีปลูก?

  • ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบแดง (KRA CHIAP DAENG)
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.
  • ชื่อวงศ์ Malvaceae
  • ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง (ภาคเหนือ), ส้มตะเรงเครง (ตาก), ส้มปู(แม่ฮ่องสอน), Jamaica sorrel, Indian sorrel, Roselle

สรรพคุณของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา

กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณ, ประโยชน์, การปลูก, ราคา
photo by กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ตำราสรรพคุณยาไทยว่ากระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว ดอกมีสรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้เสมหะ ขับน้ำดี แก้ไอ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบและขับเมือกมันในลำไส้

รายละเอียดเพิ่มเติม

กระเจี๊ยบแดง

  • กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชปีเดียว
  • ต้น เป็นพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง
  • ใบ ก้านใบยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักเว้าลึก 3-5 หยักหรือเรียบ ตัวใบเป็นรูปรีแหลม
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยวสีชมพู ตรงกลางดอกมีสีเข้มกว่าส่วนนอก ออกดอกบริเวณง่ามใบ ก้านดอกสั้น กลีบรองดอกมีลักษณะปลายแหลม ประมาณ 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงมีสีแดงเข้มแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร
  • ผล เป็นรูปรีปลายแหลม ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร หุ้มไว้ด้วยกลีบเลี้ยงสีแดง

ส่วนที่ใช้ทำยา

กระเจี๊ยบใช้ส่วนของดอก ในส่วนของกลีบเลี้ยงและริ้วประดับแห้ง ปลายกลีบเลี้ยงทั้ง 5 รวบเข้าหากัน ยาว 3-4 เซนติเมตร ส่วนล่างมีรูกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร สีแดงคล้ำถึงสีดำ มีกลิ่นเฉพาะ รสเปรี้ยว

รายงานการวิจัยปัจจุบัน

ข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า กระเจี๊ยบมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตลดไขมันในเลือด โดยลดการสร้างไขมัน และเซลล์ไขมัน ลดการเกิดออกซิเดชันของแอลดีแอล และการเกิดโฟมเซลล์ (foam cell) ซึ่งเป็นสาเหตุของการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้ลดการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ต้านออกซิเดชันและอนุมูลเสรี ป้องกันตับจากสารพิษ ทำลายเซลล์มะเร็ง ต้านการกลายพันธุ์ การส่งเสริมการเกิดเนื้องอก (tumor promotion) และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และทำให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะใสกว่าเดิม ขับกรดยูริกทางปัสสาวะ เพิ่มการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ ลดการเกิดนิ่ว ลดความดันโลหิตและลดไขมันในเลือด

สารสำคัญ

องค์ประกอบทางเคมีของกระเจี๊ยบแดงประกอบด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) เช่น สารไซยานิดิน (cyanidin) เดลฟินิดิน (delphinidin) ซึ่งทำให้มีสีม่วงแดง กรดแอซีติก (acetic acid), กรดมาลิก (malic acid), กรดโพรโทแคทีชูอิก (protocatechuic acid) แคลเซียม วิตามินซีและวิตามินบี3

แหล่งกำเนิด และกระจายพันธุ์

พืชชนิดนี้ เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว ปลูกได้ทั่วทุกภาค ในต่างประเทศปลูกกันทั่วไป ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั่วโลก

พื้นที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย

  • ลักษณะพื้นที่ : เป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี
  • ภาค : ทุกภาคของประเทศไทย
  • จังหวัด : ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ

การคัดเลือกพันธุ์ (พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย)

  • พันธุ์ที่ใช้เป็นยา : พันธุ์พื้นเมืองทั่วไป
  • พันธุ์ที่ใช้เป็นอาหาร : พันธุ์ซูดาน หรือพันธุ์เกษตร เนื้อหนามีสีแดงเข้มจนถึงม่วง

การขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเอาเมล็ดจากดอกแก่จัด มาตากแดด 1 – 2 วัน จนแห้งสนิท เก็บใสขวดโหลจนถึงฤดูเพาะปลูก นำออกมาปลูกได้เลย เพราะกระเจี๊ยบแดงไม่มีระยะฟักตัว

วิธีการปลูก/สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก

  • ฤดูกาลเพาะปลูก กระเจี๊ยบแดงส่วนมากนิยมปลูกฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เพราะระยะแรกกระเจี๊ยบต้องการฝนบ้างในการเจริญเติบโต
  • การเตรียมดิน ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นแปลง หรือยกร่อง การเตรียมดิน โดยการไถดะ 1 ครั้ง แล้วไถแปลอีก 1 ครั้ง แล้วคราดกำจัดวัชพืชออก ไถยกร่องเพื่อระบายน้ำ และทำการหว่าน หรือหยอดเมล็ด
  • วิธีการปลูก กระเจี๊ยบขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด นิยมปลูกพันธุ์ซูดานมากกว่าพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อหนา สีแดงเข้ม มีน้ำหนักมาก ทนต่อความแห้งแล้งมาก การปลูกมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีได้แก่การหว่านลงในแปลงปลูก และการหยอดหลุม
    • วิธีที่ 1 การหว่านเมล็ด ส่วนมากจะทำเป็นแปลงใหญ่ ๆ โดยการไถพรวนกำจัดวัชพืช แล้วใช้เมล็ดหว่านบาง ๆ ไม่หนามากแล้วไถกลบ
    • วิธีที่ 2 การหยอดหลุม ประมาณ 4-5 เมล็ด แล้วกลบดินกันเล็กน้อย โดยหลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะงอกขึ้นมา

การปฏิบัติดูแลรักษา

  • การให้ปุ๋ย : พอกระเจี๊ยบงอกขึ้นมาจะถอนให้เหลือหลุม 2-3 ต้น และถ้ากระเจี๊ยบอายุ 20-30 วัน จะสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ทำการพรวนดินใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักชีวภาพ
  • การให้น้ำ : กระเจี๊ยบไม่ชอบน้ำ ถ้าปลูกครั้งแรกให้น้ำสัก 1-2 ครั้ง ต่อวันก็พอ ถ้ามีฝนตกก็ไม่จำเป็น
  • การกำจัดวัชพืช : กระเจี๊ยบ อายุ 20-30 วัน จะสูงประมาณ 20 เซนติเมตรทำการพรวนดินกำจัดวัชพืขและกลบโคนต้นให้แน่น ป้องกันการล้มของต้นกระเจี๊ยบไปด้วย
  • การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู ควรฉีดพ่นยา 2 ครั้ง ครั้งแรกต้องทำการพรวนดินใส่ปุ๋ย เมื่ออายุ 30 วัน ครั้งที่ 2 เมื่อกระเจี๊ยบเริ่มออกดอกติดฝักอ่อน โดยใช้สารสะเดา หรือใช้สารเคมีจำพวกมาลาไทออน (ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้)

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

  • ฤดูกาลการเก็บเกี่ยว จะเริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม
  • วิธีการเก็บเกี่ยว จะใช้เวลาเก็บประมาณ 2-3 ครั้งต่ออายุการปลูก โดยการปลูกจะเก็บดอกที่แดงจัดถึงม่วงอ่อน และต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ คือ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง
    ซึ่งการเก็บเกี่ยวกระเจี๊ยบแดง สามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้
    1. เก็บเกี่ยวเฉพาะดอกกระเจี๊ยบ โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดเฉพาะดอกกระเจี๊ยบที่แก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว
    2. เก็บเกี่ยวทั้งต้นกระเจี๊ยบ เกษตรกรใช้เคียวเกี่ยวกิ่งที่มีดอกกระเจี๊ยบหรือเกี่ยวบริเวณโคนต้น
  • การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บดอกออกมาแล้ว ควรนำมาผึ่งลมไม่ให้มีความชื้น และทำการกระทุ้งกระเปาะของเมล็ดที่อยู่ตรงกลางออก เพื่อให้เหลือแต่กลีบเลี้ยงสีแดงเท่านั้น และทำการตากแดด 3-5 วัน แล้วนำไปอบ เพื่อบรรจุต่อไป
  • การบรรจุและการเก็บรักษา เมื่ออบแห้งแล้ว จะบรรจุลงถุง หรือกระสอบสะอาดปราศจากความชื้น แล้วเย็บปากถุงและกระสอบ เพื่อไม่ให้แมลงเข้าได้ควรเก็บในอุณหภูมิห้องปกติ

การจำหน่าย

ดอกกระเจี๊ยบสด ราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท
ดอกกระเจี๊ยบแห้ง ราคากิโลกรัมละ 150-250 บาท

Synonyms

  • Abelmoschus cruentus (Bertol.) Walp.
  • Furcaria sabdariffa Ulbr.
  • Hibiscus cruentus Bertol.
  • Hibiscus digitatus Cav.
  • Hibiscus digitatus var. kerrianus DC.
  • Hibiscus fraternus L.
  • Hibiscus gossypifolius Mill.
  • Hibiscus masuianus De Wild. & T.Durand
  • Hibiscus palmatilobus Baill.
  • Hibiscus sanguineus Griff.
  • Sabdariffa digitata (Cav.) Kostel.
  • Sabdariffa rubra Kostel.

ที่มา: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

รายละเอียดเพิ่มเติม