✓ต้นไม้:'นมแมว' ไม้ดอกหอมไทย ประโยชน์ สรรพคุณ สมุนไพร?
ข้อมูล ต้นนมแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ การใช้ประโยชน์, สรรพคุณ, เป็นผลไม้ป่า, พืชที่กินได้, ไม้ประดับ, พืชสมุนไพร ถิ่นอาศัย, การกระจายพันธุ์ ไม้ป่าไทย, ลักษณะดอก,ใบ ไม้พุ่มรอเลื้อย
ข้อมูลทั่วไป ถิ่นอาศัย, แหล่งที่พบ
ถิ่นอาศัย ขึ้นตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าดงดิบแล้ง และป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 300 ม.การกระจายพันธุ์ พบทุกภาคของประเทศไทย ต่างประเทศพบที่เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมาเลเซีย
ต้นนมแมว
- ชื่อวิทยาศาสตร์: Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saunders
- วงศ์ (Family): Annonaceae
- สกุล (Genus): Uvaria
- ชื่อท้องถิ่นอื่น : นมแมว (ภาคกลาง), กะหวัน (ไทโคราช-อ.ชุมพวง นครราชสีมา), หัวสุ่ม (ไทโคราช-อ.เมืองยาง นครราชสีมา), กล้วยน้อย เครือกล้วยน้อย (อีสาน), กล้วยน้ำ (อ.เชียงขวัญ ร้อยเอ็ด), หมากอร่อย (อ.พรรณานิคม สกลนคร), หมากกล้วยเห็น หมากกล้วยน้อย (ไทญ้อ-อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม), กล้วยทาม (อ.บ้านดุง อุดรธานี, อ.เจริญศิลป์ สกลนคร), โอเซ็ล อูเซ็ล (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์), กะวัน (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
Synonyms
- Fissistigma schefferi (Pierre ex Finet & Gagnep.) Merr.
- Melodorum fruticosum Lour.
- Melodorum schefferi Pierre ex Finet & Gagnep.
- Melodorum siamense (Scheff.) Bân
- Rauwenhoffia siamensis Scheff.
- Uvaria godefroyana Finet & Gagnep.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะอยู่อาศัย : ไม้พุ่มรอเลื้อย ยาวได้ถึง 7 ม.
- ลักษณะลำต้น : ตามกิ่งอ่อน ใบ ก้านใบ ดอก และช่อดอกมีขนกระจุกรูปดาวสีน้ำตาลแดง
- ใบ : ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 8-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย แผ่นใบหนาเรียบ ผิวใบด้านล่างมีขนกระจุกประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 9-11 เส้น (ปลายเส้นโคงจรดกัน) ก้านใบ ยาว 3-5 มม.
- ดอก : ช่อดอกออกตรงข้ามใบ มี 1-3 ดอก/ช่อ ก้านดอกยาว 5-8 มม.
- กลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อน
- กลีบดอก : กลีบดอก 6 กลีบ สีเหลืองนวล รูปไข่กว้าง ยาว 1 ซม. ปลายแหลม ดอกบานกว้าง 2 ซม. มีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม
- ผล : ผลทรงกลมหรือแกมรี เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. ปลายมีติ่งสั้นหรือกลม มีขนสั้นหนาแน่น ก้านผลยาว 3-5 มม. ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 2-10 ผล ก้านช่อผลยาว 1-2 ซม. ผลสุกสีเหลือง มี 2-4 เมล็ด/ผล ผลแก่ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
การใช้ประโยชน์
- ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร : ผลอ่อนมีรสฝาด ผลสุกสีเหลืองรสหวานหอม กินเป็นผลไม้ป่า
- ใช้เป็นสมุนไพร : แก่นตากแห้งต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ, ทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อย, เถาตากแห้งต้มน้ำดื่มรักษาโรคกระเพาะ, เถาเข้ายาอื่นๆ รักษาโรคอุปทม (กามโรค), รากต้มน้ำดื่มบำรุงน้ำนมในแม่ลูกอ่อนหรืออยู่กำ (อยู่ไฟ), รากต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง
- ใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน : เถาเนื้อเหนียวใช้ทำขอบตะกร้า ขอบกระบุง ขอบสวิง กงลอบ กงไซ
- ใช้ประโยชน์อื่นๆ : ดอกมีกลิ่นหอมเย็น นำมาบูชาพระ หรือปลูกประดับเป็นไม้ดอกหอม
ที่มาข้อมูลและภาพ : หนังสือเผยแพร่: ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน