ต้นกระถินเทพา ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ชื่อวิทยาศาสตร์ วิธีการปลูก ดูแล เพาะเมล็ด?

ข้อมูล ต้นกระถินเทพา ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ชื่อวิทยาศาสตร์ ขายเมล็ดพันธุ์ วิธีปลูก เพาะเมล็ด ระยะปลูก การดูแล รักษา การใช้ประโยชน์ ตลาดและราคา ไม้กระถินเทพา ...

กระถินเทพา

ต้นกระถินเทพา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia mangium Willd. จัดอยู่ในวงศ์ FABACEAE-MIMOSOIDEAE มีชื่อพื้นเมืองเป็นชื่ออื่นอีกว่า กระถินซาบาห์ ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Mangium, Brown salwood

การปลูกและการดูแลรักษาต้นกระถินเทพา

กระถินเทพา

การเตรียมต้นกล้าด้วยเมล็ด ควรเริ่ม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม

1. การเพาะเมล็ด

เริ่มกระทําโดยนําเมล็ดลงแช่ในน้ำร้อนซึ่งมีอุณหภูมิ 80 ถึง 100 องศาเซลเซียสอัตราส่วนของเมล็ดกับน้ำควรเป็น 1 ต่อ 10 โดยปริมาตร ใช้เวลาแช่น้ำประมาณ 30 วินาที รินน้ำร้อนทิ้งแล้วเติมน้ำเย็นประมาณ 25 องศาเซลเซียส ลงไปแทนที่ แช่เมล็ดไว้ 1 คืน โรยเมล็ดลงเป็นแถวๆ ในกระบะเพาะแล้วกลบด้วยทรายละเอียด วัสดุในกระบะเพาะเมล็ดควรเป็นดินร่วนผสมทรายในอัตราส่วน 1:1 และเมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะประมาณ 3 - 8 วัน

2. การย้ายชํา

ควรกระทําหลังจากเมล็ดงอกประมาณ 15 วัน หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 2 - 3 ใบ วัสดุชําใช้ดินร่วนหรือปุ๋ยคอกผสมทราย ถุงเพาะชําควรมีขนาด 3 x 6.5 นิ้ว (ขนาดบรรจุ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร) ก่อนทําการย้ายกล้าควรรดน้ำกระบะเพาะ และถุงเพาะให้ชุ่มก่อน

3. การดูแลรักษา 

ต้นกล้าในระยะ 3 วันแรกหลังจากย้ายลงปลูกในถุงเพาะ ควรให้ได้รับแสงแต่น้อยไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเมื่อกล้าเริ่มแข็งแรงและมีอายุมากขึ้น จึงค่อยให้ได้รับแสงเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายก่อนนําไปปลูกประมาณ 1 เดือน ควรให้ได้รับแสงเต็มที่ ต้นกล้าควรได้รับการฉีดพ่นยากําจัดศัตรูพืชบ้างเมื่อมีโรคและแมลงรบกวน และหากต้องการเร่งการเจริญเติบโตอาจใช้ปุ๋ยเคมี N-P-K-Mg สูตร 12:12:17:2 ในอัตรา 125 กรัม ต่อน้ำ 40 ลิตร ฉีดพ่นทางใบทุก 2 สัปดาห์ การให้น้ำต้นกล้าควรกระทําในเวลาเช้าหรือเย็น หรือเมื่ออากาศไม่ร้อนจัด ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 - 6 เดือน ก่อนนําไปปลูก

พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูก

ไม้กระถินเทพาเป็นไม้ต่างถิ่น สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ ปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของไม้กระถินเทพา ได้แก่

(1) อุณหภูมิ

โดยทั่วไปไม้กระถินเทพาจะขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 13 - 21 องศาเซลเซียส กระถินเทพาจะไม่ขึ้นในบริเวณที่อุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิต่ำถึงจุดน้ำค้างแข็ง

(2) น้ำฝน

กระถินเทพาเป็นไม้ที่ขึ้นบนที่ชุ่มชื้น ความแห้งแล้งจะทําให้การเจริญ เติบโตลดลงมากปริมาณน้ำฝนในแหล่งธรรมชาติของกระถินเทพานั้นแตกต่างกันมาก กล่าวคือตั้งแต่ 1,000 มิลลิเมตรจน ถึง 45,000 มิลลิเมตรต่อปี

(3) ดิน

กระถินเทพาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินหลายชนิด เช่น ดินที่มีหินปะปน ดินที่ถูกชะล้างมาก่อนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต่ำและยังขึ้นได้ดีในดินลึกที่เกิดจากการสลายตัวของวัตถุต้นกําเนิดดิน หรือดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนในบริเวณที่ลุ่มซึ่งยังเจริญได้ดีในดินที่เป็นกรดช่วง pH ที่เหมาะสมคือ pH 4 - 6

วิธีปลูก ต้นกระถินเทพา

วิธีปลูก ต้นกระถินเทพา

กระถินเทพาสามารถเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่จะเติบโตช้าในช่วงแรก ต้นกล้าที่ใช้ปลูกควรมีอายุประมาณ 3 - 6 เดือน หรือมีความสูงตั้งแต่ 30 - 50 เซนติเมตร ก่อนย้ายต้นกล้าไปแปลงปลูกควรมีการตัดแต่งรากที่งอกออกมานอกถุงเพาะชํา และรดน้ำให้ชุ่มก่อนย้ายปลูก

รายละเอียดเพิ่มเติม

1. การกําหนดฤดูปลูก

โดยทั่วไปควรปลูกต้นฤดูฝน เพราะจะทําให้ต้นกระถินเทพามีช่วงรับน้ำฝนเพื่อการเจริญเติบโตได้ยาวนานเพียงพอ สามารถตั้งตัวได้ทันก่อนฤดูแล้งจะมาถึง โดยทั่วไปควรเริ่มปลูกประมาณเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

2. การเตรียมพื้นที่ปลูก

กระถินเทพาเป็นพืชที่มีความต้องการแสงแดด ดังนั้น พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่ซึ่งมีวัชพืชมากควรมีการเตรียมดินให้ดีเป็นพิเศษเพื่อลดปัญหาเรื่องกําจัดวัชพืชให้น้อยลง เนื่องจากกระถินเทพามีคุณสมบัติเติบโตช้าในระยะแรก

3. ระยะปลูก

ระยะปลูกต้นกระถินเทพา ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เงินลงทุน การใช้ประโยชน์และความสะดวกในการทํางานสําหรับการปลูกไม้โตเร็วโดยทั่วไปนิยมใช้ระยะ 2 x 2 เมตร (400 ต้น/ไร่) แต่ถ้าปลูกในพื้นที่จํานวนมาก ควรใช้ระยะ 3 x 1หรือ 3 x 2 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้

4. วิธีปลูก

หลุมปลูกต้นกระถินเทพานั้น ควรเตรียมให้มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของถุงเพาะชําเล็กน้อย ก่อนปลูกต้องฉีกถุงเพาะชําออกและต้องระวังอย่าให้ดินที่หุ้มรากอยู่ปริแตกได้ เพราะจะทําให้รากถูกกระทบกระเทือนต้นกล้าจะตั้งตัวช้า การปลูกควรตั้งลําต้นให้ตรง ให้ระดับคอรากอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินเล็กน้อย เมื่อปลูกเสร็จให้กลบดินให้แน่น

การดูแลรักษาต้นกระถินเทพา

กระถินเทพาเป็นพืชที่เติบโตช้าในระยะแรก ดังนั้นในระยะ 1 - 2 ปีแรก ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีจะมีอัตราการรอดตายสูง

1. การปลูกซ่อม ควรทําให้เร็วที่สุด โดยให้ทันฤดูเดียวกัน แต่ถ้าไม่สามารถซ่อมทัน อาจซ่อมในปีถัดไป โดยใช้ต้นกล้าที่ได้รับการดูแลอย่างดีและควรมีปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต

2. การให้น้ำ กระถินเทพาเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ถ้าปลูกในตอนต้นฤดูฝนจะสามารถอยู่รอดได้ในฤดูแล้งปีถัดไป โดยไม่ต้องมีการให้น้ำ

3. การกําจัดวัชพืช โดยปกติกระทําปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในระหว่างฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม และครั้งที่สองก่อนเข้าฤดูแล้งในเดือน พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม เพื่อเป็นการป้องกันไฟป่า การกําจัดวัชพืชอาจใช้สารเคมีหรือใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักรก็ได้ เมื่อเจริญเติบโตจนมีทรงพุ่มชนกัน ปัญหาวัชพืชก็จะค่อยลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากต้นกระถินเทพามีใบใหญ่และหนาจนแสงแดดไม่สามารถส่องถึงพื้นได้นอกจากนั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นใบก็จะร่วงและคลุมดินไว้หนาแน่น ยากที่วัชพืชจะเจริญเติบโตได้

4. การใช้ปุ๋ย กระถินเทพามีการตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ แต่ถ้าดินขาดความสมบรูณ์ ควรมีการใส่ปุ๋ยบ้าง การใส่ปุ๋ยควรใส่หลังจากต้นไม้ตั้งตัวแล้วหรือเมื่อต้นกล้าเริ่มแตกยอดอ่อน วิธีใส่ควรใส่รอบโคนต้นแล้วพรวนกลบ สูตรปุ๋ยและปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน การใช้ปุ๋ยควรใช้ในตอนต้นฤดูฝน

อ้างอิง : คู่มือสำหรับประชาชน การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ โดย กรมป่าไม้ พิมพ์เมื่อปี 2562