✓ต้นไม้: ประวัติ ความเป็นมา บอนสีโบราณ บอนสีหายาก ในไทย?
เรื่องราวบอนสี ประวัติ ความเป็นมาของบอนสี ในประเทศไทย บอนสีโบราณ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา บอนสีหายาก ไม้ใบมงคล ไม้ใบประดับที่ ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ...
ประวัติ บอนสีโบราณ
บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้ แพร่หลายเข้าไปทางยุโรป อินเดีย ตลอดจนประเทศอินโดนีเซีย
ในอดีตพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว คือ พระศรีมหาโพธิ์จากเมืองอนุราชปุระ ที่เกาะลังกา นำมาปลูกไว้ยังพระอารามหลวง
ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ได้มีการบันทึกไว้ว่า “พระราชอุทยานของพระเจ้าอยู่หัว ที่เมืองลพบุรี ได้มีพืชต่างถิ่นปลูกประดับไว้ พืชต่างถิ่นเหล่านั้นชาวต่างประเทศเป็นผู้นำทูลเกล้าฯ ถวายจากเมืองชวา เมืองจีน แหลมบาลายู และอินเดียตอนใต้”
ในจำนวนพืชต่างๆ เหล่านั้น เชื่อว่ามี "บอนสี" หรือ บอนฝรั่ง เข้ามาสู่เมืองไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามตำนานไม้ต่างประเทศบางชนิดในเมืองไทยซึ่ง พระยาวินิจอนันกร(โต โกเมศ) ได้เล่าถึงบอนสีหรือบอนฝรั่งว่า "บอนสีจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อใดไม่ทราบแน่
ว่ากันว่าราวปี พ.ศ.2425 ฝรั่งสั่งบอนจากยุโรป คือ ชนิดที่เรียกกันว่า กระนกกระทาและถมยาประแป้ง ทั้งสองชนิดนี้ เป็นพันธุ์ของบอนสีราว พ.ศ.2449-2450 ฝรั่งชื่อ มะโรมิ เลนซ์ สั่งบอนสีต่างๆ เข้ามาขายจากประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมาก"
พันธุ์ไม้มากมายหลายชนิด เข้ามาสู่เมืองไทยมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป
และเมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงนำพันธุ์ไม้จากยุโรปเข้ามาประเทศไทย บอนสีที่มีในคราวนั้นทรงตั้งชื่อเป็นที่ระลึกว่า "เจ้ากรุงเดนมาร์ค", "เจ้าไกเซอร์", "เจ้าอัมเปอร์" (เอมเปอ) เพี้ยนจากชื่อจริง เอมเปอเรอ
"อิเหนา" หมายถึง ประเทศชวาหรือประเทศอินโดนีเซีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานสนพระทัย หาความเพลิดเพลินกับพรรณพฤกษชาติในยามว่างจากพระราชกรณียกิจ
บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ต่างพากันโปรดตาม และปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในวังเจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ โดยปลูกเลี้ยงแบบธรรมชาติ
เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวหัวบอนพักตัว ใบจะเหี่ยวเฉา เหลือแต่หัวฝังจมในดิน รอเมื่อเข้าฤดูฝน ใบจะเริ่มแตกขึ้นมาใหม่ก็เริ่มเลี้ยงกัน การขยายพันธุ์ส่วนมากจะขยายพันธุ์ได้จากการแยกหน่อ
พ.ศ. 2472 การเล่นบอนสีได้ขยายวงกว้างออกไปสู่ภายนอก เริ่มจากพระอารามและวัดต่างๆ ที่เจ้านายนำไปถวาย และมอบให้เป็นของที่ระลึกกับผู้ที่สนิทสนม
นอกจากนั้นก็ยังมีการซื้อจากต่างประเทศเข้ามาปลูกเลี้ยง โดยคุณพระกันภยุบาทว์ ได้สั่งเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ประมาณ50 ชนิด มีบอนเหลืองหลายต้น รวมถึงบอนชื่อ "ไก่ตัวงาม"
ในระยะต่อมา พ.ศ. 2475 บอนสีเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น มีการซื้อขาย บอนสีในสมัยนั้นที่มีราคาสูง ได้แก่ บอนสีชื่อ "นกยิบ" เถรขวาดมีราคา 10 ชั่ง เท่ากับ 800 บาท จนมีชื่อเสียงกล่าวขานว่า "นกยิบสิบชั่ง"
ค่าของเงินในสมัยนั้นเทียบกับสมัยนี้เป็นแสนบาท นอกจากนั้น ยังมีบอนชื่อ "เถรขวาด" ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น การเล่นบอนสีได้รับความนิยมมากขึ้น รวมตัวกันเป็นกลุ่มของนักเล่นบอนสี สถานที่นัดชุมนุม มี 5 แห่ง ได้แก่
บอนสี สนามบาร์ไก่ขาว
สนามบาร์ไก่ขาว ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นร้านศรแดง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปัจจุบัน “บาร์ไก่ขาว มีการนัดชุมนุมเดือนละครั้ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเลี้ยงบอนสีในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
คือ เป็นที่ชุมนุมของนักเล่นบอนสี มีการประกวด มีการจัดตั้งชื่อบอนสีในตับต่างๆ คือตับพระอภัยมณี ตับขุนช้างขุนแผน ตับนก และยังได้รวบรวมลักษณะของบอนสีตั้งชื่อไว้แล้ว จำนวน 160 ต้น
จัดพิมพ์เฉพาะลักษณะเป็นกลุ่มเล็กๆราคาเล่มละ 5 สตางค์ ทำให้นักเล่นบอนสีในปัจจุบันได้ทราบว่าบอนสีในตับเก่าๆ นั้นมีกี่ต้น และมีลักษณะอย่างไร
บอนสี วัดอินทรวิหาร
วัดอินทรวิหาร มีแหล่งรวมอยู่ตรงหน้าหลวงพ่อโต จางวางหลุย วังบางขุนพรหม เป็นผู้ริเริ่มตั้งชมรมนี้ จะมีการชุมนุมทุกๆ วันเสาร์ต้นเดือน มีผู้มาร่วมชุมนุมมากหน้าหลายตา เป็นที่เลื่องลือในย่านบางขุนพรหมและในวงการบอนยุคนั้น รางวัลผู้ชนะการประกวดเป็น ปั้นน้ำชา
บอนสี บ้านเจ้าคุณทิพย์ฯ
บ้านเจ้าคุณทิพย์ฯ อยู่ปากคลองบางลำพูบนพระยาทิพย์โกษา มีนัดในวันเสาร์อาทิตย์ของทุกสัปดาห์ มีผู้เข้าไปพอประมาณ สนามนี้มีกติกาหากผู้ใดเข้าชมเฉยๆ ไม่เก็บอัฐพส แต่ผู้นิ้วบอนเข้าไปจะเก็บค่าธรรมเนียม 1 บาท
บอนสี วัดสระเกศ
วัดสระเกศ ตั้งอยู่ที่ภูเขาทองเป็นสำนักเลื่องชื่อ มีชมรมบอนสี 3 ชมรม โดยแยกเป็นหมู่คณะ ได้แก่ อาจารย์หรุ่น อาจารย์เป๊ หมวดเจ๋ง ทั้งหมดเป็นพระภิกษุ มีผู้นิยมไปชุมนุมที่วัดสระเกศมากที่สุด โดยชุมนุมนานถึง 10 ปี
บอนสี ร้านเสาวรส
ร้านเสาวรส อยู่ที่บางลำพู หลังห้างเสาวรส
งานประกวดบอนสี
การเลี้ยงบอนสีเริ่มซบเซาลงในปี พ.ศ. 2493 เหลือแต่ผู้สนใจจริงๆ ต่อจากนั้น นายชลอ ทองสุพรรณ ได้ริเริ่มจัดประกวดที่สมาคมพฤกษชาติปี พ.ศ. 2497 เรื่อยมา
แล้วก็มีการประกวดที่สมุทรปราการ และสนามหลวงต่อราวปี พ.ศ. 2500 นายประสาร ทวิวัฒนะ และ นายยิ่ง มีเมศกุล ได้สั่งบอนพันธุ์แปลกรูป ลักษณะใบพุ่งชี้ ที่เรานิยมเรียกกันว่า ใบโพธิ์ ใบหอก กับลักษณะอื่นอีกมากมาย
บอนชื่อ เหลืองเณรช้าง ผู้สั่งเข้ามาจากรัฐฟลอริด้าอเมริกา ต่อมาได้มีการผสมพันธุ์ได้พันธุ์แปลกใหม่สวยงามขึ้นอีกมากมาย
เช่น "จังหวัดพิษณุโลก" บอนก้านเขียวใบพื้นสีชมพูม่วงอ่อนต้นแรก“คุณหญิงเพียร”บอนกอรูปใบโพธิ์ป้อมกลมเล็กน่ารัก บอนรูปร่างแปลกๆ รูปลักษณะเหมือนใบไผ่ (ตับไผ่แดง) และบอนตับสามก๊กก็อุบัติขึ้นในคราวนั้นเอง(ในราวปี พ.ศ.2507-2509)
จนมากระทั่งปี พ.ศ.2501 ได้ฟื้นฟูการเล่นบอนสีโดยจัดการประกวดที่ทีวีช่อง 4 การประกวดในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการประกวดบอนเฉพาะชื่อ เช่น เถรขวาด ก็ประกวดแต่สายพันธุ์เถรขวาด
ต่อมานักเล่นบอน ได้เปลี่ยนการประกวดที่เป็นเฉพาะชื่อเป็นการประกวดบอนทั่วไป ใครจะส่งบอนชนิดไหนเข้าประกวดก็ได้ แต่จะต้องส่งบอนชนิดที่ส่งมาประกวด 3 ต้น ต่อมาลดเป็น 2 ต้น แต่การประกวดในปัจจุบันจะแบ่งประเภทของบอนออกเป็นบอนใบกลม ใบยาว ใบไทย และบอนกอ
พ.ศ. 2525-2526 ส่วนใหญ่ผู้เพาะเลี้ยงไม้ประดับต่างก็หันเหค่านิยมมาเพาะเลี้ยงบอนสี สนามหลวงจึงเป็นตลาดนัดที่สำคัญแหล่งใหญ่ของไทยร้านค้าบอนสีเพิ่มขึ้น ราคาต้นบอนสีมีราคาสูงแล้วจำหน่ายได้ดีถึงขนาดผู้ผลิต ผลิตออกป้อนตลาดไม่ทัน บางครั้งมีเงินแต่จะหาซื้อบอนสีที่ตนต้องการยังไม่ได้ เพราะขาดตลาด
บอนสีที่นิยมเลี้ยงกันเป็นตับ เช่น ตับขุนช้างขุนแผน ตับพระอภัยมณี ตับนก ตับไก่ ตับสามก๊ก ฯลฯ ซึ่งเป็นบอนที่นิยมเลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยก่อน
นอกจากนั้น ยังมีบอนสีตับใหม่ๆ เช่น ตับวีรชน ตับปืนใหญ่โบราณ ตับรามเกียรติ์ ตับประตูวัง ตับนางสงกรานต์ ซึ่งในช่วงนั้นมีผู้นิยมปลูกเลี้ยงกันมาก ดังนั้น ในช่วง พ.ศ. 2525 จึงได้มีการก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
อ้างอิง: เอกสารวิชาการ เรื่อง "บอนสี" โดย นางอรวรรณ วิชัยลักษณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร พิมพ์เมื่อ ปี พ.ศ.2548