Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: องุ่นบราซิล, องุ่นต้น Jaboticaba รสชาติดี สรรพคุณ?

สำหรับเพื่อนๆที่กำลังหาข้อมูลต้นองุ่นบราซิล หรือ องุ่นต้น จาโบติกาบ้า (Jaboticaba) วันนี้ขอนำบทความโดย ชัยณรงค์ จันทร์แสนตอ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย เกียรติสยาม แก้วดอกรัก และวัฒนนิกรณ์ เทพโพธา มาให้อ่านกันได้เลย

องุ่นบราซิล (Jaboticaba), องุ่นต้น

ต้นองุ่นบราซิล, องุ่นต้น Jaboticaba ปลูกได้แล้วในไทย
ภาพ: region8.prd.go.th

องุ่นต้น , องุ่นบราซิล หรือ จาโบติกาบ้า (Jaboticaba) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plinia cauliflora (Mart.) Kausel โดยมีชื่อพ้องว่า Myrciaria cauliflora มีชื่อสามัญว่า Jaboticaba, Jabuticaba, Guaperu,Guapuru, Hivapuru, Sabara, Ybapuru อยู่ในวงค์ Myrtaceae

รายละเอียดเพิ่มเติม

องุ่นต้น เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตช้า มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศบราซิล บางคนจึงเรียกว่า "องุ่นบราซิล" มีการปลูกในเชิงเศรษฐกิจในประเทศบราซิล ในพื้นที่ของรัฐต่าง ๆ หลายรัฐโดยเฉพาะในรัฐ São Paulo มีชาวสวนปลูกองุ่นต้น หรือต้นองุ่นบราซิลถึง 204 ราย พื้นที่รวมทั้งหมด 269.80 แฮกแตร์

เมื่อปี พ.ศ.2532 มีจำนวนผลผลิตขององุ่นบราซิลซื้อขายอยู่ในตลาดผลไม้ในรัฐ São Paulo ถึง 921.5ตัน และเพิ่มมากถึง 4,142 ตัน ในปี พ.ศ. 2541 ส่วนในปี พ.ศ. 2551 ผลผลิตสูงถึง 1 หมื่นตัน

ในสหรัฐอเมริกา มีผลผลิตจากองุ่นบราซิล 63 ตัน ในปี พ.ศ. 2546 ในพื้นที่ 190 แฮกแตร์ มีมูลค่าการซื้อขาย 212,000 ดอลลาร์ ส่วนปี 2551 มีผลผลิต 149.6 ตัน พื้นที่ 220 แฮกแตร์ มูลค่าการซื้อขาย 528,000 ดอลลาร์

พืชน่าสนใจชนิดนี้ ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ได้นำเมล็ดองุ่นบราซิลมาจากฮาวายจำนวนหนึ่งมาปลูกเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา โดยปลูกแทรกตามไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ผลกึ่งเมืองหนาว เช่น ท้อ สาลี่ รวมถึงแปลงกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า เนื่องจากอดีตเป็นแปลงอนุรักษ์และรักษาพันธุ์

ปัจจุบันองุ่นบราซิลให้ผลผลิตเมื่อเดือนเมษายน–พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา แต่ส่วนมากได้แปรรูปเป็นน้ำผลไม้ไว้บริโภค และแบ่งทำเป็นไวน์ สำหรับประเทศไทยยังมีผู้รู้จักองุ่นบราซิลน้อยมาก

ดังนั้นหากท่านสนใจสามารถมาศึกษาข้อมูลองุ่นบราซิล พร้อมกับลิ้มรสชาติของผลสด หรือเครื่องดื่มที่ผลิตจากผลขององุ่นบราซิลได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกองุ่นบราซิล หรือ องุ่นต้น อยู่จำนวนมากและถือได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศ

สรรพคุณ องุ่นบราซิล

ผลขององุ่นบราซิลประกอบด้วย เยื่อใย หรือ fiber มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ ซึ่งคุณสมบัติของ fiber ช่วยป้องกันการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกายได้ ผลขององุ่นบราซิลจึงเหมาะแก่การเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก

นอกจากนี้คุณสมบัติของ fiber ยังทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายเป็นปกติ และช่วยทำให้ระบบลำไส้สะอาด สาร anthocyanin หรือ polyphenols ในเปลือกผลองุ่นบราซิล มีส่วนในกระบวนการ lipidmetabolism ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ

จากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า ช่วยลดระดับของ โคเลสเตอรอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ ในกระแสเลือด และเพิ่มระดับ โคเลสเตอรอล (HDL) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

จากการศึกษาคุณสมบัติทางโภชนาการของผลสดองุ่นบราซิล พบว่าเป็นแหล่งของวิตามินซี วิตามินอี ไทอามิน(thiamin) ไนอาซิน(niacin) ไรโบฟลาวิน(riboflavin) รวมทั้ง แคลเซียม, โพแทสเซียม, แมงกานีส, เหล็ก, ฟอสฟอรัส, ทองแดง และสังกะสี

นอกจากนี้ยังมี กรดอะมิโน (amino acid) และกรดไขมัน(fatty acid) ผลองุ่นบราซิลมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และโพลีฟีนอล (polyphenols) รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) มากกว่า ผลไม้และผักหลายชนิด ต่างประเทศนิยมนำมาทำไวน์ แยมน้ำผลไม้ หรือรับประทานผลสด

ในประเทศบราซิลนิยมใช้เปลือกของต้นองุ่นบราซิล ต้มกับน้ำดื่มบรรเทาอาการหอบหืด และโรคบิด ทำเป็นน้ำยาบ้วนปากลดการอักเสบของต่อมทอนซิล ผลองุ่นบราซิลมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง

รวมทั้งสารก่อมะเร็งจากการสูบบุหรี่ ช่วยป้องกันการแก่ก่อนวัยของเซลล์ผิวรอยเหี่ยวย่น และริ้วรอยก่อนวัย พบสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผิวช่วยฟื้นฟูผิวเสื่อมสภาพและช่วยให้ผิวชุ่มชื้น กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน

ส่วนเนื้อของผลองุ่นบราซิลประกอบด้วยวิตามินบี 3 (Niacina-mide) ทำหน้าที่ส่งเสริมเอนไซม์ในการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติ detoxify ช่วยลดสารพิษในร่างกาย

คุณสมบัติของ fiber ในเนื้อผลยังทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยทำให้ระบบลำไส้สะอาด สารแอนโทไซยานิน หรือ โพลีฟีนอลในเปลือกผลองุ่นบราซิล มีส่วนในกระบวนการ lipid metabolism ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ

องค์ประกอบของผลองุ่นบราซิลที่มีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมงกานีส เป็นประโยชน์ในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดอาการอักเสบ ใช้บรรเทาอาการข้ออักเสบ และอาการอักเสบบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย

ในอดีตองุ่นบราซิลเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่แนะนำให้สตรีมีครรภ์รับประทาน เนื่องจากมีธาตุเหล็ก และมีกรดโฟลิค (folic acid) ที่มีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์

เหตุผลหลักที่องุ่นบราซิลจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต

  1. ผลองุ่นบราซิล ผลสด มีรสชาติดี มีคุณค่าที่ดีต่อร่างกาย บริโภคได้เหมือนผลไม้เศรษฐกิจทั่วไป และเป็นพืชสากล
  2. ต้นองุ่นบราซิล ให้ผลผลิตดก โดยผลผลิตต่อต้นที่ปล่อยตามธรรมชาติให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 30 กิโลกรัมต่อต้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นตามอายุต้น (อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ตามอายุต้น พื้นที่ปลูก การดูแลและการตัดแต่งกิ่ง)
  3. องุ่นบราซิลมีศักยภาพสูงที่สามารถนำไปสู่พืชอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เนื่องจากสามารถแปรรูป หรือทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง
  4. ต้นองุ่นบราซิลเป็นพืชที่ปรับตัวได้กับเกือบทุกสภาพพื้นที่ (อุณหภูมิ และทุกความสูงจากระดับน้ำทะเล) อีกทั้งสามารถปลูกแทรกหรือปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นได้ดีอีกด้วย

จากคุณสมบัติขององุ่นบราซิล มีสารหรือธาตุอาหารสำคัญหลายชนิดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งได้

แต่ข้อมูลลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และด้านการเจริญเติบโตขององุ่นบราซิลในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษา อีกทั้งยังมีไม่การคัดเลือกสายต้นที่เจริญเติบโตและวิธีทำให้ผลผลิตสูงเหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย

การใช้ประโยชน์จากองุ่นบราซิลแบบประดับหรือเชิงศิลป์

  1. ลักษณะผลองุ่นบราซิลเหมือนนิลตะโก (Black Spinel) โอนิกซ์ (Onyx) และหยกดำ (Black Jade) ซึ่งดูมีพลัง และขลัง สามารถส่งมอบเป็นของขวัญ หรือประดับในโอกาสพิเศษ
  2. ลักษณะใบองุ่นบราซิล คล้ายหอกสีเขียวมันวาวตลอดทั้งปี สามารถประดับตามสถานที่ต่างๆ
  3. ต้นองุ่นบราซิล สามารถตัดแต่งทรงพุ่ม หรือเป็นไม้ดัดตามต้องการ 

การที่องุ่นบราซิลเป็นพืชที่เกื้อหนุนต่อสุขภาพด้านโภชนาการ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการปลูกเพิ่มพื้นที่ป่าเพราะเป็นไม้ยืนต้นที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี อีกทั้งมีอนาคตทางเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย 

สิ่งที่ควรศึกษาต่อ คือ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ขององุ่นบราซิล ลักษณะทางสัณฐานวิทยา การย่นอายุต้นก่อนให้ผลผลิต หรือการทำให้ออกผลผลิตนอกฤดู การทดลองปลูกต้นองุ่นบราซิลในสภาพพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และส่วนของผลิตผลควรศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูป ตากแห้ง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น อาหารเสริม วิตามินรวม เพื่อจะเผยแพร่และพัฒนาต่อไป

อ้างอิง : ข่าวสารสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ปีที่ 35 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2563

รายละเอียดเพิ่มเติม