Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นยางน่องเถา สวยซ่อนพิษ ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ราคา?

ต้นยางน่องเถา คือต้นอะไร

ต้นยางน่องเถา หรือ ยางน่องเครือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strophanthus caudatus (L.) Kurz เป็นพืชวงศ์เดียวกับบานบุรีและยี่โถ (Apocynaceae Lour.) พบครั้งแรกที่อินโดจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 ในบ้านเรา หมอคาร์พพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 

ดอกยางน่องเถา
ภาพ: ดอกยางน่องเถา โดย adenium-sib.ru

สำหรับชื่อสกุล Strophanthus มาจากคำว่า Strophos กับ Anthos หมายถึงลักษณะของดอกที่มีกลีบดอกเป็นสายยาวและบิดเป็นเกลียว ส่วนคำระบุชนิดว่า caudata แปลว่า มีหาง หรือ มีรยางค์คล้ายหาง

รายละเอียดเพิ่มเติม

สกุลนี้ มีทั้งหมดด้วยกัน 38 ชนิด ในแอฟริกา มาดากัสการ์และเอเซีย

สำหรับในประเทศไทย พบเพียง 3 ชนิดเท่านั้น แต่ดอกไม่สวยเท่า คือ มังกรเหลือง (Strophanthus perrakensis Scott. Ex King & Gamble) และมังกรแดง (Strophanthus wallichii A. DC.)

ลักษณะ ยางน่องเถา

ต้นยางน่องเถา หรือยางน่องเครือ เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ อาจเลื้อยยาวได้ถึง 12 เมตร มีน้ำยางใส หรือสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีรูปไข่กลับหรือรูปไข่

ดอกยางน่องเถา ดอกออกที่ปลายยอดแบบช่อกระจุก มี 5-25 ดอก ดอกยางน่องเถา ดอกสีขาว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปไข่กว้าง มีเส้นสีแดงพาดที่แกนกลางของกลีบดอก ด้านในถึงปลายกลีบ

ปลายกลีบแคบเข้าจนเป็นสายยางสีแดง บิดเป็นเกลียว มีมงกุฏสีขาว เกสรเพศผู้เป็นขนละเอียด เชื่อมติดกัน

ผลเป็นฝักคู่แบบแตกแนวเดียว รูปขอบขนาน เมล็ดมีจงอยและกระจุกขน ออกดอกช่วงเดือนเมษายนมิถุนายน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและสมุนไพร

การใช้พิษ ยางน่องเถา

เมื่อเอ่ยถึงยางน่องเถา หลายท่านที่อ่านนวนิยาย เรื่อง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน หรือได้ยินได้ฟังจากชาวเขาเผ่าต่าง ๆ มักจะกล่าวถึงยางน่องเถาว่า สามารถนำยางไปชุบปลายหอก ปลายดาบ หรือหัวลูกศร ลูกธนู สำหรับเป็นอาวุธป้องกันตัว หรือล่าสัตว์

และถ้าย้อนกลับไปในอดีตทั้งในแอฟริกาและเอเซีย สมัยก่อนอาจมีการใช้ยางผสมพิษอย่างอื่นเข้าไปด้วยเพื่อการล่าสัตว์ หรือ ล่ามนุษย์ด้วยกัน

เมื่อสัมผัสกับบาดแผล พิษของยางน่องเถาจะซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เหยื่อถึงตายได้ นั่นคือเป็นการใช้ประโยชน์จากยางน่องเถาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนที่จะมีอาวุธปืนที่ร้ายแรงอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

พิษของยางน่องเถา

เกิดจากสารไกลโคไซด์ในน้ำยาง ชื่อว่า G-strophanthin หรือ Quabain มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและโลหิต ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ จนอาจถึงหัวใจวายตายได้ หากกัดกิน กิ่ง ใบ ต้นของยางน่องเถาเข้าไป

สรรพคุณ

สารพิษดังกล่าวมีการนำไปใช้เป็นยาพื้นบ้าน มีสรรพคุณเพื่อรักษาโรคบางอย่างด้วย ในยุโรปบางประเทศใช้เมล็ดของต้นยางน่องเถา เป็นยาออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ และทำเป็น ยาฉีดรักษาโรคหัวใจด้วย แต่มีความเป็นพิษสูง ไม่สมควรใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์

ประโยชน์ ยางน่องเถา

นอกจากนี้ยังมีการนำเถาที่มีขนาดใหญ่ เนื้อไม้สีขาว เสี้ยนตรง เนื้ออ่อน ใช้ทำเป็นหีบใส่ของ รองเท้าไม้และเครื่องเล่นต่าง ๆ ได้

ส่วนเปลือกให้เส้นใยละเอียดสีขาว ใช้ทำเชือก เยื่อกระดาษ ทุบทำเป็นที่นอน ผ้าห่ม และเสื้อกางเกงของพวกชาวเขาเผ่าม้ง มูเซอ และเงาะป่า ได้ด้วย (ข้อมูลจาก ศศิวิมล แสวงผล วารสารพรรณพฤกษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2554)

พืชในสกุลนี้ หลายชนิดที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรามาช้านานแล้ว คือ แย้มปีนัง (Strophanthus gratus Wall. & Hook.) ซึ่งดอกสวยงาม และมีกลิ่นหอม สามารถสั่งซื้อออนไลน์ ราคาถูก ได้ที่ ลาซาด้า

ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่เพิ่งนำเข้ามาจากแอฟริกาที่เรียกกันว่า เคราฤาษี (Strophanthus preussii Engl. & Pax.) ต้นนี้เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีดอกคล้ายยางน่องเถา และกลีบดอกมีหางยาวบิดเป็นเกลียว ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร

ผู้เขียนรู้จักยางน่องเถามากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ไม่สวยสะดุดตามากนัก เพราะเป็นต้นที่กลีบดอกมีหางสั้น ยาวแค่ 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น และได้ทราบจากคุณวิรัช จันทรัศมี อุปนายกสมาคมพืชสวนฯ ว่า พบยางน่องเถา ในป่าข้างไร่ของท่านที่ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

ซึ่งมีดอกสวยงามมาก จึงนำมาปลูกไว้ในไร่ ก่อนที่จะสูญหายไปเพราะการถางป่า คุณวิรัชได้ถ่ายรูปไว้ และนำช่อผลแห้งพร้อมกลีบดอกแห้ง ๆ ที่เป็นสายยาว ๆ มาให้ผู้เขียน

ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจดี จึงจัดการแกะเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีขนสีขาว ออกมาเพาะในกล่องพลาสติกที่ปูด้วยกระดาษทิชชูหลาย ๆ ชั้น และใช้ทิชชูปิดทับด้านบนด้วย เพราะเมล็ดเล็ก

เกรงว่าถ้าเพาะในดิน อาจจะงอกน้อย เพราะควบคุมความชื้นได้ยาก 2 เดือนต่อมา มีต้นงอกออกมา กว่า 20 ต้น จึงแยกปลูก และแจกจ่ายต้นไปหลายแห่ง

แบ่ง 2 ต้น ไปปลูกที่สวนหลวง ร.9 ปรากฎว่า ออกดอกมาให้ดูแล้ว สวยงาม มีหางยาวพอ ๆ กับที่คุณวิรัชส่งภาพถ่ายมาให้ดู มีหางยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

นับว่าดอกยางน่องเถา กลีบดอกมีหางยาวสีแดงสะดุดตามาก แต่ละดอกจะบานอยู่ได้ 2-3 วัน เริ่มจากสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง และเป็นสีม่วงเมื่อโรย

แต่เนื่องจากแต่ละช่อมีหลายดอก จึงบานให้ดู ทะยอยไปเรื่อย ๆ ราวเดือนกว่าจึงบานหมดทั้งต้น เห็นว่าควรขยายพันธุ์ไว้ปลูกประดับกันต่อไป เพราะเป็นต้นที่สวยงามมาก ต้นสูงเพียง 2-3 เมตร หลังจากงอกจากเมล็ดก็เริ่มออกดอกแล้ว

บทความโดย เกษม จันทรประสงค์ หนังสือที่ระลึก “35 ปีสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย” โดย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

รายละเอียดเพิ่มเติม