Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: ว่านขันหมากเศรษฐี พรหมตีนสูง ความเชื่อ สรรพคุณ?

"ว่านขันหมาก" หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า "ว่านขันหมากเศรษฐี" อยู่ในสกุล"อโกลนีมา" (หรือ แก้วกาญจนา ที่นิยมปลูกเป็นไม้มงคล ไม้ประดับ) แต่ว่านขันหมากเศรษฐี เป็นอโกลนีมาพันธุ์ป่า (พันธุ์พื้นเมืองของไทย) ที่พบได้ในป่าธรรมชาติ ...

ขันหมากเศรษฐี

ต้นว่านขันหมากเศรษฐี ประโยชน์ สรรพคุณ
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ว่านขันหมากเศรษฐี หรือ ต้นขันหมากเศรษฐี มีชื่อไทยที่เป็นชื่อทางการ ว่า "พรหมตีนสูง" ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557)

รายละเอียดเพิ่มเติม

มีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น ว่านขันหมาก, โหรา (ตราด, ชุมพร), ว่านงดหิน (ตรัง), ว่านขัดหมาก (ภาคกลาง), พรมตีนสูง (ภาคใต้) เป็นต้น

ถิ่นกำเนิด การกระจายพันธุ์ และถิ่นที่อยู่อาศัย

ว่านขันหมากมีการกระจายพันธุ์กว้าง พบตั้งแต่อินเดีย (หมู่เกาะนิโคบาร์) ไปยังด้านตะวันตกของมะลุกุ และจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังชวา

สำหรับในประเทศไทยว่านขันหมาก มีถิ่นอาศัยพบตามป่าดงดิบ ทั่วประเทศ นิเวศวิทยา มักพบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น ตามลําธารหรือนํ้าตก และยังพบตามป่าดิบ ป่าทดแทน ป่าพรุ ป่าชายหาด พบบ่อยตามซอกหินปูนในป่าดงดิบแล้ง ในพื้นที่เขาหินปูนหรือหิน แกรนิต ที่ความสูงจากระดับทะเลไม่เกิน 700 ม.

รายการค้นพบในประเทศไทย ภาคเหนือ: เชียงใหม่ น่าน ลำปาง; ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย สกลนคร; ภาค ตะวันออก: นครราชสีมา ศรีสะเกษ; ภาคตะวันตกเฉียงใต้: กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์; ภาคกลาง: สุพรรณบุรี สระบุรี นครนายก; ภาคตะวันออกเฉียงใต้: สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด; ภาคใต้: ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส

ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ว่านขันหมาก
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ

  • ว่านขันหมาก / ว่านขันหมากเศรษฐี มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Aglaonema simplex (Blume) Blume
  • อยู่ในวงศ์ Araceae
  • มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Chinese evergreen
  • ชื่อพ้อง (Synonyms) : Aglaonema tenuipes Engl.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นว่านขันหมาก มีลักษณะเป็น ไม้ล้มลุก มีลำต้นเหนือดินตั้งตรง หรือทอดเลื้อย ลำต้นเรียวหรือค่อนข้างหนา มีเปลือกสีเทาลักษณะขรุขระ ไม่มียาง กว้าง 0.4-2.5 ซม. สูง 15-120 ซม. มีข้อปล้อง หนา 2 ซม. ตามกิ่ง ช่อดออกและใบเกลี้ยง

ใบว่านขันหมาก ใบเดี่ยว สีเขียว ใบเรียงตัวบนกิ่งแบบสลับ เรียวเวียน หรือใบเรียงเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น บริเวณปลายยอดเรียงสลับ ใบรูปขอบขนานแคบ รูปรีแคบถึงรูปใบหอก บางครั้งอาจพบเป็นรูปแถบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 1.9-25 ซม. ยาว 10-35 ซม. ก้านใบยาว 15–30 ซม. โคนเบี้ยว มน หรือเกือบตัด บางครั้งแหลมหรือเกือบเป็นรูปหัวใจ ขอบเรียบ ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลมอ่อน เส้นใบข้างละ 3-14 เส้น ก้านใบแผ่เป็น กาบบาง ๆ ยาว 4.3-21.5 ซม. ส่วนโคนใบจะแผ่แบน กาบบาง ๆ เป็นกาบโอบหุ้มลําต้นไว้

ดอกว่านขันหมากเศรษฐี
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ดอกว่านขันหมาก ดอกออกเป็นช่อตรงยอด หรือตามด้านข้าง ช่อดอกแบบช่อกระจะ มีกาบหุ้มช่อ ก้านช่อดอกยาว 4-12 ซม. มี 1–6 ช่อ มีกาบหุ้มช่อดอก (กาบรองรับช่อ) เกือบมิด สีเขียวอมขาว-สีขาว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 4–6.5 ซม. ครีบสูง 3-15 มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กาบจะแผ่แบนเมื่อดอกเพศ เมียบาน และหลุดร่วงไปเมื่อดอกเพศผู้บาน

ลักษณะช่อดอกจะเป็นแท่งกลมและยาว แบ่งเป็น 3 ส่วน คือดอกตัวผู้ ดอกตัวผู้ที่ไม่สมบูรณ์ และดอกตัวเมีย ซึ่งมีน้อยกว่าดอกตัวผู้ ช่อรูปทรงกระบอกสีครีม ยาว 1.7- 4.3 ซม. ก้านยาว 2-12 มม. ก้านช่อดอกยาวถึง 12 ซม. แถบดอกเพศผู้สีขาวอยู่ตอนบนของช่อ กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 1.5-3.8 ซม. แถบดอกเพศเมียอยู่โคนช่อ ยาว 3-10 ซม. มี 3-10 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

ผลว่านขันหมาก ผลรูปทรงรี-รูปรีแกมรูปไข่กว้างประมาณ 0.8 ซม. ยาว 1–1.7 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลืองถึง สีแดงสด เริ่มออกผลในช่วงเดือนเมษายน ถึงกรกฎาคม

ต้นว่านขันหมากเศรษฐี พรมตีนสูง สมุนไพร
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

ประโยชน์ ว่านขันหมาก

  1. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ เนื่องจากให้ใบเขียวสดสวยงามได้ตลอดทั้งปี
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้มงคลตามความเชื่อที่ว่าเป็นว่านที่ช่วยนำโชคลาภ เงินทอง และความร่ำรวยมาให้ เงินไหลมาเทมา และทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ปลูก และสมาชิกในครอบครัว ยิ่งเมื่อใดที่มีการออกดอก และติดผลแล้ว ช่วงนั้นยิ่งทำให้เกิดโชคลาภ และสิริมงคลแก่ผู้ปลูกมาก
  3. ใช้ปลูกเป็นพืชสมุนไพร โดยเฉพาะผลว่านขันหมากเศรษฐีที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นสมุนไพร

สรรพคุณ ว่านขันหมากเศรษฐี

จากการรวบรวมสรรพคุณจากเอกสาร และจากบทความในเว็บไซต์ต่างๆ พบว่า ว่านขันหมากเศรษฐีมีสรรพคุณหลายด้านด้วยกัน ได้แก่

ผลสุก ว่านขันหมากเศรษฐี

  • ใช้บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ และต้านความแก่
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวแลดูสดใส
  • ช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมร่วงน้อย โดยเฉพาะนำมาใช้ผสมแชมพูสระผม
  • ช่วยแก้โรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
  • ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
  • ช่วยเป็นยาระบาย กระตุ้นระบบขับถ่าย กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • ช่วยแก้อาการโรคกระเพาะอาหาร แก้โรคลำไส้อักเสบ
  • ช่วยบรรเทาอาการ และรักษาโรคท้องร่วง
  • ช่วยรักษาโรคริดสีดวง
  • ใช้เป็นยาต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง
  • ใช้เป็นยาต้านความเป็นพิษของสารที่ที่มีต่อตับ ป้องกันเซลล์ตับเสื่อม และกระตุ้นการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพ
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ อาการไอเรื้อรัง และอาการเจ็บคอ
  • ช่วยบรรเทาโรคภูมิแพ้ บรรเทาอาการหอบหืด
  • ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยลำตัว/ปวดหลัง โรคเก๊าท์
  • ช่วยเสริมสร้างแคลเซียมในกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน และข้อกระดูกอักเสบ
  • ต้าน และบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน
  • บรรเทาอาการต่อมไทรอยต์อักเสบ
  • แก้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง

หน่อ/หัว ราก และลำต้น นำมาต้มน้ำดื่ม

  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • บรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ
  • ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย
  • เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

วิธีนำมาใช้ประโยชน์ของว่านขันหมากเศรษฐี

  1. ราก เหง้า ลำต้น และใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด นำมาตากแดดให้แห้ง ก่อนบดเป็นผงสำหรับชงน้ำดื่ม หรือ ใช้บรรจุแคปซูลรับประทาน
  2. ผลสุก นำมาล้างน้ำให้สะอาด นำมาตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาบดเป็นผงสำหรับบรรจุแคปซูลหรือใช้ชงน้ำดื่ม

*ข้อควรระวัง*

ไม่ควรรับประทานผลดิบ โดยเฉพาะผลที่ยังมีสีเขียวหรือสีเหลือง เนื่องจาก มีสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม ลำคอ และกระเพาะอาหารได้

ต้นว่านขันหมากเศรษฐี พรมตีนสูง สมุนไพร
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

วิธีปลูก ว่านขันหมาก และการขยายพันธุ์

วิธีปลูกว่านขันหมากเศรษฐี ในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก แต่การปลูกโดยทั่วไปจะมีวิธีการขยายพันธุ์ว่านขันหมาก ต่างๆได้แก่

  1. การปลูกด้วยเมล็ดที่แก่เต็มที่ ทั้งเมล็ดแก่ที่เก็บมาจากป่าธรรมชาติ และเมล็ดแก่ที่ได้จากต้นที่ปลูกเอง
  2. การขุดลำต้นที่โตเต็มที่จากป่ามาปลูก
  3. การขุดต้นกล้าจากป่ามาปลูก

การปลูกว่านขันหมากเศรษฐีเพื่อเป็นไม้ประดับ นิยมใช้วิธีปลูกในกระถางเป็นส่วนใหญ่

ส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อการทำเป็นยาสมุนไพร มักได้มาจากการเข้าเก็บผลตามป่า รวมถึงผลที่ได้จากการปลูกเป็นไม้ประดับร่วมด้วย

การปลูกต้นว่านขันหมากเศรษฐีในกระถาง ควรใช้กระถางดินเผาใบใหญ่ เพราะต้นว่านขันหมากเศรษฐีเป็นพืชที่ทีอายุหลายปี ลำต้นสามารถเติบโตสูงได้เป็นเมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ไม้ช่วยค้ำยันหากลำต้นมีความสูงมาก

วิธีปลูก ว่านขันหมาก และการขยายพันธุ์

ดินที่ใช้ปลูกในกระถาง ควรเป็นดินที่ผสมวัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก แกลบดำ เป็นต้น และควรใช้อัตราส่วนดินกับวัสดุอินทรีย์ประมาณ 1:3 การให้น้ำนั้น จำเป็นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ส่วนการใส่ปุ๋ยนั้น ให้ใส่เฉพาะปุ๋ยคอกกลบหน้ากระถางก็เพียงพอ

ส่วนการจัดวางกระถางนั้น สามารถวางกระถางว่านขันหมากเศรษฐีไว้ที่ใดก็ได้ ทั้งที่โล่ง และบริเวณในร่มหรืออาคารที่มีแสงน้อย แต่พึงระวัง ไม่ควรวางกระถางใกล้กับแหล่งความร้อนต่างๆ เช่น ด้านข้างตู้เย็น หลังพัดลมแอร์ เป็นต้น เพราะจะทำให้ใบเหี่ยวจากความร้อนได้ง่าย

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  2. Plants of the World Online | Kew Science by Royal Botanic Gardens, Kew.
  3. World Checklist of Selected Plant Families: Royal Botanic Gardens, Kew
  4. The IUCN Red List of Threatened Species.
  5. ก่องกานดา ชยามฤต, ราชันย์ ภู่มา และนันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน. 2557. ทะเบียนรายชื่อพืชในประเทศไทย เล่มที่ 1. (A Checklist of Plants in Thailand Volume I). สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ.
  6. มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และกชพรรณ ศรีสาคร. 2563. พืชป่าสมุนไพร. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ
  7. มานพ ผู้พัฒน์, นัยนา เทศนา. 2561. พรรณไม้เขาหินปูนในกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ
  8. ว่านขันหมากเศรษฐี และการปลูกว่านขันหมากเศรษฐี

รายละเอียดเพิ่มเติม