Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

✓ต้นไม้: ส้มโอทับทิมสยาม เนื้อสีแดงเข้มทับทิม รสหวานหอม?

ส้มโอทับทิมสยาม เป็นพันธุ์ที่พัฒนาโดยเกษตรกร บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปลูกเฉพาะในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ ตำบลคลองน้อย ตำบลเกาะทวด และตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก

ส้มโอทับทิมสยาม

โดยมีประวัติคือ ในปี พ.ศ. 2523 นายหวัง มัสแหละ ได้นำพันธุ์ส้มโอจำนวน 3 ต้น มาจากบ้านบราโอ ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นส้มโอที่มีลักษณะผลเหมือนพันธุ์ขาวพวง มีกุ้งเป็นเนื้อสีชมพูค่อนข้างแดง ผลมีขนาดใหญ่ แต่มีรสขม

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อนำมาปลูกที่บ้านแสงวิมาน ผลปรากฏว่า ให้ผลผลิต และมีรสชาติหวาน ขึ้นผิวผลมีสีเขียวเข้ม และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วผลคล้ายกำมะหยี่ จากนั้นได้มีการปรับปรุงคุณภาพสายพันธุ์ โดยการคัดเลือกสายพันธุ์แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลาหลายปี ในที่สุด ก็ได้ส้มโอที่มีเนื้อสีแดงเข้มแบบสีทับทิม รสชาติหวาน หอม เนื้อนุ่ม น่ารับประทาน จึงมีการตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ เป็น "ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม"

เนื่องจาก ส้มโอทับทิมสยาม เป็นส้มโอสายพันธุ์ใหม่ มีความเฉพาะเจาะจงกับสภาพพื้นที่ ซึ่งปลูกกันไม่แพร่หลาย จนปัจจุบันพบว่า ส้มโอทับทิมสยามเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงมาก ราคาเฉลี่ย 150-250 บาทต่อผล (ราคาขายในสวน) ทำให้เกษตรกรเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยามยังขาดความรู้ในด้านการจัดการ การผลิต การจัดการศัตรูพืช ทั้งโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ และมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร จึงนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยแบบปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานผลผลิตส้มโอทับทิมสยามให้มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยจากสารพิษ มีต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ภาคเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

การปลูกต้นส้มโอทับทิมสยาม 

1.1 เทคโนโลยีการเตรียมพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่ลุ่ม 

โดยขุดร่องสวนเว้นร่องน้ำ กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร ใช้ระบบ 1 แถว ต่อ 1 ร่องระบายน้ำ หรือ 2 แถว ต่อ 1 ร่องระบายน้ำ ระยะปลูก 8x6 เมตร  

1.2 เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารตามความเหมาะสม กับพัฒนาการของส้มโอทับทิมสยาม 

โดยการใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 10 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหินฟอสเฟตอัตรา 300-500 กรัม รองก้นหลุมก่อนปลูก เมื่อต้นส้มอายุ 1 ปี ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0+15-15-15 สัดส่วน 1:1 อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 4 เดือนต่อครั้ง และให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าว อัตรา 1 และ 2 กิโลกรัมต่อต้น เมื่อต้นส้มโออายุ 2 และ 3 ปี ตามล่ำดับ  

1.3 เทคโนโลยีการจัดการเกี่ยวกับความสะอาดของสวน 

เช่น เก็บผลผลิตที่ร่วงหล่นใต้ต้นทิ้ง การเผาทำลายกิ่งและผลที่เป็นโรค 

ส่วนโรคพืชที่สำคัญ สำหรับต้นส้มโอทับทิมสยาม คือ โรคแคงเกอร์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ผลส้มแตกหรือร่วงตั้งแต่เล็ก หากเข้าทำลาย เมื่อผลส้มเจริญเติบโตแล้วจะทำให้เป็นแผลจุดกระจายทั่วผิวผล มักระบาดรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูฝน 

หากมีการระบาดของหนอนชอนใบ อาจทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ระบาดและแพร่กระจายไปทั่วทั้งแปลงปลูก และยังพบว่าปริมาณน้ำฝน มีผลต่อการระบาดของโรคแคงเกอร์ ซึ่งการป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ (85% WP) สามารถป้องกันกำจัดได้ดี

โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากระบาดรุนแรง ควรพ่นทุก 7 วัน หากระบาดไม่รุนแรง ควรพ่นสารอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันกำจัดหรือควบคุมไม่ให้มีโรคแคงเกอร์ระบาดในแปลง

อ้างอิง: การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ผลงานวิจัยดีเด่น กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2558

รายละเอียดเพิ่มเติม