Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร พันธุ์แท้ สุราษฎร์ฯ ราคาถูก วิธีปลูก ดูแล?

ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร พันธุ์แท้ ผลกลม เปลือกบาง เนื้อหนา แห้ง กรอบล่อนจากเมล็ด รสชาติหวาน หอม ขนสีแดง ปลายขนสีเขียว ประวัติ การปลูก ดูแลรักษา ให้น้ำ

เงาะโรงเรียนนาสาร

เงาะโรงเรียนนาสาร (Rongrien Nasan Rambutan) หมายถึง เงาะพันธุ์โรงเรียน ผลทรงกลมเปลือกบาง เนื้อหนา แห้ง กรอบล่อนจากเมล็ด รสชาติหวาน หอม 

ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร พันธุ์แท้ สุราษฎร์ฯ

ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเวียงสระ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของ เงาะโรงเรียนนาสาร 

  1. พันธุ์ : เงาะพันธุ์โรงเรียน
  2. ลักษณะทางกายภาพผล ทรงกลมเนื้อ สีขาว หนา แห้ง กรอบและล่อนออกจากเมล็ดเปลือก เปลือกบาง ขนบริเวณโคนมีสีแดง ปลายขนสีเขียวรสชาติ หวาน หอม

การผลิตเงาะโรงเรียนนาสาร

การปลูกต้นเงาะโรงเรียนนาสาร

  1. การเตรียมดิน ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ และขุดร่องระบายน้ำในแปลง
  2. ต้นพันธุ์เงาะโรงเรียนนาสาร ที่นำไปปลูกได้ ต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีระบบรากสมบูรณ์ รากไม่ขด เอียง หรืองอ
  3. ระยะปลูก ระหว่างต้น 8 - 10 เมตร ระหว่างแถว 8 - 10 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
  4. การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุม ขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกด้วยหินฟอสเฟต 2 กระป๋องนม พร้อมปุ๋ยคอกแห้ง 2 ปุ้งกี่ กลบลงในหลุมให้ระดับดินสูงกว่าระดับดินเดิม 20 - 25 เซนติเมตรหรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
  5. การปลูกต้นเงาะโรงเรียนนาสาร ให้ขุดหลุมเล็กๆ ตรงกลางหลุมใหญ่ แล้วเอากิ่งพันธุ์ดีลงปลูก กลบดินอย่าให้สูงกว่ารอยแผลที่ติดตา ใช้ไม้หลักปักแล้วผูกเชือกยึดกิ่งเพื่อป้องกันลม
  6. การให้น้ำ การให้น้ำแก่ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร ต้องมีความเพียงพอและเหมาะสมต่อระยะของการเจริญเติบโต ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
    • ระยะที่ 1 เงาะที่ยังไม่ให้ผลผลิต ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2 - 3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ชนิดดินและปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
    • ระยะที่ 2 เงาะที่ให้ผลผลิตแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ
      1. ระยะก่อนออกดอก เพื่อให้มีการสร้างตาดอก ควรงดการให้น้ำต่อเนื่องกัน 15 - 25 วันขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพภูมิอากาศ หลังจากนั้นควรให้น้ำบ้าง เพื่อไม่ให้ใบร่วงและไม่ควรให้น้ำมากเกินไปในระยะนี้จะทำให้เงาะแตกใบอ่อน
      2. ระยะดอกบาน ควรลดปริมาณการให้น้ำ เพื่อช่วยให้ติดผลดีขึ้น เมื่อติดผลแล้ว ค่อยๆเพิ่มปริมาณการให้น้ำ จนถึงระดับปกติ
      3. ระยะของการติดผล ระยะนี้ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำ ผลจะไม่โต และอย่าให้ขาดน้ำ หรือให้น้ำมาก เพราะจะทำให้เปลือกผลแตกและผลร่วง 

การติดผลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

เมื่ออายุ 3 ปี - 3 ปีครึ่ง ก็จะเริ่มให้ผลผลิต การเก็บเกี่ยวใช้กรรไกรตัดช่อผล ซึ่งมีตาข่าย (salan) วางไว้บริเวณรอบโคนต้น เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตเสียหายหรือบอบช้ำจากการกระแทกพื้นและไม่มีสิ่งสกปรก นำผลผลิตไปตัดแยกเกรด ซึ่งผลผลิตของเงาะพันธุ์เงาะโรงเรียนนาสารจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกๆ ปี

การดูแลรักษาหลังการเก็บเกี่ยว

หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ควรจัดเก็บวัสดุและเศษไม้ต่างๆ ออกจากสวน พร้อมกับตัดแต่งกิ่งที่แตกหัก กิ่งที่เป็นโรค และกิ่งที่ไม่ต้องการออก ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 15 – 15 – 15 เป็นต้น อัตราการใส่ปุ๋ย 1 - 2 กิโลกรัมต่อต้น แล้วรดน้ำให้มีความชื้นพอเหมาะ

การบรรจุหีบห่อ

  1. "เงาะโรงเรียนนาสาร หรือ Rongrien Nasan Rambutan"
  2. ให้ระบุชื่อ และที่อยู่ผู้ผลิต/จำหน่าย วันที่ผลิต วันหมดอายุ และวิธีเก็บรักษา

ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเวียงสระ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำตาปี คลองฉวาง คลองสระ คลองท่าทอง และคลองลำพูน ดินเกิดจากตะกอนของน้ำที่มาทับถมอยู่บนตะพักลำน้ำหรือสันดินริมน้ำ ระบายน้ำดี มีธาตุยิปซั่มและแมกนีเซียมอยู่ในดินปริมาณมาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเคยเป็นเหมืองแร่มาก่อน ความอุดมสมบูรณ์ของดินเหมาะแก่การปลูกเงาะมาก

สภาพอากาศ ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฤดูฝนยาวนาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนมกราคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75 - 80 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500 – 2,000 มิลลิเมตรต่อปีด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้เงาะโรงเรียนที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าว มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ

ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร พันธุ์แท้ สุราษฎร์

ประวัติความเป็นมาของเงาะโรงเรียนนาสาร

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 นายเคหว่อง ชาวปีนัง ได้เดินทางมาทำกิจการเหมืองแร่ดีบุก ที่อำเภอบ้านนาสาร โดยพักอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ และได้นำเงาะพันธุ์เจ๊ะมงซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของปีนัง (เจาะพันธุ์เจ๊ะมง ผลใหญ่ ลักษณะทรงรี เปลือกหนา ผลสีแดงเข้ม ไม่หวาน) มารับประทานแล้วได้ทิ้งเมล็ดไว้ ด้วยเหตุของดินที่ดีและมีความชุ่มชื้นอุณหภูมิพอเหมาะทำให้เมล็ดที่ถูกทิ้งไว้งอกขึ้นมาประมาณ 3 ต้น 

ประมาณ พ.ศ.2500 - 2501 เมื่อนายเคหว่องเลิกกิจการเหมืองแร่ ได้ขายบ้านพักพร้อมที่ดินให้กับทางราชการ ตั้งเป็นโรงเรียน ชื่อโรงเรียน "นาสาร" โดยมีครูแย้ม พวงทิพย์เป็นครูใหญ่ ต้นเงาะทั้ง 3 ต้นได้เจริญงอกงาม และได้ออกดอกติดผล มีอยู่วันหนึ่งผลของเงาะมีรสชาติหวานกรอบอร่อย ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์เดิม จึงนำไปให้กับชาวนาสารปลูกจนเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอบ้านนาสาร และขยายพันธุ์ไปจังหวัดต่างๆ โดยตั้งชื่อตามแหล่งกำเนิด คือโรงเรียนนาสาร จึงใช้ชื่อว่า "เงาะโรงเรียนนาสาร"

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัช อุตตมางกูร ผู้นำชาวสวนเงาะ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลเงาะโรงเรียน และขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้ใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า "ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว" ตั้งแต่นั้นมา เงาะพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า เงาะโรงเรียนอย่างเป็นทางการ จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดงานวันเงาะโรงเรียน ขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคมของทุกปี และมีการทำขวัญเงาะโรงเรียนนาสาร "เงาะโรงเรียนนาสาร" เป็นเงาะที่หวานกรอบ ผลสีแดงเข้ม ปลายขนสีเขียว เป็นเงาะโรงเรียนอร่อยที่สุดหนึ่งในผลไม้โปรดของหลายๆคน

ขอบเขตที่ตั้งแหล่งภูมิศาสตร์

ขอบเขตการปลูกและผลิตเงาะโรงเรียนนาสาร ครอบคลุมเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเวียงสระ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

การพิสูจน์แหล่งกำเนิด

  1. เงาะโรงเรียนนาสาร ต้องปลูกในเขตพื้นที่ที่กำหนด และตามกระบวนการผลิตข้างต้น
  2. กระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบ คือ มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิตเงาะโรงเรียนนาสาร รวมทั้งต้องมีเอกสารกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้

เงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 15

  1. จัดให้มีระบบการตรวจสอบและควบคุม ทั้งกระบวนการผลิตในระดับผู้ผลิตและระดับจังหวัด
  2. จัดให้มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า ที่ประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เงาะโรงเรียนนาสาร
  3. ผู้ขอขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า จะต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เงาะโรงเรียนนาสาร
อ้างอิง : ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่มที่ 35 เลขที่ประกาศ 117 กระทรวงพาณิชย์ วันที่ประกาศโฆษณา 28 มีนาคม 2561

รายละเอียดเพิ่มเติม