✓ทำสวน: อันตรายจากความเป็นพิษ ผลเสียจากสารกำจัดแมลง?

สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิดเปรียบเหมือนดาบ 2 คม ด้านหนึ่งจะป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป้าหมาย และอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์ รวมถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วย 

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชดังกล่าว ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นพิษและอันตรายที่จะเกิดขึ้น ให้ชัดเจนก่อนการใช้งาน

อันตราย! สารกำจัดแมลงศัตรูพืช

1. ความเป็นพิษของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

พิษ-ผลเสีย-อันตรายของสารกำจัดศัตรูพืช

พิษ หรือ ความเป็นพิษ หมายถึง ความสามารถของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดนั้น ๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บต่อเป้าหมาย ถ้าสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นมีพิษสูง อันตรายที่บุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้รับก็มีสูงด้วย 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ความเป็นพิษนี้ ตรวจวัดด้วยค่า LD50 (โดย LD50 หมายถึงปริมาณสารเคมีบริสุทธิ์ที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50 เปอร์เซ็นต์ มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักของสัตว์ทดลอง

พิษของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายคน ค่า LD50 อาจแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นเข้าสู่ร่างกาย และชนิดของสูตรสำเร็จของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้น ๆ

2. ชนิดของความเป็นพิษของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

 ความเป็นพิษของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

  • 2.1 พิษเฉียบพลัน (acute toxicity) เมื่อได้รับพิษจะแสดงอาการทันที แม้จะรับพิษเพียงครั้งเดียว ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การรับหรือสัมผัสกับวัตถุอันตรายในปริมาณมากอย่างกระทันหัน เช่น สารเคมีกรด เป็นต้น
  • 2.2 พิษเรื้อรัง (chronic toxicity) เป็นการรับพิษครั้งละไม่มาก เป็นระยะเวลานาน และได้รับหลายครั้งจึงจะแสดงอาการ

3. ผลเสียของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

ผลเสียที่เกิดขึ้นจากสารพิษนั้นมีมากมาย ได้แก่ สารพิษอาจตกค้างอยู่ในผลผลิต ในสิ่งแวดล้อม เช่น ตกค้างในดิน ตามแหล่งน้ำ ซึ่งจะหมุนเวียนกลับมาสู่พืชที่เป็นอาหารของคนได้ ดังนั้น จึงควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และการใช้แต่ละครั้งต้องใช้อย่างเหมาะสมด้วย ผลเสียที่เกิดจากสารพิษ แบ่งออกเป็นกลุ่ม ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

3.1 ผลเสียต่อสุขภาพ 

การได้รับสารพิษบ่อยครั้งและติดต่อกันเป็นเวลานาน สารพิษอาจสะสมในร่างกายจนถึงปริมาณที่เป็นพิษ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรม เกิดการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ 

นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อมเช่นกัน ได้แก่ จะให้ร่างกายต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บได้น้อยลง ถ้าหากได้รับพิษในปริมาณที่สูง ร่างกายจะแสดงอาการจากการที่ได้รับสารพิษชัดเจนภายในเวลาไม่นาน เช่น อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง

ในผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสด จะมีสารพิษตกค้างมาก เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า เป็นต้น เมื่อบริโภคสารพิษจะเข้าสู่ร่างกายและสะสม ดังนั้น ก่อนบริโภค ควรล้างก่อน การล้างด้วยน้ำไหลนาน 2 นาที จะลดปริมาณสารพิษได้ประมาณ 54-63 เปอร์เซ็นต์

3.2 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ถ้ามีสารพิษสะสมในดินหรือแหล่งน้ำในปริมาณสูง จะทำให้สิ่งมีชีวิตในดิน หรือในแหล่งน้ำตาย เช่น ไส้เดือน ปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของคน ถ้าสารพิษที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากมาย

เกษตรกรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเพื่อฆ่าแมลง เมื่อนกกินแมลงนกก็จะตายด้วย หรือถ้าสารพิษสะสมในแหล่งน้ำ ปลาที่อาศัยอยู่จะได้รับสารพิษด้วย ถ้าคนจับปลาจากแหล่งน้ำนั้นมาบริโภค คนก็จะได้รับสารพิษด้วยเช่นกัน สารพิษจะสะสมในร่างกายคนมากขึ้น จนในที่สุดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

3.3 ผลเสียต่อเศรษฐกิจ 

พิจารณาเบื้องต้นง่ายๆ ถ้าสินค้าเกษตรที่ส่งขายมีปริมาณสารพิษสูงเกินค่ามาตรฐาน คงไม่มีใครอยากซื้อสินค้านั้นไปบริโภคแน่นอน การส่งสินค้าออกต้องหยุดชะงัก ทำให้รายได้ลดลงก็จะเกิดความเสียหายต่อเกษตรกรและต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เป็นต้น

ถ้าพิจารณาด้านสุขอนามัยของเกษตรกร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เมื่อได้รับพิษและแสดงอาการเจ็บป่วย จำเป็นต้องทำการรักษาพยาบาล ซึ่งต้องเสียค่ารักษามากมายกว่าจะหายจากอาการป่วย แม้จะรักษาหายแล้ว บางกรณีก็ยังมีอาการแพ้สารพิษเป็นประจำ

4. อันตรายของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 

อันตราย หมายถึง การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช อันตรายที่เกิดขึ้นนั้นจะรุนแรงมากน้อย ระดับใดขึ้นกับปัจจัยหลายประการด้วยกัน ได้แก่ หนทางที่สารพิษเข้าสู่ร่างกาย (ทางการหายใจ ทางผิวหนัง และทางปาก) อัตราการใช้ ความถี่ในการใช้ ระยะเวลาที่ใช้ และสูตรสำเร็จของสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช 

สำหรับการจัดแบ่งความเป็นพิษของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช องค์การอนามัยโลกได้กำหนดระบบการจัดระดับ ความเป็นพิษของสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรไว้เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยอาศัยข้อมูลจากอันตรายที่เกิดขึ้นต่อคนหรือ สัตว์ทดลองเมื่อได้รับหรือสัมผัสกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช องค์การอนามัยโลกได้แบ่งระดับความเป็นพิษออกเป็น 4 กลุ่ม คือ พิษร้ายแรงมาก, พิษร้ายแรง, พิษปานกลาง และ พิษน้อย

อ้างอิง: ที่มา: สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์ ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา และพฤทธิชาติ ปุญวัฒโท. 2563 เอกสารวิชาการ คำแนะนำการป้องกันแมลง-สัตว์ศัตรูพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากงานวิจัย. กลุ่มบริหารศัตรูพืช/กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร. 230 หน้า.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

✓ศัตรูพืช: หนอนกระทู้ผัก ลักษณะ การป้องกัน วิธีกำจัดหนอน?

ต้นจำปาทอง (จำปาป่า) จำปาบ้าน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีปลูก การดูแลและขยายพันธุ์?

✓ทำสวน: มือใหม่หัดปลูกแคคตัส วิธีเลี้ยง ดูแล ต้นกระบองเพชร?

คำว่า 'พันธุ์พืช' คืออะไร พันธุ์พืชประเภทต่าง ๆ มีพันธุ์อะไรบ้าง?

การแบ่งประเภท(ตัวย่อ) สูตรผสม สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช รูปแบบของกลุ่มสารผสม?

ต้นเงาะโรงเรียนนาสาร พันธุ์แท้ สุราษฎร์ฯ ราคาถูก วิธีปลูก ดูแล?

✓การใช้ประโยชน์ จากการปลูกพรรณไม้ดอกหอม ชนิดต่างๆ?

ต้นกันเกรา ความหมาย ประโยชน์ ไม้มงคลปลูกในบ้าน สรรพคุณทางสมุนไพร ราคาถูก?