Lazada Flash Sale

โปรฟ้าผ่า!! รับซัมเมอร์

ลดแรงกว่า 90%* ช้อปเลย »

ต้นนาวน้ำ (หัวชุม, นมงัว) ไม้เลื้อยดอกหอม สกุลการเวก ลักษณะ ออกดอกเดือนไหน?

ข้อมูลพรรณไม้ ต้นนาวน้ำ (หัวชุม,นมงัว) ชื่อวิทยาศาสตร์ ไม้ไทย ไม้เลื้อย ดอกไม้หอมแรง ไม้เลื้อยดอกหอม ลักษณะ ดอกนาวน้ำ ดอกไม้สีเหลือง ประโยชน์ สรรพคุณ ผลสุก รสหวานกินเป็นผลไม้

นาวน้ำ (หัวชุม,นมงัว)

"นาวน้ำ" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artabotrys spinosus Craib เป็นพรรณไม้ดอกหอมของไทยที่มีดอกส่งกลิ่นหอมเย็น หอมแรงในช่วงหัวค่ำ แบบดอกการเวก จึงสามารถปลูกเป็นไม้ประดับ หรือ ปลูกให้เลื้อยทำรั้ว เก็บดอกมาบูชาพระ ใช้ยอดอ่อนเป็นผักสดรสฝาดมัน กินแกล้มน้ำพริก ลาบ ก้อย ผลอ่อนรสเปรี้ยวอม ฝาดจิ้มเกลือ ผลสุก รสหวานกินเป็นผลไม้

นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์นาวน้ำ จากลักษณะเด่นของต้นนาวน้ำคือ มีเถาเนื้อเหนียว จึงสามารถใช้ทำโครงลอบ ไซ ได้ดี และต้นนาวน้ำยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร แก่นต้มน้ำดื่มรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

นาวน้ำ ไม้ดอกหอมของไทย ดอกบานสีเหลืองคล้ายดอกการเวก กลิ่นหอมแรง

นาวน้ำ เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่อยู่ในวงศ์กระดังงา Annonaceae มีชื่อท้องถิ่นอื่นอีกหลายชื่อ เช่น หัวชุม (อุบลราชธานี), เด๊าะกระไบย (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์), ลมงัว (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์), นมควาย ลำควาย นมงัว (นครราชสีมา, อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี), หำปู๋ (อ.กันทรารมย์ ศรีสะเกษ)

รายละเอียดเพิ่มเติม

ต้นนาวน้ำ มีถิ่นกำเนิด ขึ้นอาศัยตามชายป่าบุ่งป่าทาม หรือตามเกาะแก่งหรือตลิ่งริมแม่น้ำ ลำคลอง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 200 ม. การกระจายพันธุ์ พบทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างประเทศพบในลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของนาวน้ำ

ต้นนาวน้ำ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีความยาวได้ถึง 10 ม. กิ่งแก่และโคนลำต้นมีหนามยาว 2-3 ซม. กิ่งอ่อน ก้านใบและดอกมีขนสั้น ใกล้ปลายกิ่งมีตะขอ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ ยาว 5-12 ซม. ปลายใบกลม มน หรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมนหรือสอบ ผิวใบเรียบเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบข้างละ 7-10 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.

นาวน้ำ ไม้พุ่มรอเลื้อยของไทย ดอกบานสีเหลืองคล้ายดอกการเวก กลิ่นหอมแรง

ดอกนาวน้ำ ออกดอกเดี่ยวออกตามตะขอ ก้านดอกยาว 2-3 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 3 กลีบ รูปไข่ปลายแหลมและกระดกกลับ กลีบดอก 6 กลีบ สีเขียว เมื่อใกล้ร่วงเปลี่ยนเป็นดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงช่วงหัวค่ำ รูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 ซม. ดอกบานกว้าง 2.5-3 ซม. (คล้าย ดอกการเวก Artabotrys hexapetalus ที่ปลูกตามบ้าน แต่การเวกมีกลีบดอกยาว 3-4.5 ซม.) โคนกลีบคล้ายช้อนโอบรอบเกสร ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผลนาวน้ำ มีลักษณะเป็นรูปรี ยาว 2.5-3 ซม. ปลายแหลม โคนสอบไม่มีก้าน ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 5-10 ผล ผลอ่อนสีเขียวผิวเกลี้ยงมันเงา มีจุดประสีขาวจำนวนมาก เมื่อสุกเป็นสีเหลือง ผลแก่ช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม

การใช้ประโยชน์

  • ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร : ยอดอ่อนเป็นผักสดรสฝาดมัน กินแกล้มน้ำพริก ลาบ ก้อย; ผลอ่อนรสเปรี้ยวอมฝาดจิ้มเกลือ; ผลสุก รสหวานกินเป็นผลไม้
  • ใช้เป็นสมุนไพร : แก่นต้มน้ำดื่มรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน : เถาเนื้อเหนียวใช้ทำโครงลอบ ไซ, ไม้ทำฟืน
  • ใช้ประโยชน์อื่นๆ : ปลูกเป็นไม้ประดับ หรือปลูกให้เลื้อยทำแนวรั้ว ดอกส่งกลิ่นหอมเย็นแบบดอกการเวกช่วงหัวค่ำ เก็บมาบูชาพระ

อ้างอิง: หนังสือเผยแพร่; ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน โดย มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล, ศรันย์ จิระกร กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561

รายละเอียดเพิ่มเติม