✓ต้นไม้: โปร่งกิ่ว(ติดต่อ) สกุลบุหรง วงศ์กระดังงา ผลสุกกินได้?

"โปร่งกิ่ว" หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ติดต่อ" มีที่มาของชื่อจากลักษณะของผล เนื่องจากผลของโปร่งกิ่วจะมีรูปทรงกระบอก มีเมล็ดเรียงต่อกันและมีเปลือกหุ้มเป็นรอยหยักถี่ติดต่อกัน คนจึงนิยมเรียกกันว่า ติดต่อ นอกจากนี้ ยังมีชื่ออื่นเช่น เครืออีเกิง, โคยลิง เดือยไก่, ตีนไก่, จึงจ๊าบ เจิงจ๊าบ, เล็บไก่ ผลสุกสีแดง รสหวานอมเปรี้ยว กินเป็นผลไม้

โปร่งกิ่ว

โปร่งกิ่ว พรรณไม้พื้นเมืองของไทย ดอกสวยแปลกดี ผลสุกสีแดง รสหวาน กินได้

โปร่งกิ่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dasymaschalon lomentaceum Finet & Gagnep. วงศ์กระดังงา Annonaceae ถือเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยในสกุลบุหรง ที่มีขนาดของลำต้น เล็กที่สุด

รายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันก็มีดอกและผลขนาดเล็กที่สุด ในจำนวนพรรณไม้สกุลบุหรงที่มีอยู่ทั่วประเทศ 12 ชนิด

แต่ทั้งนี้โปร่งกิ่วไม่ได้เป็นพรรณไม้ที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย หรือค้นพบที่ประเทศไทยเป็นที่แรก ตัวอย่างแห้งต้นแบบโปร่งกิ่วครั้งแรกเก็บมาได้จากเขมร ในปี 2413 โดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Pierre ขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง

ส่วนในประเทศไทย เนื่องจากโปร่งกิ่วชอบสภาพของดินทราย ถิ่นอาศัย ขึ้นตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 350 ม. จึงพบขึ้นอยู่ในดินทรายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังพบในภาคตะวันตกเฉียงใต้อีกแห่งหนึ่ง ที่อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินทรายเช่นกัน ต่างประเทศพบในลาวตอนใต้ และกัมพูชา

โปร่งกิ่วเป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาที่มีทรงพุ่มแน่น มีใบเล็กหนา ไม่ร่วงง่าย อีกทั้งออกดอกและติดผลตลอดปี จึงได้รับความนิยมปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่ม

ซึ่งมีวิธีการปลูกง่ายๆ เหมือนกับพืชทั่วไป คือต้องขุดหลุมให้กว้างและลึก 30 ซม. หากใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุม ก็จะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น

และเนื่องจากโปร่งกิ่วมีทรงพุ่มแน่น เมื่อเวลาลมแรงจึงมีโอกาสทำให้ทรงพุ่มเอียงล้มได้ง่าย การปักหลักและปลูกยึดลำต้นให้ตั้งตรง จึงมีส่วนสำคัญต่อการปลูกและบำรุงรักษา

ข้อดีอีกอย่างของโปร่งกิ่วคือเป็นพรรณไม้เรียกนก เนื่องจากมีผลดก เมื่อเวลาผลสุกมีสีแดงเข้ม รสหวาน จึงสามารถเรียกนกมากินได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ปลูกโปร่งกิ่วในบริเวณบ้าน จึงมักได้ยินเสียงขับขานของนกขณะมากินผลแก่

ส่วนคนก็สามารถรับประทานผลสุกของโปร่งกิ่วเป็นผลไม้ได้ด้วย นอกจากนี้ในตำราสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ยังมีการใช้ส่วนของรากเข้าตำรับยา โดยมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือเคล็ดขัดยอก

โปร่งกิ่ว พรรณไม้พื้นเมืองของไทย ดอกสวยแปลกดี ผลสุกสีแดง รสหวาน กินได้

ลักษณะลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโปร่งกิ่ว

ต้นโปร่งกิ่ว มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงเพียง 1-2 ม. แตกกิ่งจำนวนมาก กิ่งอ่อน ก้านใบ ช่อดอก และดอกมีขนสีน้ำตาลแดง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมดำ กิ่งอ่อนสีเขียว มีช่องอากาศสีขาวเป็นจุดๆ เนื้อไม้เหนียว

ใบเดี่ยว ใบรูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 6-10 ซม. โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ปลายใบเรียวทู่ ผิวใบด้านบนเป็นมันเรียบ สีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวลสีฟ้าอมขาว เนื้อใบหนา เส้นแขนงข้างละ 7-9 เส้น ปลายเส้นไม่โคงจรดกัน ก้านใบยาว 2.5-5 มม.

ดอกโปร่งกิ่ว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกอ่อนสีขาวอมเขียว ดอกบานสีเหลือง กลีบดอกติดกันเป็นกรวย ยาว 2-3 ซม. โคนดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7-1 ซม. ปลายกรวยมน 

กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน มี 3 กลีบ กลีบดอกสีครีมอมเหลืองอมชมพู มี 3 กลีบ มีขนประปราย กลีบเนื้อหนาแนบติดกันรูปกรวยแหลม ยาว 1.5-2 ซม. ไม่บิดเป็นเกลียว และบานออกเพียงเล็กน้อย ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม

ผล(ฝัก)ออกเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อยจำนวน 7-12 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอก มีรอยคอด 2-4 ข้อ กว้าง 6 มม. ยาว 2-2.5 ซม. ปลายหยักเป็นติ่งสั้น มีขนประปราย ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 4-10 ผล ก้านช่อผลยาว 3-8 มม.

มีเมล็ด 2-5 เมล็ด เรียงชิดติดกัน เปลือกผลคอดถี่ตามรูปเมล็ด ผลอ่อนสีเขียวอมขาว ผลแก่สุกสีแดง ลักษณะเมล็ด กลม สีขาว ขนาดเมล็ด 5-7 มม. ผลแก่ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม มีการใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ผลสุกสีแดง รสหวานอมเปรี้ยว กินเป็นผลไม้

การขยายพันธุ์โปร่งกิ่ว สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด

อ้างอิง

  1. หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2552
  2. หนังสือเผยแพร่; ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน โดย มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล, ศรันย์ จิระกร กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561